จุดยืนแห่งชีวิต( Life Position)


จุดยืนแห่งชีวิต( Life Position)



จุดยืนหรือทัศนชีวิต หมายถึง ความรู้สึกหรือจิตใจของบุคคลมีทั้งดีและไม่ดีที่มีต่อตนเอง และผู้อื่น ซึ่งได้รับมาจาก ประสบการณ์รอบตัวในวัยเด็ก  แฮริส (Harris) เชื่อว่าเด็กได้บันทึกภาวะนี้เมื่ออายุ  2  ขวบ  และยึดถือเป็นทัศนะประจำตัวของเขาไปตลอดชีวิต  จุดยืนแห่งชีวิตมี 4 แบบคือ



  • ฉันดี-คุณดี ( I’m OK -You’re OK)
  • ฉันดี-คุณด้อย ( I’m OK -You’re not OK)
  • ฉันด้อย-คุณดี ( I’m not OK -You’re OK)
  • ฉันด้อย-คุณด้อย ( I ‘m not  OK -You’re not OK)

ฉันดี-คุณดี ( I’m OK -You’re OK)


          เป็นจุดยืนของผู้ชนะ (Winner) หมายถึง การพูดหรือแสดงออกมาครั้งใด   จะทำให้ผู้อื่นและตนเองมีความสุข  เป็นทัศนะแห่งความสร้างสรรค์  เช่นคำพูดที่ว่า


            “ซื้อชุดมาใหม่หรือคะ  สวยมากเลยนะโดยเฉพาะกับคุณสวมแล้วดูงามสง่า”


           บุคคลที่มีทัศนะนี้จะเจริญมาจากการเลี้ยงดูมาและสภาพแวดล้อมที่ได้รับความเอาใจใส่ทางบวก  เมื่อเขาทำผิดพลาดจะไม่รู้สึกเสียกำลังใจ  จะแก้ไขใหม่ให้ดีได้  โดยอยู่บนเหตุผลและตระหนักรู้ว่า  “ฉันผิดไปแล้วก็จริง  แต่ก็ไม่เห็นเป็นอะไร  ไม่มีอะไรในโลกนี้สายเกินไปที่จะเรียนรู้และแก้ไข”


ฉันดี-คุณด้อย ( I’m OK -You’re not OK)


       เป็นจุดยืนของผู้ขจัด (Sulk) หมายถึง การพูดหรือแสดงออกให้เห็นว่าตนเองอยู่เหนือกว่า  ดี  และถูกต้องเสมอ  ทำให้ผู้อื่นต่ำต้อย  เกิดความไม่สบายใจไร้ค่า เช่นคำพูดที่ว่า


             “ซื้อชุดมาใหม่หรือผ่อนจากบัตรเครดิตละซี  ระวังเถอะเดือนไหนไม่มีผ่อนเขาจะมายึดเสื้อคืน”   


            ทัศนะนี้เกิดจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ได้รับการกระทบกระเทือนทั้งทางกายและใจ  ถูกทอดทิ้ง  ถูกทารุณทำร้ายจากคนใกล้ชิด  ได้รับความเอาใจใส่ทางลบ  ถูกดุด่า  ตำหนิ   จึงทำให้ไม่แยแสหรือสนใจกับ เหตุการณ์ใดๆ เพราะคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาก่อนจะเกิดอีกจึงไม่มีความวิตก และมองว่า  สิ่งที่ตนทำทั้งหมดถูกต้อง  คนอื่นเท่านั้นที่ทำผิด  เพราะเขาต้องดิ้นรนต่อสู้เพื่อการได้มาซึ่งสิ่งที่เขามุ่งหวังมาตลอดเวลานั่นเอง


ฉันด้อย-คุณดี ( I’m not OK -You’re OK)


           เป็นจุดยืนของผู้หลีกหนี (Jerk) เป็นการแสดงออกหรือพูดอย่างต่ำต้อยด้อยค่า เป็นฝ่ายผิด ฟังดูเหมือนถ่อมตัว  เช่นคำพูดที่ว่า


            “ซื้อชุดมาใหม่หรือคะ สวยมากเลย เหมาะกับคุณจัง  ถ้าคนอ้วนอย่างฉันใส่คงดูน่าเกลียดพิลึก”


ทัศนะนี้เกิดจากวัยเด็กได้รับการช่วยเหลือจากบุคคลอื่นตลอดเวลา  จึงคิดว่าคนอื่นนั่นแหละดี  และตนไม่ดีไร้ความสามารถ บุคคลจะจดจำคำพูดจากบุคคลรอบข้าง ทำให้เกิดความรู้สึกท้อแท้  เช่น  “เธอนี่ขี้เกียจเหมือนพ่อ”  “เธอนี่ใจดำจริง ๆ”  และถ้าเขาไม่ได้เป็นเช่นนั้นมาก่อนเขาก็จะเป็นจริงในที่สุด  แต่อย่างไรก็ตามทัศนะดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ถ้าข้อมูลที่เขารับในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากข้อมูลในวัยเด็ก  ซึ่งเป็นได้ทั้งในทางดีหรือไม่ดี  และถ้าเป็นในทิศทางที่ไม่ดีจะทำให้เกิดจุดยืนแห่งชีวิตใหม่ขึ้นมา คือ ฉันด้อย – คุณด้อย


ฉันด้อย-คุณด้อย ( I’m not  OK -You’re not OK)


        เป็นจุดยืนแห่งชีวิตของผู้แพ้ (Loser) บุคคลจะพูดหรือแสดงออกมาโดยทำให้ทั้งตัวเองและคนรอบข้างรู้สึกไม่ดี ผู้พูดจะเป็นบุคคลที่มองโลกในแง่ร้าย เป็นคนไม่มีความสุข เช่นคำพูดที่ว่า


           “ซื้อชุดใหม่ไม่ได้ละซิ บัตรเครดิตหมดงบใช่มั้ย ฉันนะอย่าว่าแต่ซื้อด้วยบัตรเครดิตเลย  แม้แต่ตัวบัตรยังไม่เคยมีด้วยซ้ำ” 


         ทัศนะนี้เกิดจากการที่บุคคลสูญเสียความเอาใจใส่ที่เขาไม่ได้รับมาอย่างต่อเนื่อง  เลยสรุปว่าคนอื่นก็เป็นเช่นเขา  จึงเกิดความผิดหวัง ท้อแท้ ไร้ที่พึ่ง  อะไร ๆ  ก็ไม่ดีไปเสียทุกอย่าง  ไม่มีใครช่วยเขาได้  และทุกคนก็ไม่ดีเช่นเขาเหมือนกัน


           จุดยืนแห่งชีวิตทั้ง  4  แบบ  บุคคลจะยึดถือจุดยืนใดจุดยืนหนึ่งเป็นของตนเอง  ตามประสบการณ์ที่ได้รับมา  และถ้าบุคคลได้ตระหนักในจุดยืนของตนเองแล้ว  และรู้ว่าไม่เป็นที่พึงปรารถนาหรือส่งผลดีใด ๆ  จึงควรจะปรับให้อยู่บนจุดยืนที่ว่า  ฉันดี – คุณดี  เพราะทำให้เกิดคุณค่าทั้งตนเองและผู้อื่น  จุดยืนนี้ทำให้บุคคลเป็นคนเปิดเผย  ชอบให้กำลังใจผู้อื่น  ทำงานเป็นกลุ่มดี เป็นใคร…ใคร คนไหนก็ดีทั้งนั้น


จุดยืนแห่งชีวิต( Life Position)



เกณฑ์การเป็นผู้ชนะของ James and Jongeward


      ในโลกแห่งความเป็นจริง  ทุกคนจะเป็นทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ  ดังนั้นถ้าต้องการเป็นผู้ชนะทั้งกาย  วาจา  ใจ  จึงควรพิจารณาเกณฑ์  ดังนี้



  1. แสดงพฤติกรรม ยกย่องชมเชยผู้อื่น 

  2. ตอบและขานรับพฤติกรรมผู้อื่นอย่างจริงใจในทุกสถานการณ์

  3. กล้าแสดงความคิดเห็นของตนและกล้าทำตามความคิดนั้น

  4. ไม่ตำหนิผู้อื่นในทุก ๆ เรื่อง เพราะเขาจะเกิดความไม่มั่นใจในตนเอง

  5. เป็นผู้ยอมรับความจริง ซื่อสัตย์ และเปิดเผยซึ่งกันและกัน

  6. เป็นผู้มีความสุขอยู่กับปัจจุบัน นำการกระทำในอดีตเป็นครู และมองไปข้างหน้าด้วยอนาคต

  7. เป็นผู้มีความสุขกับสิ่งที่ตนมีตนได้รับ และสามารถสร้างความสุขให้เกิดขึ้นตลอดเวลา โดยไม่ต้องพึ่งผู้อื่น

  8. เป็นผู้มีสติสัมปชัญญะเรียนรู้ถึงความรู้สึกต่าง ๆ ของตนเอง ว่ามีความรู้ความสามารถมากแค่ไหน

  9. เป็นผู้มองเห็นคุณค่าของผู้อื่นตลอดเวลา

  10. ผู้ชนะ 100 % นั้นมีไม่มากแต่มีระดับต่างกัน

          คุณธรรม 10 ประการดังกล่าวข้างต้น  อาจกล่าวได้ว่า  ทฤษฎี  TA  สามารถสร้างคนให้มีความรู้เรื่องจิตใจ   และกลายเป็นผู้ชนะได้ด้วยการขจัดความคิด ความรู้สึกที่ไม่ดีของตนออกไป  และดำเนินชีวิตอย่างมีสติสัมปชัญญะ  ทำให้เกิดความสุขทั้งชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว


*หมายเหตุ  ช่วยมีวิจารณญาณ ในการรับชมด้วย You’ re OK Champ ?


ขอบคุณที่มา  ::  romravin.wordpress.com


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์