9 สถานที่สักการะ พระพิฆเนศ ในกรุงเทพ

9 สถานที่สักการะ พระพิฆเนศ ในกรุงเทพ


  พระพิฆเนศ หรือ พระพิฆนเศวร เป็นเทพที่มีผู้คนนับถือและเคารพมากที่สุด เนื่องจากเป็นเทพที่มีพระกรุณา และถือกันว่าเป็นปฐมเทพที่จะได้รับการบูชาก่อนเริ่มพิธีกรรมต่าง ๆ เพราะได้รับพรจากศิวเทพเรื่องความเฉลียวฉลาด และเป็นเทพที่มีสติปัญญาล้ำเลิศ ซึ่งหลายต่อหลายคนศรัทธาแรงกล้า ข้ามน้ำข้ามทะเลไปบูชาองค์พระพิฆเนศไกลถึงประเทศอินเดีย แต่วันนี้ไม่ต้องไปไกลขนาดนั้น เพราะกระปุกดอทคอมจะพาเพื่อน ๆ เดินทางไปกราบนมัสการ "พระพิฆเนศ" ภายในกรุงเทพมหานครกันค่ะ

1. พระพิฆเนศ เทวสถานหรือโบสถ์พราหมณ์

          ข้อมูลสถานที่ : เทวสถาน หรือ โบสถ์พราหมณ์ เป็นโบราณสถานสำคัญของไทย ดูแลโดยคณะพราหมณ์นำโดยพระราชครูวามเทพมุนี กองพระราชพิธีสำนักพระราชวัง ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียอาคเนย์ มีสถานให้สักการะ 3 สถานได้แก่ สถานพระอิศวร สถานพระคเณศ สถานพระนารายณ์ เขาไกรลาสจำลองด้านหน้ามีดอกไม้ธูปเทียนจำหน่าย เพื่อนำเงินเข้าบำรุงเทวสถาน

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : พระคเนศ พระอิศวร พระนารายณ์ พระพรหม พระสุรัสวดี พระอุมาภควดี พระลักษมีเทวี ฯลฯ หงส์สำหรับชิงช้าในวันตรียัมปวาย นางกระดานทั้งสามแผ่นและเทวรูปอื่น ๆ

          ตั้งอยู่ที่ : ริมถนนดินสอ บริเวณเสาชิงช้า วัดสุทัศน์ และศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร

          เวลาเปิด : วันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์จะเปิดให้เข้าไปสักการะได้ถึงในโบสถ์ แต่วันอื่น ๆ จะให้สักการะได้เฉพาะหน้าศาลพระพรหม ดูรายละเอียดเทวสถานโบสถ์พราหมณ์เสาชิงช้าเพิ่มเติมได้ที่นี่

2. พระพิฆเนศ วัดพระศรีอุมาเทวี (วัดแขก)

          ข้อมูลสถานที่ : วัดพราหมณ์-ฮินดูที่มีชื่อเสียงที่สุดของประเทศไทย ประดิษฐานพระแม่มารีอัมมันเป็นองค์ประธาน ในบางคติจะเข้าใจว่าคืออีกภาคหนึ่งของพระแม่อุมาเทวี ชายาแห่งพระศิวะ ภายในมีถาดผลไม้จำหน่ายชุดละ 60 บาทเพื่อร่วมทำบุญกับทางวัด วัดแห่งนี้ยังเป็นสถานที่จัดเทศกาลนวราตรี หรืองานแห่เทวรูปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : พระแม่มารีอัมมัน พระศิวะ พระแม่อุมาเทวี พระพิฆเนศ พระขันทกุมาร พระวิษณุ พระแม่ลักษมี พระแม่สุรัสวตี ด้านนอกโบสถ์มีศาลพระพรหมแบบฮินดูที่ถูกต้องที่สุดในไทย มีเทวาลัยประดิษฐาน ศิวลึงก์ เทวาลัย เทพนพเคราะห์ ยันต์พระแม่ลักษมีขนาดใหญ่มากแกะสลักอยู่ผนังอีกด้านหนึ่ง พร้อมทั้งรูปปั้นพระกัตวรายันและนักบวชเทพเทวดาต่าง ๆ

          ตั้งอยู่ที่ : ถนนปั้นตัดกับถนนสีลม รถไฟฟ้าใกล้เคียงคือ BTS สถานีศาลาแดง รถไฟฟ้าใต้ดินคือ MRT สถานีสีลม หากเดินจากสถานีรถไฟฟ้าหรือรถไฟใต้ดินไปยังวัดแขกใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที หรือนั่งรถเมล์-มอเตอร์ไซค์รับจ้างต่อไปได้

          เวลาเปิด : ทุกวันตั้งแต่เวลา 06.00 - 20.00 น. ทั้งนี้ มีกฏระเบียบคือแต่งกายสุภาพ และห้ามนำอาหารของคาวเข้าไป

3. พระพิฆเนศ หน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์

          ข้อมูลสถานที่ : แยกราชประสงค์ เป็นสี่แยกธุรกิจที่มีเทวรูปของศาสนาพราหมณ์ ประดิษฐานอยู่ถึง 7 องค์ด้วยกัน ที่นี่มีชื่อเสียงโด่งดังไม่แพ้วัดแขกสีลม ผู้คนทั่วทุกสารทิศหลั่งไหลเข้ามาสักการะเทพทั้ง 7 พร้อมทั้งขอพรและได้รับความคุ้มครองกันถ้วนหน้า

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : หน้าห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลเวิลด์ ประดิษฐาน พระพิฆเนศ และ พระตรีมูรติ หน้าโรงแรมแกรนด์ไฮแอทเอราวัณ ประดิษฐาน ท้าวมหาพรหม ที่โด่งดังไปทั่วโลก หน้าห้างสรรพสินค้าอมรินทร์พลาซ่า เป็นที่ประดิษฐาน ท้าวอัมรินทราธิราช หรือ พระอินทร์ จ้าวแห่งเทวดา ผู้ศรัทธากราบไหว้ขอพรให้มีแต่สิ่งดีงามขึ้นในชีวิต ตรงข้ามพระอินทร์ หน้าโรงแรมประดิษฐาน พระวิษณุทรงครุฑ หรือ พระนารายณ์ทรงสุบรรณ

          บนห้างสรรพสินค้าเกษรพลาซ่า ประดิษฐาน พระแม่ลักษมี เทพีผู้เปี่ยมด้วยความเมตตา ผู้เป็นพระชายาแห่งองค์พระวิษณุมหาเทพผู้รักษาโลก ผู้ศรัทธานิยมขอพรพระลักษมีให้มีความร่ำรวยและสมบูรณ์ในทุกๆ ด้าน ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กราบไหว้ พระนารายณ์ประทับยืนบนพญาอนันตนาคราช ซึ่งน้อยคนนักที่จะรู้ว่า ในสถานที่ราชการแห่งนี้ มีเทวสถานของเทพศักดิ์สิทธิ์ประทับอยู่

          ตั้งอยู่ที่ : สี่แยกราชประสงค์ ใกล้ประตูน้ำ รถไฟฟ้าที่ใกล้เคียงคือ BTS สถานีชิดลมและสถานีสยาม หากเดินจากสยามสแควร์มาแยกราชประสงค์ใช้เวลาประมาณ 10 นาที

          เวลาเปิด : พระพิฆเนศ และ พระตรีมูรติ (พระปัญจมุขี) เดินเข้าไปสักการะได้ตลอด 24 ชั่วโมง
ท้าวมหาพรหม หน้าโรงแรมเอราวัณ ตอนกลางคืนจะปิดรั้ว แต่อยู่นอกรั้วสักการะได้ มี รปภ.คอยเฝ้าดูแล สามารถยื่นดอกไม้ให้ รปภ.นำไปถวายหน้าเทวรูปพระพรหมได้ / พระอินทร์ หน้าห้างอมรินทร์พลาซ่า เข้าไปสักการะได้ตลอด 24 ชั่วโมง / พระแม่ลักษมี เปิด-ปิดตามเวลาของห้างเกษรพลาซ่า / พระนารายณ์ทรงสุบรรณ สักการะได้ตลอด 24 ชั่วโมง / พระนารายณ์ประทับยืนบนพญาอนันตนาคราช สักการะได้ตามเวลาราชการ

4. พระพิฆเนศ วัดวิษณุ สมาคมฮินดูธรรมสภา

          ข้อมูลสถานที่ : วัดวิษณุ ก่อตั้งโดยสมาคมฮินดูธรรมสภา ภายในประดิษฐานเทวรูปแกะสลักจากหินอ่อน มีความงดงามตามแบบศิลปะอินเดียเหนือ เป็นโบสถ์ที่มีเทวรูปประดิษฐานมากที่สุดในประเทศไทย ภายในเย็นสบาย มีพัดลมบริการ สามารถนั่งสมาธิได้ และเป็นวักหนึ่งเดียวในไทยที่มีเทพครบทุกองค์

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : พระพิฆเนศ พระวิษณุ พระแม่ลักษมี พระแม่สุรัสวดี พระพรหม พระศิวะ พระแม่ทุรกา พระพุทธเจ้า พระกฤษณะ พระราม เมื่อเดินลงมาจากโบสถ์ ให้เดินเข้าไปด้านข้างๆของโบสถ์ จะพบกลุ่มเทวาลัยเล็ก ๆ อีกมากมาย มีเทวาลัยพระแม่คงคาทรงจระเข้ องค์พระศิวะขนาดใหญ่ พระขันทกุมารหกเศียร ครอบครัวพระศิวะพระแม่อุมาเทวี เทพนพเคราะห์ มีศิวลึงก์ทำจากหินกระจายอยู่ตามต้นไม้ในวัด สามารถเอานมไปเทถวายศิวลึงก์ (บางองค์) เพื่อขอพร

          ตั้งอยู่ที่ : ตรงข้ามวัดปรก ยานนาวา หากมาทางรถไฟฟ้า BTS ให้ลงสถานีสะพานตากสิน มีรถสองแถวบริการให้ระบุว่าลงที่วัดปรก หากใช้บริการมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่อยู่ใกล้กับ BTS ให้ระบุว่าไปวัดวิษณุตรงข้ามวัดปรก (ซอยวัดปรกอยู่ตรงถนนเจริญกรุง)

          เวลาเปิด : ทุกวัน 06.00-19.00 น. (ปิด 3 ชั่วโมงระหว่าง 12.00-15.00) ควรไปหลังบ่ายสาม และเข้าร่วมบูชาไฟตอน 18.30 น.


5. พระพิฆเนศ วัดเทพมณเฑียร สมาคมฮินดูสมาช

          ข้อมูลสถานที่ : ก่อตั้งโดยสมาคมฮินดูสมาช ภายในประดิษฐานเทวรูปแกะสลักจากหินอ่อน มีความงดงามตามแบบศิลปะอินเดียเหนือ พื้นปูพรมสามารถนั่งสมาธิได้ ผู้ศรัทธามักนำขนมหวาน ผลไม้ ดอกไม้ ไปถวายสักการะเทพอยู่เสมอ (สามารถนำเทวรูปของตนไปให้พราหมณ์ที่นี่เบิกเนตรให้ได้ ทำบุญตามศรัทธา) เข้าร่วมพิธีอารตี หรือบูชาไฟ ได้ทุกวัน 18.30 น.

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : พระพิฆเนศ พระวิษณุ พระแม่ลักษมี พระแม่กาลี พระแม่สุรัสวดี พระพรหม พระศิวะ พระแม่ทุรกา พระพุทธเจ้า พระกฤษณะ พระราม ศิวลึงก์ หลุมศพพระนางสตี มีภาพจากมหาภารตะและมหาฤาษีสำคัญ ๆ บนผนังโบสถ์

          ตั้งอยู่ที่ : ถนนศิริพงษ์ ใกล้โบสถ์พราหมณ์ วัดสุทัศน์ และเสาชิงช้า วัดเทพมณเฑียรตั้งอยู่ภายใน โรงเรียนภารตะวิทยาลัย ซึ่งโรงเรียนนี้อยู่ติดกับ โรงเรียนเบญจมราชาลัย และ สวนรมณีย์นาถ (จากเสาชิงช้าให้ไปทางพาหุรัด โรงเรียนภารตะวิทยาลัยจะอยู่ก่อนถึงสวนรมณีนาถ) ภายในเย็นสบาย มีพัดลมบริการ

          เวลาเปิด : ทุกวัน 06.00-19.00 (ปิดสามชั่วโมงระหว่าง 12.00-15.00 น. เพื่อประกอบพิธีภายใน ซึ่งระหว่างที่ปิดเข้าได้เฉพาะชาวอินเดียและพราหมณ์เท่านั้น) ควรไปหลังบ่ายสาม ร่วมบูชาไฟตอนเวลา 18.30 น.

6. พระพิฆเนศ สี่แยกห้วยขวาง-รัชดา

          ข้อมูลสถานที่ : เหตุที่ต้องสร้างพระพิฆเนศวรบริเวณสี่แยกห้วยขวาง-รัชดา เพราะสมัยก่อนบริเวณดังกล่าวเกิดอุบัตติเหตุบ่อยครั้ง อาจารย์สุชาติ รัตนสุข จึงมีความเห็นว่าควรมีรูปเคารพองค์เทพตั้งไว้เพื่อแก้เคล็ด ต่อมาท่านมอบองค์พระพิฆเนศวรให้มาประดิษฐานไว้บริเวณดังกล่าว

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : พระพิฆเนศองค์ประธานของที่นี่เป็น ปางยืนประทานพร 1 เศียร 4 กร ทรงวัชระ บ่วง ขนมโมทกะ และงา ทรงมุทราประทานพร ก้าวเดินบนดอกบัว ตั้งอยู่ด้านหน้า ได้รับการกล่าวขานกันว่า เป็นพระพิฆเนศที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีเทวรูปพระศิวะ พระอุมา และพระคเนศประทับร่วมกันอยู่ภายในศาล มีเทวรูปพระคเนศ 3 เศียร (ตรีมุข) พระโคนนทิ พระยาภิเภก พระพรหมเทพ เหล่าฤษี และ เทวรูปพระคเนศประทับร่วมกับพระชายาทั้งสอง

          ตั้งอยู่ที่ : ตรงหัวมุมบริเวณสี่แยกห้วยขวาง-รัชดา

          เวลาเปิด : เดินเข้าไปสักการะได้ตลอด 24 ชั่วโมง

7. พระพิฆเนศ วิทยาลัยนาฏศิลป์ กรุงเทพ

          ข้อมูลสถานที่ : วิทยาลัยนาฏศิลป์ เป็นสถาบันการศึกษาที่ยึดมั่นในองค์พระพิฆเณศวรอย่างสูงสุด สถาบันแห่งนี้ตั้งอยู่ทางด้านทิศใต้ของอุโบสถวัดพระแก้ววังหน้า เป็นที่ประดิษฐานพระพิฆเณศวร์ ซึ่งสร้างสรรค์โดยศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี โดยนายชื้น ชื่นประสิทธิ์ เป็นผู้ปั้นแบบ ประดิษฐานไว้ตั้งแต่ปี พ.ศ.2477 ถือว่าเป็นประติมากรรมองค์พระพิฆเนศวร์ที่งดงามที่สุดองค์หนึ่งของไทย กาลต่อ ๆ มาก็ได้มีการจำลองเทวรูปของวิทยาลัยนาฏศิลป์แห่งนี้ไปประดิษฐานยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะวิทยาลัยนาฎศิลป์ทั่วประเทศ ก็ได้จำลององค์พระพิฆเณศวร์แบบเดียวกันนี้ไปประดิษฐานด้วย

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : พระพิฆเนศวร ปั้นหล่อด้วยปูนซีเมนต์ สูงถึง 250 เซ็นติเมตร ประทับนั่งบนแท่นหิน สวมพระกุณฑล หรือ ต่างหูเป็นรูปหัวกะโหลก มี 4 พระกร ทรงวัชระ งาหัก บ่วงบาศ และชามขนม สวมสายธุรำเป็นรูปงู ด้านหลังเทวรูปเป็นแผ่นหินทรงกลม อันหมายถึงจักรวาลและความรู้อันใหญ่หลวง

          ตั้งอยู่ที่ : บริเวณสนามหลวง เชิงสะพานพระปิ่นเกล้า ถนนราชินี เขตพระนคร กรุงเทพฯ (กรุณาแจ้ง รปภ.ก่อนว่าจะเข้ามาไหว้พระพิฆเนศ)

          เวลาเปิด : เปิดตามเวลาสถาบันการศึกษา

8. เทวาลัยพระพิฆเนศวร วัดศรีสุดาราม

          ข้อมูลสถานที่ : วัดนี้เดิมเป็นวัดโบราณ ชื่อ วัดชีปะขาว หรือ วัดชีผ้าขาว บางทีเรียก วัดปะขาว ก็มีสันนิษฐานว่าสร้างมาแต่ครั้งสมัยกรุงศรีอยุธยา ต่อมาในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ (แก้ว) ซึ่งเป็นพระพี่นางเธอของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงบูรณะปฏิสังขรณ์มาแต่ในรัชกาลนั้น ครั้นล่วงมาน้ำได้เซาะตลิ่งพังเข้ามาจนถึงหน้าพระอุโบสถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าพระยาขุนมนตรีเป็นแม่กองสร้างพระอุโบสถขึ้นใหม่ โดยเลื่อนขึ้นจากที่เดิม ทรงโปรดให้เจ้าพนักงานปักกำหนดเขตรอบโรงพระอุโบสถลงใหม่ ใช้แทนวิสุงคามสีมาเดิม แล้วโปรดให้ลงเขื่อนหน้าวัด เพื่อป้องกันน้ำเซาะตลิ่งจนเป็นผลสำเร็จ ครั้นการทุกอย่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้พระราชทานนามวัดใหม่ว่า วัดศรีสุดาราม ยกขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ชนิดวรวิหาร เชื่อกันว่าสุนทรภู่เคยเรียนอยู่ที่นี่

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : เทวรูปพระพิฆเนศ ปางยืน มีพระพิฆเนศองค์เล็กสำหรับ "เสี่ยงทาย" โดยให้ทำการอธิษฐาน ผลการอธิษฐานเป็นเช่นไร ขอให้องค์พระพิฆเนศหนักเบา ดังนี้…

          ยกครั้งที่ 1 ถ้าสิ่งที่อธิษฐานจะเป็นผลสำเร็จ จะสามารถยกพระพิฆเนศขึ้นจรดหน้าผากได้
          ยกครั้งที่ 2 ถ้าสิ่งที่อธิษฐานจะเป็นผลสำเร็จ เทวรูปพระพิฆเนศจะหนักมาก ยกไม่ขึ้น

          หากยกทั้งสองครั้ง เบาหนักสลับกัน หรือเบาทั้งสองครั้ง หรือหนักทั้งสองครั้ง สิ่งที่อธิษฐานจะไม่ประสบความสำเร็จ หรือประสบความสำเร็จยากต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างสูง

          ตั้งอยู่ที่ : ริมคลองบางกอกน้อยฝั่งตะวันตก เลขที่ 83 แขวงบางขุนนนท์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพมหานคร

          เวลาเปิด : ตามเวลาวัด 06.00 - 18.00 น.

9. พระพิฆเนศวร วัดพระศรีมหาทุรคามณเฑียร

          ข้อมูลสถานที่ : วัดแห่งนี้กำเนิดขึ้นจากความร่วมมือของกลุ่มนักธุรกิจชาวอินเดีย สมาคมฮินดูสมาช และ สมาคมฮินดูธรรมสภา เพื่อให้เป็นศูนย์รวมจิตใจของประชาชนชาวฮินดูในย่านนี้ วัดพระศรีมหาทุรคามณเฑียร กำลังดำเนินการก่อสร้างยังไม่แล้วเสร็จร้อยเปอร์เซ็นต์ มีบัณฑิตพราหมณ์จากสมาคมฮินดูสมาช หรือ วัดเทพมณเฑียร เดินทางมาประกอบพิธีให้เป็นประจำ ชาวไทยสามารถเข้าไปสักการะองค์เทพภายในได้

          เทวรูปที่ประดิษฐาน : เทพทุกพระองค์ แกะสลักจากหินอ่อน แต่ละองค์ขนาดไม่ใหญ่มาก แต่ก็ล้วนเต็มไปด้วยพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์ เนื่องจากวัดแห่งนี้ สร้างขึ้นจากความศรัทธาของชาวฮินดูที่รักในองค์เทพอย่างเต็มเปี่ยม

          ตั้งอยู่ที่ : ซอยสมเด็จเจ้าพระยา 5 เขตคลองสาน

          เวลาเปิด : 15.00 - 19.00 น. (ร่วมพิธีอารตีได้ทุกวัน)


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์