เสียงจากการนอนกัดฟันเป็นศัตรูตัวร้ายของการนอน คนกัดฟันมักไม่รู้ตัวเองแต่คนที่รู้คือคนข้างๆ ไม่ข้างตัวก็ข้างห้อง ที่ต้องทรมานกับการนอนไม่หลับเพราะเสียงกัดฟันของคนอื่น
"ควบคุมตัวเองไม่ได้ก็มันหลับไปแล้วนี่ครับ" จริงอย่างเขาว่า บางคนรู้ตัวว่านอนกัดฟันจึงพยายามหาทางแก้ไข ไปซื้อฟันยางสำหรับนักมวยมาใส่ก็แล้ว แต่ไม่สามารถหยุดยั้งการกัดฟันได้ ดีอยู่หน่อยที่เสียงเบาลง พอใช้ไปได้ไม่นานฟันยางทะลุ ก็เลยเลิกใช้ไป
บางคนนอนกัดฟันจนฟันแตกร้าวถึงประสาทและรากฟัน สุดท้ายต้องถอนฟันทิ้งในที่สุด ผลของการนอนกัดฟันไม่เพียงรบกวนผู้อื่น หรือทำให้ฟันแตกร้าวเท่านั้น แต่เจ้าตัวที่นอนกัดฟันยังต้องทรมานกับอาการข้างเคียงอื่นๆ ด้วย เช่น เสียวฟัน ฟันสึกร้าว แตกบิ่น วัสดุที่อุดไว้หลุดบ่อยๆ หรือแตก ทั้งหมดเป็นสาเหตุของฟันผุหากไม่รักษาความสะอาดของฟันให้ดีพอ บางรายที่รุนแรงและเป็นมานานอาจเห็นกล้ามเนื้อข้างแก้มโตขึ้น บางรายมีอาการปวดเมื่อยบริเวณข้างแก้ม ขมับ หน้าหู หรือปวดศีรษะเลยก็มี
แล้วการนอนกัดฟันเกิดขึ้นได้อย่างไร และมีวิธีการรักษาอย่างไรได้บ้าง
การศึกษาสาเหตุของการนอนกัดฟันจะมีมานานแต่ก็ไม่มีข้อสรุป นักวิจัยหลายกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่า การนอนกัดฟันมีความสัมพันธ์กับการซ้อนเก สูงต่ำของฟัน อาจเป็นไปได้ว่าขณะนอนหลับการทำงานนอกอำนาจจิตสั่งให้ร่างกายพยายามบดถูให้ฟันซี่ที่สูงกว่าเตี้ยลงเสมอกับฟันซี่อื่นๆ แต่บางกลุ่มเชื่อว่าความเครียดมีอิทธิพลโดยตรงกับการนอนกัดฟัน วันไหนที่มีเรื่องวิตกกังวลมีความเครียดสะสม ร่างกายพยายามระบายความเครียดด้วยการนอนกัดฟัน บางกลุ่มตั้งข้อสังเกตว่าการนอนกัดฟันมักจะเกิดในช่วงที่นอนหลับไม่สนิท หรือนอนหลับลึกไม่พอ ฝันบ่อยๆ ไม่มีใครทราบว่า ทฤษฎีใดถูกต้องและน่าเชื่อถือที่สุด การรักษาจึงยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นักวิจัยบางกลุ่มเสนอให้ใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ กระทั่งยาแก้อาการซึมเศร้า เพื่อให้คนไข้ผ่อนคลาย นอนหลับได้สนิท แต่การใช้ยาทุกประเภทย่อมมีข้อจำกัดและผลข้างเคียง
ในช่วงหนึ่งที่ทฤษฎีเกี่ยวกับการเรียงตัวผิดปกติของฟันทำให้เกิดการนอนกัดฟันเป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย หมอฟันแก้ไขการสบฟันโดยกรอปรับฟันที่เป็นจุดค้ำ หรือสบสะดุดเพื่อให้ฟันสบได้ดีขึ้น และด้วยความหวังว่าจะหยุดการนอนกัดฟันได้ แต่ผลกลับไม่เป็นเช่นนั้น ในคนไข้หลายรายยังคงนอนกัดฟันอยู่ การกรอฟันจึงไม่ใช่การแก้ไขอาการที่พึงปรารถนานักในปัจจุบัน เพราะนอกจากต้องสูญเสียเนื้อฟันแล้วยังไม่สามารถกำจัดอาการนอนกัดฟันได้
เคยมีจิตแพทย์ท่านหนึ่งถามทันตแพทย์ว่า ไม่มีวิธีจัดการกับการนอนกัดฟันจริงหรือ โดยเฉพาะในคนไข้ที่ไม่มีความเครียดใดๆ ทำไมยังนอนกัดฟันอยู่ กรณีนี้ทันตแพทย์เชื่อว่าการนอนกัดน่าจะเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น ฟันไม่สบกันพอดี การนอนหลับไม่สนิท กระทั่งจิตใต้สำนึก และสาเหตุที่ยากแก่การสันนิษฐาน การแก้ไขเพียงสาเหตุเดียวจึงไม่ทำให้หายจากอาการได้
ทางออกที่ดีที่สุดที่พอจะทำได้ คือ การป้องกัน แต่ไม่ได้ป้องกันนอนกัดฟัน แต่เป็นเพียงการป้องกันอันตรายที่จะเกิดกับฟันและระบบบดเคี้ยว หรือผลพวงของการกัดฟันต่างหาก โดยทำเฝือกสบฟันที่เป็นพลาสติกใส่ขณะนอนหลับ การวิจัยรายงานว่าสามารถหยุดการนอนกัดฟันได้ถึงร้อยละ 20 แต่อย่างน้อยก็ทำให้เสียงกัดฟันเบาลง ฟันไม่แตกหัก ประคองสภาพฟันให้ถูกทำลายช้าลง ไม่เมื่อยหน้า หรือปวดศีรษะหลังตื่นนอน เพียงเท่านี้ก็นับว่าประสบผลแล้ว แต่หลายคนก็ทนใส่เฝือกไม่ได้อีกเช่นกัน เพราะจะรู้สึกเหมือนอมอะไรนอน และมีน้ำลายไหลมาก ซึ่งก็ต้องชั่งน้ำหนักดูว่าอย่างไหนคุ้มกว่ากัน แรกๆ อาจไม่ชินแต่ถ้าทำความคุ้นเคยกับเฝือกสบฟันทุกวันก็น่าจะดีขึ้นได้
ที่มา ... healthcorners
กัดฟัน…..ศัตรูตัวร้ายของการนอน
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!