ชวนดื่มชาขาวแหล่งต้านอนุมูลอิสระ
ดร.เรียม เตชะโสภณมณี อดีตอาจารย์ภาควิชาเทคโนโลยีชีวภาพ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
ผู้วิจัยชาขาวมานานกว่า 10 ปี ให้ความรู้เรื่องชาว่า ชาทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นชาเขียว ชาดำ ชาแดงและชาขาว ล้วนมาจากพืชสายพันธุ์เดียวกัน คือ คามีเลีย ไซเนนซิส (Camellia sinensis) แต่ชาขาวมีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูงกว่าชาอื่นๆ และยังมีสารฟลาโวนอยด์ ทำหน้าที่ต้านโรคมะเร็งลำไส้ ต่อมลูกหมาก และกระเพาะอาหาร นอกจากนี้ ยังเป็นยาบำรุงหลอดเลือด หัวใจ และกำจัดไขมันในเส้นเลือด โดยควรจะดื่ม 2-4 ถ้วยต่อวันเพื่อให้ได้ปริมาณสารออกฤทธิ์
ชาขาวเป็นชาต้นพิเศษที่ยอดอ่อนไม่บานออกรับแสงแดดเหมือนชาทั่วไป แต่จะม้วนยอดอ่อนไว้ภายใต้ขนใบที่เป็นปุยขาว เมื่อนำไปส่องกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน พบว่าภายในมีลักษณะคล้ายถุงรูปรี ซึ่งเป็นส่วนของตาอ่อน เรียกว่า 'ถุงทอง' ทำหน้าที่เป็นแหล่งสะสมอาหารสำหรับกระบวนการงอกของยอดชา
ชาขาวแต่ละฤดูมีคุณสมบัติแตกต่างกันไป
แบ่งออกได้เป็น 4 เกรด ได้แก่ กลุ่มที่หนึ่ง 'ไป๋เฮา อิ๋นเจิน' เป็นชาขาวเกรดหนึ่ง ชนิดยอดเยี่ยมที่สุด มีแค่ตุ่มตาอ่อนหุ้มด้วยขนสีขาวเท่านั้น กลิ่นหอมหวานคล้ายดอกไม้ผสมผสานกับกลิ่นหญ้าที่ตัดใหม่ๆ รสชาตินุ่มนวล เป็นที่นิยมสูงสุดสำหรับนักดื่มชา
กลุ่มที่สองเรียกว่า 'ไป๋ หมูตัน' ประกอบด้วยตุ่มตาหุ้มด้วยขนอ่อนและใบอ่อนเล็กๆ อีก 1 ใบ รสชาติชาเพิ่มขึ้น สีชาเข้มขึ้นเล็กน้อย ทั้งกลุ่มแรกและกลุ่มสองนี้ มีปริมาณกาเฟอีนต่ำเมื่อเทียบกับชาเขียวและชาอื่นๆ
กลุ่มที่สามเรียกว่า โฉวเหมย เป็นชาขาวเกรดต่ำลงมา เก็บชาได้หลังจากเก็บยอดอ่อนไปแล้ว กลุ่มนี้จะมีรสชาติเข้มขึ้น ฝาด และมีกลิ่นเขียวเล็กน้อย ในธุรกิจวงการชา จะใช้ชาขาวเกรดนี้ไปขายเป็นชาเขียวเกรดดี เพื่อให้ได้มูล ค่าเพิ่ม
ชาขาวกลุ่มที่สี่ คือ 'กงเหมย' เป็นชาขาวต้นอื่นแตกต่างจากชาขาวกลุ่มแรกและกลุ่มที่สอง ตลอดจนมีกระบวนการเก็บรักษาที่ด้อยกว่า นักดื่มชาไม่นิยมดื่มชากลุ่มสามและกลุ่มสี่ ดังนั้นจึงมีผู้นำไปขายเป็นชาอื่นแทน
แหล่งปลูกชาขาวมีเฉพาะที่หมู่บ้านฝูติ๋ง และเจิ้งเหอ ในมณฑลฝูเจี้ยน โดยเก็บเกี่ยวได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ประมาณปลายเดือนมี.ค. ถึงต้นเดือนเม.ย. อีกทั้งต้องไม่มีฝน และต้องเก็บไว้ในเวลาเช้าที่มีแสงแดดสดใส เพื่อให้ตุ่มตาคายน้ำออกมาบ้าง ส่วนอีกแหล่งคือ เมืองดาจีลิ่ง ในประเทศอินเดีย