น้ำท่วมห่วงเด็ก วิธีป้องกันภัยจมน้ำ

น้ำท่วมห่วงเด็ก วิธีป้องกันภัยจมน้ำ


ช่วงนี้หลายจังหวัดของประเทศไทยประสบกับปัญหาน้ำท่วมอย่างรุนแรง คนเป็นพ่อเป็นแม่ต้องดูแลเด็กๆ ให้ห่างไกลภัยอันตรายที่เกิดจากน้ำท่วม
 
โดยเฉพาะการจมน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปี เสียชีวิตสูงเป็นอันดับหนึ่ง และสูงกว่าการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรถึง 2 เท่า โดยในแต่ละปีมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตถึงเกือบ 1,500 คนหรือเฉลี่ยวันละ 4 คน ซึ่งช่วงที่พบมากมักเป็นช่วงที่ตรงกับการปิดเทอมซึ่งตรงกับช่วงนี้ ร่วมกับการมีน้ำท่วม

ทุกปีกระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดให้วันเสาร์แรกของเดือนมีนาคมของทุกปีเป็นวันรณรงค์ป้องกันเด็กจมน้ำ และมีคำขวัญว่า เด็กทั่วไทย ปลอดภัย ไม่จมน้ำ โดยมีนโยบายเร่งป้องกันปัญหาดังกล่าว โดยจัดอบรมครูสอนทักษะการว่ายน้ำเพื่อเอาชีวิตรอด และวางแผนจะเผยแพร่ไปทุกจังหวัด ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 10 ปี เด็กที่อายุ 6 ปีขึ้นไป ต้องว่ายน้ำเป็นครบ 100 เปอร์เซ็นต์

พญ.พิมพ์ภัค ประชาศิลป์ชัย ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี (รพ.เด็ก) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า "จริงๆแล้วแค่เพียงระดับน้ำเพียง 1-2 นิ้ว ก็สามารถทำให้เด็กเล็กๆจมน้ำได้แล้ว  และเด็กส่วนมากมักจมน้ำบริเวณแหล่งน้ำใกล้บ้าน ดังนั้นพ่อแม่ควรดูแลเด็กๆ อย่างใกล้ชิด ไม่ควรปล่อยให้เด็กไปเล่นน้ำ จับปลา พายเรือ หรือว่ายน้ำตามลำพัง และควรให้เด็กๆยืนห่างจากขอบแหล่งน้ำเพื่อป้องกันการลื่นตกด้วย รวมถึงไม่ควรให้อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน เพราะความเย็นของน้ำจะทำให้เด็กเป็นตะคริวจมน้ำได้ โดยเฉพาะในสถานการน้ำท่วมแบบนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ ถ้าต้องเดินทางทางเรือก็ควรสวมเสื้อชูชีพให้เด็กๆตลอดเวลา"

กรณีที่มีเหตุจมน้ำเกิดขึ้น พญ.พิมพ์ภัค ระบุว่า ควรสอนไม่ให้เด็กลงไปช่วยเหลือกันเอง ควรบอกให้ผู้ใหญ่ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงช่วยเหลือแทน ขณะที่วิธีการช่วยเหลือเด็กจมน้ำ ถ้าเด็กรู้สึกตัวดี และหายใจเองได้ ควรเปลี่ยนเสื้อผ้าให้เด็ก และรีบเช็ดตัวเด็กให้แห้ง เพื่อให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย

แต่ถ้าเด็กหายใจเองไม่ได้หรือหัวใจหยุดเต้น ให้รีบทำการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น และรีบเปิดทางเดินหายใจ  โดยให้เด็กนอนราบกดหน้าผากและเชยคางขึ้นเบาๆ ถ้าเด็กยังไม่หายใจแต่ชีพจรยังเต้นอยู่ ให้ทำการเป่าปากต่อเพียงอย่างเดียว โดยทำ 20 ครั้ง/นาที และให้รีบนำเด็กส่งโรงพยาบาล ห้ามจับอุ้มพาดบ่า กระโดด หรือวิ่งรอบสนาม เพราะจะทำให้ขาดอากาศหายใจนานยิ่งขึ้น 

ที่สำคัญแม้ว่า เด็กๆจะว่ายน้ำเป็น ผู้ปกครองก็ไม่ควรปล่อยให้เด็กๆอยู่ตามลำพัง เพราะเด็กอาจได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษที่อาศัยอยู่ใต้น้ำ และถ้าเกิดอันตรายในระหว่างการเล่นน้ำ เด็กจะไม่สามารถแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้อย่างทันท่วงที

พญ.พิมพ์ภัค  บอกด้วยว่า อุบัติเหตุอื่นๆ ที่พบบ่อยในช่วงน้ำท่วม ได้แก่ ไฟดูด อุบัติเหตุจากการเหยียบของมีคม  อันตรายจากสัตว์มีพิษ เช่น งู ตะขาบ แมงป่อง ซึ่งหนีน้ำมาหลบในบริเวณบ้าน การป้องกันง่ายๆทำได้โดยไม่ให้เด็กๆเดินเท้าเปล่า ถอดปลั๊กอุปกรณ์ไฟฟ้า สับคัทเอาท์ตัดไฟฟ้าในบ้าน ก่อนที่น้ำจะท่วมถึง และเก็บกวาดขยะ  วัตถุแหลมคม  ในบริเวณบ้าน

ถ้ามีบาดแผลที่เกิดจากของมีคม ควรล้างแผลด้วยสบู่และน้ำสะอาด แล้วไปปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องและต้องตรวจเช็คว่าเด็กได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันบาดทะยักครบแล้วหรือยัง.

เครดิต :
เครดิต : เดลินิวส์ (อ่านความจริง อ่านเดลินิวส์)


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์