กิโมโน หรือชุดแต่งกายของชาวอาทิตย์อุทัย
มีประวัติยาวนานตั้งแต่สมัยเฮอัน หรือตรงกับค.ศ.794-1192 หรือพ.ศ.1337-1735
ก่อนหน้านั้น ซึ่งเป็นสมัยนารา (ค.ศ.710-794) ชาวญี่ปุ่นนิยมแต่งชุดท่อนบนกับท่อนล่างเหมือนกันหรือไม่ก็เป็นผ้าชิ้นเดียวกันไปเลย
พอมาถึงสมัยเฮอัน ซึ่งถือเป็นช่วงเริ่มต้นการใส่กิโมโน ชาวญี่ปุ่นพัฒนาเทคนิคการตัดชุดเสื้อผ้าด้วยการตัดผ้าเป็นเส้นตรง เพื่อให้ง่ายต่อมาสวมใส่ หยิบมาคลุมตัวได้ทันที ทั้งยังเป็นชุดที่เหมาะกับทุกสภาพอากาศ ถ้าหนาวๆใช้ผ้าหนา ถ้าเป็นฤดูร้อนก็เปลี่ยนไปใช้ผ้าบางๆ
ความสะดวกสบายนี้ทำให้ชุดกิโมโนแพร่หลายไปอย่างรวดเร็ว โดยในวงการแฟชั่นสมัยนั้นผู้ตัดเย็บก็จะคิดหาวิธีที่ทำให้ชุดกิโมโนมีสีสัน ผสมผสนานกันด้วยสีต่างๆ ให้เหมาะกับสภาพอากาศและชนชั้นทางสังคม ถือว่าเป็นช่วงที่ชุดพัฒนาในเรื่อง สี มากที่สุด
ในยุคคามาคุระ (ค.ศ.1192-1338) และยุคโรมาจิ (ค.ศ.1338-1573) ทั้งผู้หญิงและผู้ชายจะนิยมใส่ชุดกิโมโนที่สีสันแสบทรวง ยิ่งเป็นนักรบจะต้องยิ่งใส่ชุดที่สีฉูดฉาดมากๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นผู้นำ บางครั้งเรียกว่าไปแข่งแฟชั่นกันในสนามรบกันเลยทีเดียว
ต่อมาในยุคเอโดะ (ค.ศ.1600-1868) ช่วงที่โชกุนโตกูกาวาปกครองญี่ปุ่น โดยให้ขุนนางไปปกครองตามแคว้นต่างๆ นั้น ในช่วงนี้นักรบซามูไรแต่ละสำนักจะแต่งตัวแบ่งแยกตามกลุ่มของตัวเอง เรียกว่าเป็น ชุดเครื่องแบบ เลยด้วยซ้ำ
ชุดที่ใส่นี้ แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ชุดกิโมโน ชุดคามิชิโม ตัดเย็บด้วยผ้าลินินใส่คลุมชุดกิโมโนเพื่อให้ไหล่ดูตั้งและกางเกงขายาวที่ดูเหมือนกระโปรงแยกชิ้น
ชุดกิโมโนของซามูไรจำเป็นต้องเนี้ยบมาก ดังนั้นจึงเป็นช่วงที่พัฒนากิโมโนไปอีกขั้น จนเป็นผลงานศิลปะชิ้นหนึ่ง
สมัยต่อมาในยุคเมจิ (ค.ศ.1868-1912) ญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากต่างชาติรุนแรงมาก ชาวแดนปลาดิบจึงเริ่มเปลี่ยนไปใส่เสื้อสากลมากขึ้น และจะใส่ชุดกิโมโนเมื่อถึงงานที่เป็นพิธีการ
แหล่งที่มา : มติชน