ยาบำรุงสมอง-ลดผลกระทบอดนอน
คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย สหรัฐ อเมริกา พัฒนายาช่วยรักษาอาการความจำเสื่อมและเรียนรู้ช้า ซึ่งเกิดจากการอดนอน เบื้องต้นทดลองในหนูเป็นไปด้วยดี และมีแผนพัฒนายาสำหรับใช้ในคนต่อไป
นักวิจัยทดลองกับหนู 2 กลุ่ม กลุ่มแรกได้นอน 5 ชั่วโมง อีกกลุ่มถูกกวนไม่ให้นอน จากนั้นให้หนูลองทำกิจกรรมทดสอบขั้นพื้นฐานที่เคยฝึกให้ทำมาแล้ว พบว่า หนูอดนอนทำคะแนนไม่ดี โดยผลการวิเคราะห์สมองส่วนฮิปโปแคมปัสที่ใช้ในการจำและเรียนรู้ พบว่า หนูอดนอนมีระดับเอนไซม์ PDE4 เพิ่มขึ้น และมีโมเลกุล cAMP ลดลง นักวิจัยจึงให้หนูกลุ่มนี้กินยาโรลิแพรม หรือยารักษาอาการซึมเศร้าที่ขัดขวางการทำงานของเอนไซม์ PDE4
ผลลัพธ์ปรากฏว่า เอนไซม์ PDE4 ลดลง แต่โมเลกุล cAMP กลับเพิ่มขึ้น ซึ่งโมเลกุลตัวนี้ถ้ามีมากจะช่วยสร้างเครือข่ายเซลล์สมองด้านการเรียนรู้ และเมื่อให้หนูอดนอนทำแบบทดสอบหลังกินยาพบว่าทำได้ดีขึ้นแม้ไม่เท่าหนูที่ได้นอนเต็มที่ก็ตาม
"งานวิจัยนี้ช่วยให้รู้ข้อมูลมากขึ้นว่าเกิดอะไรขึ้นในสมองเมื่ออดนอน แต่สิ่งสำคัญควรมุ่งไปที่การหาทางทำให้นอนหลับเพียงพอตั้งแต่แรก มากกว่าตามไปแก้ไขผลจากนอนไม่พอ" ดร.นีล สแตนลีย์ ผู้เชี่ยวชาญปัญหาการนอนหลับ โรงพยาบาลนอร์โฟล์กและนอริช ประเทศอังกฤษ ให้ความเห็น