"สวัสดี...” “ไปไหนมา...” “สบายดีมั้ย...” “กินข้าวหรือยัง...”...คำทักทายแรกเมื่อเจอกันของคนไทยประมาณนี้ ยามนี้จมหาย-ลดน้อยไปในพื้นที่เกิดภัยน้ำท่วม-สุ่มเสี่ยงจะเกิดภัยน้ำท่วม คำทักทายแรกแปรเปลี่ยนเป็น ’น้ำท่วมมั้ย...“ ’น้ำท่วมแค่ไหน...“ ’น้ำลดหรือยัง...“ อะไรประมาณนี้ ไม่ว่าจะกับคนจนหรือคนรวย
วิกฤติการณ์น้ำท่วมเมืองไทยคราวนี้...ใหญ่หลวงนัก
ทว่า...ก็ใช่ว่าทุกสิ่งทุกอย่างจะจบสิ้นเลยในคราวนี้...
ท่ามกลางวิกฤติการณ์อันแสนสาหัส ก็ยังมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ฝ่าฟันทุกข์ได้อย่างน่าสนใจ คนมีบ้านใหญ่รถหรูจำนวนไม่น้อยที่เจอภัยน้ำท่วม อาจจะทุรนทุรายสุด ๆ เหมือนจะอยู่ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว แม้จะมีเงินเก็บอยู่ในแบงก์อีกมากโข แต่กับคนอยู่บ้านเล็กเดินย่ำต๊อกที่บ้านน้ำท่วมแทบมิดหลังคา แทบไม่เหลือเงินติดกระเป๋า จำนวนมากที่ยังฝืนยิ้มได้ แถมกลุ่มหลังนี้มีจำนวนไม่น้อยที่ยังอุตส่าห์อาสา-มีจิตอาสาช่วยคนอื่น ๆ
อารมณ์ขัน หลายคนอาจนึกไม่ออกแล้วว่าเป็นอย่างไร แต่อีกหลายคนยังมีใบหน้าเปื้อนยิ้มได้ เอิ๊กอ๊ากได้ แม้จะเห็นน้ำล้นทะลักท่วมอยู่ตรงหน้า อย่างบางคนที่อยู่ในเขตเมืองที่น้ำท่วมก็ยังเปรย ๆ ติดตลกได้ว่า...“ถ้ามีจระเข้หลุดมา อาจจะได้เห็นใครถ่อแพไม้ไผ่ ใช้เอ็ม 16 ไล่ยิงจระเข้ เพื่อป้องกันภัยให้ชาวบ้าน น่าสนุกอะ!!”
หรือบางคนที่อยู่ในกรุงเทพฯ ก็ระบายเครียดด้วยการระบายอารมณ์ขันได้น่าหยิก เช่นเขียนข้อความเกี่ยวกับบางหน่วยงานเฉพาะกิจ
ที่คงไม่ต้องบอกว่าหน่วยนี้ชื่ออะไร แล้วถ่ายรูปโพสต์ผ่านสังคมออนไลน์...“...โปรดอย่าตื่นตระหนก กรุณาใช้สติในการเตรียมการ ประชาชนมั่นใจ น้ำท่วมกรุงเทพฯ แน่ ขอให้...กลับบ้าน แล้วเก็บของไว้บนที่สูงด้วยครับ และขอให้ช่วยตัวเองก่อน ป.ล. ไม้ไผ่ที่จะเอามาแจกทำแพ กรุณาเก็บไว้ใช้เองนะ...บ้านหนูมีเรือยาง” ซึ่งดูแล้วนี่ก็มิใช่การต่อว่าต่อขานอะไร ขออย่าได้ซีเรียสหรือหมดกำลังใจทำงาน และใครฝ่ายใดก็อย่าได้เอาไปต่อความยาวเล่นเกม เพราะวิกฤติการณ์คราวนี้ไม่ว่าจะเป็นยุคใครบริหารยังไงมันก็คงต้องเกิด
ปลงกันเถอะคนไทยทำใจน้ำท่วมร่วมก้าวผ่านด้วยธรรม
สิ่งสำคัญคือ...จะสามารถแก้ไขฟื้นฟูได้เร็วได้ดีแค่ไหนซึ่งก็มีปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือ...พักแบ่งก๊กแบ่งฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันทำ เพลา ๆ การชิงซีน-พรีเซ็นต์เฟซ-พร่ำพูด...เน้นทำสิ่งควรทำ
ทั้งนี้ คำว่า ’คงต้องปลง“ ยามนี้หันไปทางไหนก็ได้ยินคนไทยเปรย ๆ ซึ่งก็อาจสะท้อนว่าที่สุดแล้วหลายคนก็ “ใช้ทางธรรมเข้าข่ม” ซึ่งก็ถือเป็นแนวทางที่ดี และจะยิ่งดีถ้ามีการใช้ “ธรรม” กันแพร่หลายโดยรวมในยามนี้ ทั้งกับคนที่เจอภัยและยังไม่เจอภัย จะยิ่งดีถ้ามีการเลือกใช้ธรรมได้อย่าง “เหมาะสมกับสถานการณ์”
อย่างที่ พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี หรือท่าน ว.วชิรเมธี ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ระบุไว้สรุปได้ว่า...’พระพุทธองค์ได้ตรัสเอาไว้ว่า ธรรมที่จะคุ้มครองโลกนั้น ก็คือพรหมวิหารธรรม“
“ท่ามกลางเพื่อนร่วมชาติของเราที่ลอยคออยู่ในทะเลแห่งความทุกข์จำนวนมากเวลานี้นั้น ถ้ามองอย่างตรงไปตรงมาสิ่งนี้ก็เป็นวิกฤติ ซึ่งเป็นความทุกข์มวลรวมประชาชาติก็ว่าได้ อย่างไรก็ตาม ถ้ามองในทางธรรม ท่ามกลางวิกฤตินี้เราก็สามารถพลิกให้เป็นโอกาสได้ นั่นคือเป็นโอกาสที่เราคนไทยจะได้มาหลอมรวมน้ำใจไทยให้เป็นหนึ่ง กล่าวคือ เราจะได้โอกาสในการทอดกฐินน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วมท่ามกลางเคราะห์ก็ยังมีโชคดี ถ้าเรารู้จักมองสถานการณ์ด้วยสติปัญญา”...ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ระบุไว้ พร้อมทั้งยังบอกไว้อีกว่า...
“พรหมวิหาร” ประกอบไปด้วย...หนึ่ง ในยามปกติให้ เมตตา คืออยู่กันด้วยความรัก มองไปทางไหนก็เห็นคนทั้งโลกเป็นมิตร, สอง ในยามมีวิกฤติ ให้ กรุณา คือลุกขึ้นมาช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน, สาม เมื่อยามที่ใครก็ตามได้ดิบได้ดีมีความสุข ให้เราพลอย มุทิตา ไม่ใช่อิจฉา คือเปิดจิตเปิดใจให้กว้าง รื่นเริงบันเทิงใจกับความก้าวหน้าของคนอื่น และสี่ ในสถานการณ์ที่คนขัดแย้งกับธรรมะ ให้เราวางใจเป็นกลาง ก็คือ อุเบกขา นั่นเอง ไม่เลือกเข้าข้างคน แต่ให้ทำหน้าที่ของธรรมอย่างตรงไปตรงมา นี่คือธรรมที่จะสร้างสรรค์อภิบาลโลก
ผู้อำนวยการสถาบันวิมุตตยาลัย ระบุอีกว่า...“การช่วยให้เราคนไทยพ้นทุกข์ ก็ทำได้ 3 ระดับด้วยกัน 1. แก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการสงเคราะห์ซึ่งกันและกันอย่างไม่ต้องรอ, 2. ในระยะยาวก็คือ ต้องเยียวยาและต้องฟื้นฟูให้ผู้ที่ประสบอุทกภัยได้มีจิตใจที่เข้มแข็ง อดทน พร้อมที่จะเผชิญชีวิตต่อไป และ 3. ในอนาคตก็ต้องช่วยกันถอดบทเรียน เรียนให้รู้ว่าสถานการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อไม่ให้เราก้าวผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำอีก”
’เวลานี้นั้น ธรรมที่เราควรปฏิบัติก็คือเมตตาและกรุณา...ช่วยซึ่งกันและกันให้พ้นออกมาจากความทุกข์...“ ...นี่เป็นอีกการระบุของ ท่าน ว.วชิรเมธี ซึ่งสถาบันวิมุตตยาลัยก็อาสาเป็นสื่อกลางทอดกฐินน้ำใจช่วยภัยน้ำท่วม โดยติดต่อสอบถามได้ที่ โทร. 08-5663-2636, 08-4173-5220, 08-7929-2701, 08-9200-5172
ทั้งนี้ “ธรรมช่วงน้ำท่วม” ตามที่ท่าน ว.วชิรเมธี ระบุ ถือว่าน่าพิจารณานำไปใช้มาก นอกเหนือจากการ “ปลง” เฉย ๆ นอกเหนือจากที่คนไทยไม่น้อยบอกตัวเองว่า...’ที่นี่ประเทศไทย เกิดเป็นคนไทยต้องอดทน“
’ปลงกันเถอะคนไทย ทำใจรับน้ำท่วม“
แล้วก็...’ร่วมกันก้าวผ่านไปด้วยธรรม“.