ความเชื่อเกี่ยวกับ วันไหว้พระจันทร์
วันไหว้พระจันทร์ เป็นวันที่พระจันทร์ส่องแสงงดงามที่สุด และเต็มดวงที่สุด ชาวจีนจึงให้พระจันทร์เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงาม เป็นสื่อกลางของการคิดถึงซึ่งกันและกัน เมื่อคนในครอบครัวจากบ้านเกิดไปไกลคิดถึงครอบครัว ก็ให้แหงนมองดวงจันทร์ส่งความรู้สึกที่ดี ส่งความคิดถึงไปสู่ครอบครัวและคนที่รักผ่านดวงจันทร์
นอกจากนี้ ชาวจีนยังถือว่า วันไหว้พระจันทร์ เป็นวันที่คนในครอบครัวจะได้แสดงความสามัคคีกัน และได้ชมดวงจันทร์พร้อมหน้ากัน ซึ่งชาวจีนได้นิยาม วันไหว้พระจันทร์ ว่า “วันแห่งการอยู่พร้อมหน้าของครอบครัว”
ประวัติวันไหว้พระจันทร์
อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับต้นกำเนิดของเทศกาลนี้ ยังคงไม่เป็นที่ปรากฏแน่ชัด บ้างก็ว่าจักรพรรดิ์วู แห่งราชวงศ์ฮั่น เป็นผู้ริเริ่มการฉลองเพื่อกราบไว้พระจันทร์เป็นเวลา 3 วันในฤดูใบไม้ร่วงนี้
การไหว้พระจันทร์
ก่อนหน้านี้ วันไหว้พระจันทร์ ชาวจีนที่เป็นผู้ชายจะไม่นิยมไหว้พระจันทร์ เนื่องจากชาวจีนเชื่อว่า พระจันทร์ถือเป็นหยินซึ่งเป็นธาตุของผู้หญิง ผู้ชายถือเป็นหยาง ดังนั้น จึงให้แต่ผู้หญิงเป็นคนไหว้เท่านั้น แต่ปัจจุบันชาวจีนทั้งผู้หญิงและผู้ชาย ก็สามารถไหว้พระจันทร์ได้เช่นกัน
การไหว้พระจันทร์ จะเริ่มต้นตอนหัวค่ำซึ่งดวงจันทร์เริ่มปรากฏบนท้องฟ้า และถึงแม้ปีไหนหรือสถานที่แห่งใดมองไม่เห็นพระจันทร์ แต่การไหว้พระจันทร์ของชาวจีน ก็จะยังต้องมีการไหว้พระจันทร์ในค่ำคืนนั้นเหมือนเดิม พิธีดำเนินไปจนถึงประมาณ 4-5 ทุ่ม หลังเสร็จพิธีทุกคนในครอบครัวจะตั้งวงแบ่งกันกินขนมไหว้พระจันทร์ โดยขนมต้องนำมาหั่นแบ่งให้เท่ากับจำนวนคนในครอบครัว ห้ามเกินหรือขาด และแต่ละชิ้นต้องมีขนาดที่เท่ากัน ขนมไหว้พระจันทร์จึงเป็นสัญลักษณ์ของความสามัคคี ความกลมเกลียวคนในครอบครัว ดังนั้น รูปลักษณะของขนมไหว้พระจันทร์ จะต้องทำเป็นก้อนวงกลมเท่านั้น