ทำไมฉันถึงกินไม่หยุด ?

ทำไมฉันถึงกินไม่หยุด ?


กินพิซซ่าร้อนๆ ตามด้วยสลัดสักจาน, ไก่ทอด, สปาเก็ตตี้ ตบท้ายด้วยไอศกรีม แต่อาหารไทยก็น่าอร่อย เลยต่อด้วยแกงเขียวหวาน, หมี่กรอบ, ข้าวเหนียวมะม่วง อืมม์อร่อยจัง แต่ เอ..ทำไม่ยังไม่อิ่มเสียทีละ ?

...ถ้าคุณเป็นอย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น ควรรีบเก็บของกินที่อยู่ในมือ แล้วหันมาใส่ใจบริโภคข้อมูลเรื่องนี้กันสักหน่อย ก่อนที่อาการกระเพาะคราก, ระบบการย่อยอาหารผิดปกติ, อ้วน และอีกสารพัดโรคภัยจะถามหา

สาเหตุจากโรคทางกาย

เบาหวาน เกิดจาก ฮอร์โมนอินซูลิน ซึ่งทำหน้าที่นำน้ำตาลมาสู่เซลล์เพื่อใช้เป็นพลังงาน มีปริมาณที่ไม่สมดุล หรือบางกรณีไม่มีฮอร์โมนนี้เลย ทำให้ดึงน้ำตาลมาใช้พลังงานในเซลล์ได้น้อย ทั้งที่ปริมาณน้ำตาลในเลือดมีสูง ทำให้ร่างกายรู้สึกขาดพลังงานอยู่ตลอดเวลา ผู้ป่วยจึงรู้สึกหิว 

การรักษา 

- หากคุณยังตรวจไม่พบว่าเป็น เบาหวาน แต่เริ่มมีพฤติกรรมที่ส่อแวว และคนในครอบครัวมี
ประวัติเป็นโรคนี้ ควรรีบปรับพฤติกรรมการกินให้น้อยลง ลดอาหารที่มีรสหวาน และควรหมั่นออกกำลังกายเป็นประจำ

- แต่ถ้าตรวจพบว่าเป็นเบาหวานแล้ว นอกจากคุณจะต้องจัดระเบียบชีวิตเหมือนข้างต้นแล้ว ควรพบแพทย์เพื่อรับการรักษาควบคู่กันไป 

โรคต่อมธัยรอยด์เป็นพิษ ( Gravess disease ) เชื่อว่าโรคนี้เป็นผลจากพันธุกรรม หรือเกิดจากความผิดปกติของภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยเมื่อภูมิคุ้มกันทำลายเนื้อเยื่อของตัวเอง แอนติบอดี้ในโลหิตจะเกิดการกระตุ้นให้ผลิตฮอร์โมนธัยรอยด์เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการเผาผลาญอาหาร และพลังงานมากขึ้นตามไปด้วย ผู้ป่วยจึงไม่ค่อยนิ่ง อยู่เฉยไม่ได้ และรู้สึกหิวบ่อย กินเยอะ แต่กลับไม่อ้วน 

การรักษา

- การรักษาด้วยการกินยาลดฮอร์โมนธัยรอยด์ 

- การผ่าตัดต่อมธัยรอยด์ 

- การกินน้ำแร่ (ไอโอดีน)

กลุ่มอาการคุชชิ่ง(Cushings Syndrome) จากความผิดปกติของร่างกาย มีสาเหตุจากฮอร์โมนสเตียรอยด์ในร่างกายถูกหลั่งออกมาผิดปกติ เนื่องจากต่อมใต้สมอง และต่อมหมวกไตชั้นนอกเกิดเนื้องอก หรือได้รับความกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ หรือมีการทำลายเซลล์ประสาทบริเวณนั้น ซึ่งฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในปริมาณที่ผิดปกติจะทำให้ผู้ป่วยหิวบ่อย ผู้ป่วยโรคนี้จะมีลักษณะอ้วนกลางลำตัว แต่แขนขาลีบ และหน้ากลมเป็นพระจันทร์ 

การรักษา 

- กินยาต้านเชื้อราชื่อ คีโตโคนาโซล ที่มีฤทธิ์ลด และทำลาย ฮอร์โมนคอติซอล ซึ่งเป็นฮอร์โมน
สเตียรอยด์ที่ต่อมทั้งสองหลั่งออกมามากเกินไป 

-ตรวจหา และผ่าตัดเนื้องอกที่เกิดขึ้น

ความผิดปกติของสมองส่วนไฮโปธาลามัส เป็นสมองส่วนที่ควบคุมการหลั่งฮอร์โมนของต่อมใต้สมอง ควบคุมความหิว อิ่ม และกระหายน้ำโดยตรง ความผิดปกติของสมองส่วนนี้ เกิดขึ้นจากการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ หรือเป็นเนื้องอก

การรักษา 

-ทำการฉายแสง หรือผ่าตัดเนื้องอกที่เกิดขึ้น

- ถ้ามีสาเหตุจากการกระทบกระเทือนจากอุบัติเหตุ จะทำการรักษาไม่ได้ แต่อาจใส่ใจเรื่องการจัดสัดส่วนและประเภทอาหารที่รับประทาน และออกกำลังกายแทน 

โรค บูลีเมีย (Bulimia nervosa) 

เป็นโรคกินไม่หยุด โดยมีลักษณะการกินที่เรียกว่า Binge eating คือ ลักษณะการกินอาหารต่อเนื่องในปริมาณมากๆ ในคราวเดียว เมื่อเทียบปริมาณอาหาร และเวลาที่ใช้รับประทานกับคนปกติ เป็นลักษณะอาการทางจิตอย่างหนึ่ง ผู้ป่วยจะรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมตัวเองในเรื่องกินได้ ลักษณะของคนเป็นโรคนี้จะชอบแอบไปกินคนเดียว เพื่อไม่ให้ใครพบเห็น 

สมาคมจิตแพทย์อเมริกันแบ่ง ผู้ป่วยบูลีเมีย ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มผู้ป่วยที่ขับอาหารที่กินออกมาหลังกินเสร็จ เช่น กระตุ้นให้ตัวเองอาเจียน กินยาถ่าย สวนอุจจาระออก พวกนี้จะไม่อ้วน บางคนกลับผอม 

2.ผู้ป่วยที่หาทางออกอื่น เช่น กินสลับกับอด หรือออกกำลังกายอย่างหักโหม ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติทั่วไป ถึงน้ำหนักจะลดบ้างแต่ก็ไม่มาก

3.กลุ่มที่ไม่ทำอะไรเลย กลุ่มนี้ค่อนข้างเป็นกันน้อย ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่ทำอะไรเลย กินอย่างเดียว กลายเป็นคนอ้วนในที่สุด

สาเหตุของโรคนี้ คือ 

- ปัจจัยทางชีวะภาพ เช่น พันธุกรรม

- ปัจจัยด้านจิตใจ เช่น ขาดความอบอุ่นในครอบครัว การเลี้ยงดูในวัยเด็ก 

- ปัจจัยด้านสังคม และวัฒนธรรม เช่น ค่านิยมต่างๆ

ผลกระทบต่อร่างกายของการกินไม่หยุดในผู้ป่วย Bulimia

- กระทบต่อระบบทางเดินอาหาร ทำให้กระเพาะคราก และทำงานผิดปกติ ต่อมน้ำลายอักเสบ จากการล้นของกรดในกระเพาะอาหาร

- ทำให้หัวใจเต้นช้าลง , เกิดภาวะโปแตสเซียมต่ำ (จากการอาเจียนอาหาร) , ความดันโลหิตให้ต่ำลง ถ้าเป็นนานๆ ก็อาจจะทำให้ระบบเลือดในร่างกายผิดปกติ ซีด ไขมันในเลือดผิดปกติ กล้ามเนื้ออักเสบ กระดูกจาง ผิวหนังแห้งแตก 

- สูญเสียกรดในกระเพาะอาหารในขณะอาเจียน กรดซึ่งทะลักจากกระเพาะผ่านหลอดอาหาร ทำให้หลอดอาหารส่วนปลาย และฟันถูกกัดกร่อน เกิดฟันผุ และอาจเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดมะเร็งหลอดอาหารได้

- พวกที่ใช้ยาถ่าย ยาสวนทวาร หรือยาขับปัสสาวะ จะทำให้เสียเกลือแร่ 

- ปอดอักเสบติดเชื้อ จากการลำลักอาหารในเวลาอาเจียน

- กระทบต่อระบบประสาทส่วนกลาง และคลื่นสมองผิดปกติ

- ประจำเดือนมาน้อยลง แต่ไม่ถึงกับขาดประจำเดือน

- กรณีผู้ป่วยที่ออกกำลังกายอย่างหักโหมก็จะทำให้ร่างกายสึกหรอ ข้อ เข่าเสื่อม

การรักษา 

1.ใช้วิธีจิตบำบัด ซึ่งทำได้ยากพอควรประกอบกับผู้ป่วยไม่ยอมเข้ารับการรักษา

2.ทำโดยพฤติกรรมบำบัด (CBT) เริ่มจาก

2.1 บันทึกเหตุการณ์ของการกินไม่หยุด ว่าอะไรคือตัวกระตุ้น และถ้าหยุดพฤติกรรมจะเกิดความไม่สบายใจอย่างไร 

2.2 สอนให้ผู้ป่วยรู้จักผ่อนคลาย เพื่อจัดการกับความเครียดจะได้ไม่ต้องไปกินไม่หยุด 

2.3 สอนผู้ป่วยให้เรียนรู้กับการเผชิญปัญหา ให้ต่อสู้กับปัญหาของตนเองใช้เวลาในการเก็บข้อมูลประมาณ 3 - 6 เดือน 

3.อาจต้องรักษาอาการต่าง ๆ ทางร่างกาย ที่เกิดขึ้นเนื่องจากเป็นผลกระทบควบคู่ไปด้วย

กินได้เยอะเพราะผลจากยา

ยาที่ทำให้คุณรู้สึกหิว และกินได้จุคือ ยาคุมกำเนิด และยาสเตียรอยด์ 

การรักษา 

- หยุดยาที่กินอยู่ 

ส่วนการกินจุบจิบในชีวิตประจำวัน หรือกินเพื่อคลายเครียดนั้น จิตแพทย์บอกว่า อาจเพราะคุณต้องการหาทางออกในเวลาที่มีปัญหาเกิดขึ้น หรือคุณอาจขาดการฝึกวินัยให้กับตัวเองในเรื่องการกินอาหาร ก็เลยชอบกินจุบจิบ ไม่เป็นเวลา แนวทางการรักษาอาการนี้ก็คือ คุณต้องรู้จักที่จะเผชิญ และแก้ปัญหาให้ถูกจุด รวมถึงการฝึกวินัยให้กับตัวคุณเอง เพียงเท่านี้คุณก็จะละนิสัยเสียเรื่องการกินได้แล้วละครับ



leelacheewit


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์