สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี เป็นพระราชธิดาพระองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี (พระนามเดิม คือ เครือแก้ว อภัยวงศ์ ธิดาพระยาอภัยภูเบศร) ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามนเทียร พระบรมมหาราชวัง ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 นั้น เสด็จสวรรคต ทรงทราบว่าจะมีพระสูติกาลพระหน่อในอนาคต พระองค์มีพระราชหฤทัยโสมนัสเป็นอย่างยิ่ง ทรงเตรียมการรับประสูติกาลเป็นอเนกปริยาย โดยทรงปรับปรุงพระราชนิพนธ์ละครรำเรื่องพระเกียรติรถ ตอนที่ 1 ให้เป็นละครดึกดำบรรพ์ เพื่อที่จะได้ทรงจัดแสดงในพระราชพิธีสมโภชเดือนของพระหน่อ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตก่อนเวลาอันควร อย่างไม่คาดคิดกันมาก่อน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งเสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เป็นรัชกาลที่ 7 จึงทรงรับเป็นพระราชภาระในการดูแล ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลือกพระนามจากการคิดพระนามพระราชทานไว้ 3 พระนาม คือ
- สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชอรสา สิริโสภาพัณณวดี
- สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนจุฬิน สิริโสภิณพัณณวดี
- สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาวัณณวดี
และ ทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกคำนำพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ" เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ตามพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ซึ่งหมายความว่า หลานที่เป็นลูกของพี่ชาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปลี่ยนคำนำพระนามใหม่ว่า "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ"ดังเดิม เพราะคำว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอแปลได้ความทั้งพระเจ้าพี่นางเธอ และพระเจ้าน้องนางเธอ
เมื่อทรงเจริญวัย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จไปทรงพระอักษร ณ โรงเรียนราชินี เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2476 ซึ่งโรงเรียนราชินีขณะนั้นมีหม่อมเจ้าพิจิตรจิราภา เทวกุล ทรงเป็นอาจารย์ใหญ่ และเป็นพระอาจารย์ผู้ทรงดูแลการทรงพระอักษรของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังถวายพระอักษรพิเศษในช่วงเย็นด้วย ในปี 2476 ทรงลาออกจากโรงเรียนราชินีขณะทรงพระอักษรในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อทรงพระอักษรต่อ ณ สวนรื่นฤดี โดยพระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี ทรงจ้างมิสซิสเดวีส์ อดีตครูโรงเรียนวัฒนาวิทยา มาถวายพระอักษรวิชาภาษาอังกฤษ และวิชาคำนวน และหม่อมเจ้าเสมอภา โสณกุล ถวายพระอักษรวิชาวรรณคดีไทย รวมทั้งพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีพระอาจารย์จากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย มาถวายพระอักษรวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ และมีการสอบไล่ทุกปลายปี ตลอดจนทรงเรียนเปียโนกับมิสซิสเซดี้ อีกด้วย
เ นื่องจากพระพลานามัยไม่สมบูรณ์ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงมีพระราชดำริให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จไปประทับพักผ่อนพระอริยาบท และรักษาประองค์ ณ ต่างประเทศ เมื่อปี 2477 โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าธานีนิวัต กรมหมื่นพิทยลาภพฤฒิยากร นำเสด็จ โดยเริ่มจากที่ประเทศอินโดนีเซียก่อน และต่อมาได้เสด็จไปยังประเทศอังกฤษ ขณะประทับ ณ ตำหนักถนนหลุยส์ เครสเชนต์ ได้ทรงพระอักษรด้านไวยกรณ์ และวรรณคดีภาษาอังกฤษกับมิสซีสเซฟเฟอร์ และยังทรงเรียนเปียโนกับพระอาจารย์ชาวอังกฤษด้วย โดยทรงพระปรีชาสามารถในการทางเปียโนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ยังโปรดการลีลาศ ขับร้องเพลงไทย และสากล สำหรับการทรงงานอดิเรกโปรดการถักนิตติ้งและโครเชต์ อีกทั้งโปรดการปลูกดอกไม้ประดับต่าง ๆ
เมื่อพระพลานามัยดีขึ้น และสภาวการณ์ในประเทศเป็นปกติสุขเรียบร้อย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางสุวัทนาพระวรราชเทวี จึงเสด็จกลับมาประทับ ณ ประเทศไทยเป็นการถาวร เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2502 และได้ประทับ ณ วังรื่นฤดี สุขุมวิท 38
โดยทรง ปฏิบัติพระภารกิจต่าง ๆ ทั้งงานส่วนพระองค์ และในฐานะผู้แทนพระองค์บางโอกาสที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ถึงแม้ว่าพระพลานามัยจะไม่สู้แข็งแรงมากนักก็ตาม แต่ถึงอย่างไรก็เป็นที่ประจักรษ์แก่ผู้ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าโดยทั่วไปว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี มีพระจิริยวัตรที่งดงาม มีพระวาจาสุภาพนุ่มนวล ทรงวางพระองค์อย่างเหมาะสม ไม่ถือพระองค์ ทั้งมีพระทัยที่เปี่ยมด้วยพระเมตตา
และวานนี้ (27 ก.ค.54) เวลา 20.00 น. สำนักพระราชวังได้ออกประกาศสำนักพระราชวัง เรื่อง สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี สิ้นพระชนม์ จากพระอาการติดเชื้อในกระแสพระโลหิต แม้คณะแพทย์ได้ถวายการรักษาอย่างใกล้ชิดจนสุดความสามารถ พระอาการประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ และสิ้นพระชนม์ เมื่อเวลา 16 นาฬิกา 37 นาที วันที่ 27 กรกฎาคม 2554 รวมพระชันษา 85 ปี ณ โรงพยาบาลศิริราช
พระประวัติ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี
ขอบคุณ ครอบครัวข่าว 3 / ไทยซ่า
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!