วิวัฒนาการผ้าอนามัย
ผ้าอนามัยชิ้นแรกของโลกเกิดขึ้นเมื่อใด ?ซองคำถาม? ไม่ทราบ เพราะมีแต่ข้อมูลฝ่ายไทย ซึ่งได้มาจากนิตยสาร UPDATE ปีที่ ๗ ฉบับที่ ๘๔ สมัยก่อนคนรุ่นย่า ยาย เวลามีประจำเดือนจะใช้เศษผ้าเก่า ๆ มาพับเป็นแถบยาว สอดไว้หว่างขาแล้วใช้เชือกกล้วย เชือกฟาง หรือผ้าที่เย็บเป็นสายยาว ผูกไว้กับเอวคล้ายนุ่งผ้าเตี่ยว บางคนที่นุ่งผ้าถุงก็ใช้เข็มขัดที่คาดผ้าถุงนั้นคาดแถบผ้าไว้
ส่วนวัสดุที่แทรกไว้ในผ้าเพื่อช่วยซึมซับมีหลากหลาย ตั้งแต่ทบผ้าให้หนา ๆ ไปจนถึงสอดไส้ด้วยกาบมะพร้าวทุบ กระดาษฟาง นุ่น แกลบ หรือขี้เถ้าแกลบ
ส่วนผ้าอนามัยสำเร็จรูปนั้น เอนก นาวิกมูล อ้างไว้ในหนังสือ ?แรกมีในสยาม? ว่า หลักฐานเรื่องผ้าอนามัยเก่าสุดที่พบ เป็นโฆษณาขายผ้าซับระตูในหนังสือ ?ข่ายเพ็ชร์" ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๒ วันพฤหัสบดีที่ ๑๔ มกราคม พ.ศ. ๒๔๖๘ (ถ้านับอย่างปัจจุบันเท่ากับ พ.ศ. ๒๔๖๙) เป็นช่วงต้นสมัยรัชกาลที่ ๗ แต่คงมีมาก่อนแล้วอย่างน้อยในสมัยรัชกาลที่ ๖
ผ้าอนามัยเริ่มวิวัฒนาการขึ้นในช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่ ๒ ราว พ.ศ. ๒๔๘๕ สาวไทยได้รู้จักผ้าอนามัยแบบห่วงยี่ห้อ โกเต็กช์ ซึ่งจะต้องใช้ตะขอของสายคาดเอวเกี่ยวกับห่วงสองข้างของตัวผ้าอนามัย
ผ้าอนามัยแบบห่วงมีข้อจำกัดอยู่ที่เมื่อใช้ไปนาน ๆ จะไม่กระชับเพราะสายคาดยืด จน พ.ศ. ๒๕๐๕ จึงมีการพัฒนาเป็นผ้าอนามัยแถบปลายโดย เซลล็อกช์ ผ้าอนามัยแถบปลายจะคล้ายกับผ้าอนามัยแบบห่วง แต่ในส่วนปลายของด้านกว้างทั้งสองข้างจะเป็นผ้าใยเทียมปลายเรียวยาวออกไปแทนห่วงทั้งสองข้าง ทำให้สามารถปรับเลื่อนปลายผ้าที่ติดอยู่กับตัวผ้าอนามัยได้จึงกระชับตลอดเวลา แต่ทั้งแบบห่วงและแบบแถบปลายก็ยังต้องใช้สายคาด เวลาใช้จะเห็นรอยของสายคาดและปมตะขอพลาสติก ทำให้ใส่เสื้อผ้ารัดรูปไม่ได้ จึงมีการวิวัฒนาการรูปแบบอีกครั้งเป็นผ้าอนามัยแถบกาว ซึ่ง แซนนิต้า นำเข้ามาในกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๕
ถึงแม้ว่ารูปแบบของผ้าอนามัยจะมีการพัฒนา แต่ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตก็ยังคงเป็นแบบเยื่อกระดาษ (pulp) มาตลอด จุดสำคัญของการผลิตอยู่ที่เยื่อกระดาษที่ถูกตีจนละเอียดเหมือนปุยสำลี (crushed pulp)แล้วหุ้มด้วยผ้าใยเทียมไม่ทอ (nonwoven) เป็นชั้นนอก ผ้าใยเทียมไม่ทอจะทำหน้าที่เหมือนถุงที่บรรจุเยื่อกระดาษไว้ภายใน โดยมีคุณสมบัติปล่อยผ่านของเหลวให้ไหลลงสู่เยื่อกระดาษอย่างเร็วที่สุด ไม่ค้างอยู่ภายนอกนาน ส่วนเยื่อกระดาษที่ดี อุ้มของเหลวได้มาก จะต้องละเอียด แต่เมื่อตีจนละเอียดถึงจุดจุดหนึ่งแล้ว จะตีให้ละเอียดมากกว่านั้นอีกไม่ได้ ทำให้ผ้าอนามัยแบบเยื่อกระดาษต้องมีความหนาพอสมควร เพื่ออุ้มของเหลวได้มากตามต้องการ
แต่เติมอเมริกาเป็นผู้เชี่ยวชาญในการผลิตผ้าอนามัยที่ใช้เทคนิคการผลิตแบบ pulp แต่แล้วผ้าอนามัยก็สู่ยุควิวัฒนาการใหม่ เมื่อญี่ปุ่นค้นคว้าพบสารชนิดหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๒๐ เรียกว่า โพลิเมอร์ เจล (polymer gel) ซึ่งเป็นวัสดุจำพวกพลาสติกชนิดหนึ่ง มีลักษณะเป็นเม็ดเล็ก ๆ คล้ายเม็ดทรายละเอียด มีคุณสมบัติเด่นคือ สามารถดูดน้ำได้เร็ว อุ้มซึมน้ำได้หลายร้อยเท่าของน้ำหนักตัวมันเอง และดูดซับประจำเดือนได้ถึง ๖๐ เท่าตัว ดังนั้นเมื่อนำเจลนี้ไปผลิตผ้าอนามัย จึงทำให้ผ้าอนามัยมีลักษณะพิเศษ ๒ ประการ คือ ไม่จำเป็นต้องทำเป็นแผ่นหนา เพราะลดเยื่อกระดาษลง และน้ำที่กลายเป็นเยลลี่แล้วจะไม่ซึมกลับออกมา ขณะที่ผ้าอนามัยที่ใช้เทคนิคการผลิตแบบ pulp จะคล้ายสำลี เมื่อถูกกดบีบจึงมีโอกาสที่ของเหลวจะไหลกลับออกมาได้
ทั้งคุณผู้หญิงคุณผู้ชายที่ชอบดูโทรทัศน์ อาจเคยได้ยินคำเหล่านี้จากโฆษณา อาทิ เยื่อหุ้มสเตดรายโคเวอร์ แผ่นซอฟต์ทัช แผ่นใยดรายวีฟ ดรายเมจิก ชื่อที่ยกตัวอย่างมานี้เป็นชื่อที่ผ้าอนามัยแต่ละยี่ห้อใช้เรียกส่วนที่ทำหน้าที่เป็นถุงห่อเยื่อกระดาษสำหรับซึมซับไว้ภายใน ถ้าดูที่แผ่นผ้าอนามัยจริง ๆ ก็จะเป็นส่วนผิวที่สัมผัสกับร่างกายผู้ใช้นั่นเอง ซึ่งเป็นด่านแรกที่สัมผัสกับของเหลวที่ออกจากร่างกาย และส่งผ่านลงสู่ส่วนล่าง ซึ่งเป็นส่วนที่จะดูดซับและอุ้มของเหลวไว้อีกทีหนึ่ง เติมที่เยื่อหุ้มเหล่านี้จะเป็นผ้าใยเทียมไม่ทอ จำพวกเรยอน (ดูเผิน ๆ จะคล้ายกระดาษ) จนเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ ผ้าอนามัยมีปีกยี่ห้อแรกก็ได้นำพลาสติกโพลิเอทธิลีน (PE) หรือบางยี่ห้อก็เปลี่ยนเป็นพลาสติกโพลิโพรพิวลีน (PP) ซึ่งพลาสติกทั้งสองชนิดนี้มีน้ำหนักเบา รับแรงอัดและแรงดึงได้ดี เป็นฉนวนไฟฟ้า ทนความเย็น ทนกรดและด่างได้ดี มาใช้เป็นส่วนหุ้มเยื่อกระดาษแทนผ้าใยเทียมไม่ทอ เพราะพลาสติกไม่ดูดซับความชื้น ทำให้ส่งผ่านความชื้นลงสู่ส่วนล่างได้เร็วขึ้น จึงรู้สึกแห้งสบาย สะอาด แต่ขณะเดียวกันก็มีผู้ใช้บ่นว่าผ้าใยเทียมไม่ทอจะให้สัมผัสที่นุ่มสบายกว่า ปัจจุบันจึงมีการผนวกแผ่นใยสองชนิดเข้าด้วยกัน
ไม่เพียงแต่ส่วนของเยื่อกระดาษหรือชนิดของผ้าห่อเยื่อกระดาษที่มีวิวัฒนาการ แม้แต่การปั๊มลายของแผ่นเยื่อด้านบนก็มีการค้นคว้าใหม่ ๆ เพื่อให้ซึมผ่านได้ดีและไม่ไหลย้อนกลับ เช่น รูปกรวย ช่องซิกแซ็ก จนต้องมีการจดลิขสิทธิ์เฉพาะของแต่ละผลิตภัณฑ์
อีกอย่างหนึ่งที่มีการเปลี่ยนแปลง ก็คือรูปร่างหน้าตาของผ้าอนามัย จากแบบห่วงเป็นแบบแถบปลาย จากแถบปลายเป็นแถบกาว จากแถบกาวรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าปลายเหลี่ยมเป็นปลายมน เป็นบอดี้ฟอร์มที่ด้านหน้ากว้าง ปลายเรียว ตรงกลางนูน เป็นแบบเว้าขอบขา และสุดท้ายเป็นแบบมีปีก เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้ผ้าอนามัยที่ว่า ต้องสวมสบายไร้รูปรอย ไม่ซึมเปื้อน และไม่ระคายเคืองนั่นเอง
ขอบคุณ : zone-it.com และ postjung