คอของเราประกอบด้วยกระดูกคอ (Cervical Spine) ทั้งหมด 7 ข้อ หรือที่เรียกว่ากระดูก C1-C7 ระหว่างกระดูกแต่ละข้อมีแผ่นกระดูกอ่อนหรือที่เรียกว่าหมอนรองกระดูกคั่นกลางทำหน้าที่ป้องกันการเสียดสีและเป็นเสมือนโช๊คอัพเพื่อดูดซับและกระจายแรงอัด ส่วนกระดูกที่เราคลำได้เป็นตุ่มๆ ที่อยู่ด้านหลังของคอนั้นเป็นกระดูกที่ยื่นออกจากส่วนหลังของกระดูกคอ ตรงกลางของกระดูกนี้มีลักษณะเป็นรูให้ประสาทไขสันหลังและหลอดเลือดสอดผ่าน ระหว่างรอยต่อของกระดูกคอแต่ละข้อจะมีช่องว่างให้รากประสาทงอกออกมา เพื่อนำคำสั่งจากสมองไปยังกล้ามเนื้อที่ไหล่ แขนและมือ และรับความรู้สึกส่วนต่างๆ กลับไปยังสมอง กระดูกคอมีขนาดเล็กแต่ต้องแบกรับน้ำหนักของศีรษะที่มีการเคลื่อนไหวตลอดเวลา จึงเกิดความบอบช้ำบาดเจ็บได้ง่ายและเสื่อมได้เร็วกว่า ส่งผลกระทบต่อเส้นประสาท หลอดเลือดและไขสันหลังที่อยู่บริเวณเดียวกัน ทำให้เกิดอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอ ไหล่และสะบัก ปวดร้าวและชาที่แขนและมือ พร้อมทั้งอาการอื่นๆ ที่สลับซับซ้อน จนบางครั้งนึกไม่ถึงว่าการเจ็บปวดทรมานนี้มาจากกระดูกคอเรานี่เอง
สาเหตุโรคกระดูกคอที่พบบ่อย ภาวะกระดูกคอเสื่อม กระดูกคอที่เสื่อมลงตามวัยนั้นอาจจะไปกดทับเส้นประสาท หลอดเลือดหรือไขสันหลังที่อยู่บริเวณเดียวกัน ซึ่งพบได้บ่อยในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป อิริยาบถหรือท่าที่ผิดสุขลักษณะ เช่น การหนุนหมอนสูงเกินไป การทำงานในท่าเดียวนานๆ นั่งเขียนหนังสือ นั่งดูเอกสาร นั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งดูทีวี เป็นต้น คอเคล็ดหรือยอก เกิดจากคอมีการเคลื่อนไหวเร็วเกินไปหรือรุนแรงเกินไป เช่น การก้มเพื่อมองหาของใต้โต๊ะ การเอี้ยวตัวเพื่อหยิบของข้างหลัง การหกล้ม การเล่นกีฬาหรือโยคะ การนวดหรือการดัดตัว เป็นต้น ทำให้เส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อคอถูกยืดมากหรือมีการฉีกขาดจนเกิดอาการปวดคอ ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ข้ออักเสบ ข้ออักเสบเรื้อรังบางชนิดอาจทำให้กระดูกคออักเสบไปด้วย เช่น ข้ออักเสบรูมาตอยด์ เป็นต้น อาการอักเสบของร่างการ เช่น คออักเสบ หูอักเสบ เป็นต้น อาจทำให้เป็นโรคกระดูกคอหรือกระตุ้นให้อาการหนักขึ้น ความเครียดทางจิตใจ ซึ่งจะทำให้กล้ามเนื้อคอตึงตัวเป็นประจำจนส่งผลกระทบต่อกระดูกคอได้
โรคกระดูกคอมีชนิดใดบ้าง กระดูกคองอกกดทับรากประสาท กระดูกคอแต่ละข้อมีรากประสาทงอกออกจากไขสันหลังเพื่อควบคุมการทำงานของไหล่แขนและมือ เมื่อกระดูกคอเสื่อมลงตามวัย ข้อต่อจะหลวงหรือไม่แข็งแรง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการปวดคอเรื้อรัง ถึงแม้ว่าบางรายอาจไม่มีอาการปวดคอก็ตาม แต่ก็จะรู้สึกเมื่อยคอเป็นประจำ ต่อมาร่างกายมีการปรับสภาพโดยพยายามสร้างกระดูกใหม่ขึ้นมาทดแทนส่วนที่เสื่อมไป กระดูกที่สร้างขึ้นมาใหม่นี้เรียกว่า หินปูน หรือ กระดูกงอก ประกอบกับหมอนรองกระดูกที่เสื่อมและบางลง ทำให้ช่องว่างระหว่างข้อกระดูกคอแคบลง ในที่สุดไปกดทับจากประสาทและเกิดอาการปวดศีรษะ ปวดต้นคอและสะบัก บางครั้งรู้สึกเสียวหรือชาและมีเสียงกรอบแกรบเวลาหันคอ หากปล่อยไว้เรื้อรังจะมีอาการปวดร้าวเสียวหรือชาที่แขนและมือ อาการจะเป็นมากเวลาเงยหน้า อาจมีการฝ่อตัวของกล้ามเนื้อที่แขนและมือด้วย กระดูกคอกดทับไขสันหลัง หินปูนที่เกาะตามกระดูกคอหรือกระดูกคอที่เสื่อมจะทรุดลงมากดทับไขสันหลัง ทำให้เกิดอาการปวดมึนศีรษะ แขนชา ปวดเมื่อย อ่อนแรงโดยเฉพาะหัวเข่าจะรู้สึกอ่อนแรง เวลายืนจะโคลงเคลง ก้าวขาไม่ค่อยออก ผิวหนังปวดแสบ ปวดร้อน อาจควบคุมปัสสาวะและอุจจาระไม่ได้และสุดท้ายอาจเป็นอัมพาต กระดูกคอกดทับหลอดเลือดแดง กระดูกคอมีรูให้เส้นประสาทและหลอดเลือดแดงสอดผ่าน เมื่อกระดูกคอและหมอนรองกระดูกเสื่อม ลงจะทำให้รูนี้แคบลง หลอดเลือดแดงก็จะเป็นตะคริวหรือถูกกดทับเลือดจึงไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้เกิดอาการปวดเวียนศีรษะ ปวดตุบๆ ที่ท้ายทอย สายตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน คลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ วูบล้มลงอย่างกะทันหัน แต่ไม่หมดสติ สามารถลุกขึ้นได้เองอย่างรวดเร็วเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แขนขาอ่อนแรง แขนชา หยิบของแล้วร่วง เวลาเงยหน้าหรือหันคออย่างกะทันหันจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง ฯลฯ กระดูกคอกดทับประสาทซิมพาเธติก ประสาทซิมพาเธติกควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจ ความดันโลหิต การขยับตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ ตลอดจนกล้ามเนื้อเรียบในอวัยวะและต่อมขับหลั่งต่างๆ ในร่างกาย หากกระดูกคอหรือหมอนรองกระดูกคอเสื่อมและกดทับเส้นประสาท ก็จะเกิดอาการปวดศีรษะไมเกรน รู้สึกศีรษะหนักๆ ปวดท้ายทอย สายตาพร่า ปวดแน่นเบ้าตา ตาแห้ง เห็นแสงว็อบแว็บ ใจสั่น หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ แน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูงขึ้น ฯลฯ ปวดคอเนื่องจากกล้ามเนื้อตึงตัว กล้ามเนื้อบริเวณคอมีโครงสร้างซับซ้อนและทอสานเกี่ยวพันกันเป็นจำนวนมาก เมื่อเราอยู่ในท่าเดียวนานๆ เช่น ทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งดูทีวี เขียนหนังสือ เป็นต้น กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบริเวณคอก็จะตึงตัว ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดีจนเกิดอาการปวดศีรษะ ปวดเมื่อยต้นคอ และไหล่แล้วจะลามไปที่สะบักและแขนด้วย เมื่อกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นตึงเกร็งนานๆ ย่อมส่งผลกระทบต่อกระดูกคอ ทำให้กระดูกคอเคลื่อนและเกยทับกันได้เช่นกัน ส่วนการหนุนหมอนที่สูงเกินไปหรือผิดท่าจนทำให้เกิดอาการคอตกหมอนนั้นก็เกิดจากการตึงตัวของเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อคอเช่นกัน แต่ผู้ที่มีอาการคอตกหมอนเป็นประจำแสดงว่ากระดูกคอเริ่มเสื่อมแล้ว
สาเหตุโรคกระดูกคอในทัศนะการแพทย์จีน การแพทย์จีนได้จัดโรคกระดูกคอให้อยู่ในกลุ่มโรคชาและปวดเมื่อย (ปี้เจิ้น) จากเส้นลมปราณติดขัด ซึ่งมีสาเหตุจากพลังลมปราณพร่องลงตามวัย ทำให้เลือดไหลเวียนช้าลงและเกิดภาวะเลือดคั่ง กีดขวางการไหลเวียนของโลหิตจนเกิดอาการปวด ตามหลักการวินิจฉัยและรักษาอันสำคัญของการแพทย์จีน ปวดแสดงว่าไม่โล่ง โล่งแล้วก็จะไม่ปวด ส่วนพิษของลมและเย็นชื้น (เฟืองหานซือเสีย) ที่สะสมในเส้นลมปราณบริเวณคอและไหล่จะจับตัวเป็นก้อน ทำให้เส้นลมปราณและหลอดเลือดติดขัดมากยิ่งขึ้น เส้นเอ็น กล้ามเนื้อ และกระดูกคอจะได้รับการหล่อเลี้ยงไม่เพียงพอจึงเสื่อมลงได้เร็วขึ้น ส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติหลายๆ อย่าง
วิธีการบำบัดแบบองค์รวมของการแพทย์จีน การรักษาโรคกระดูกคอด้วยยาแก้ปวด ยาลดการอักเสบ ยาคลายกล้ามเนื้อหรือยาสเตอรอยด์อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากเป็นเพียงการระงับอาการปวดและอักเสบไว้ชั่วคราวเท่านั้นและมิได้หยุดยั้งการลุกลามของโรค ที่สำคัญคือพิษของยาจะก่อให้เกิดการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร ทำให้อาหารไม่ย่อยและเลือดออกในกระเพาะอาหาร พร้อมทั้งส่งผลกระทบต่ออวัยวะอื่นๆ ในร่างกาย ส่วนในรายที่มีอาการรุนแรงนั้น วิธีการผ่าตัดอาจได้ผลดี แต่อาจไม่เหมาะกับผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีโรคประจำตัว อีกทั้งผู้ป่วยหลายๆ คนก็ยังลังเลในเรื่องค่าใช้จ่าย ความยุ่งยากและความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจตามมา ดังนั้น การแพทย์จีนจึงนิยมบำบัดโรคกระดูกคอด้วยวิธีแบบองค์รวม ดังนี้ ทะลวงหลอดเลือดและเส้นลมปราณบริเวณคอและไหล่สลายเลือดคลั่ง ทำให้หลอดเลือดและเส้นลมปราณโล่งขึ้น เส้นเอ็นกล้ามเนื้อและกระดูกคอจะได้รับการหล่อเลี้ยงได้มากขึ้น เพื่อบรรเทาอาการปวดและหยุดยั้งการลุกลามของโรค ขจัดพิษของลมและเย็นชื้นที่สะสมอยู่ตามบริเวณไหล่และคอ เพื่อขจัดสาเหตุสำคัญของโรคกระดูกคอ บำรุงเลือดลม กระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต เลือดจึงไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น เสริมสร้างพลังลมปราณ ทำให้ระบบการไหลเวียนของโลหิตทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดภาวะเส้นลมปราณติดขัด อาการปวดต้นคอ ไหล่และสะบัก อาการปวดร้าวและอ่อนแรงที่แขนและมือ อาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สายตาพร่าและอาการอื่นๆ ที่เกิดจากโรคกระดูกคอจึงค่อยๆ ทุเลาลงหรืออาจหายไปในที่สุด เมื่อทราบกันอย่างนี้แล้ว สาว ๆ ก็ควรที่จะตรวจดูว่าเรามีอาการผิดปกติอะไรรึเปล่าจะได้ไปหาหมอทันก่อนที่จะเป็นอะไรมากนะคะ..
|