เตือนผู้ประสบภัยเสี่ยงกระดูกพรุน

เตือนผู้ประสบภัยเสี่ยงกระดูกพรุน


และแล้วเราก็ได้เห็นโฉมหน้าของหนูน้อยชาวฟิลิปปินส์ เป็นเจ้าของตัวเลขประชากรโลกคนที่ 7,000,000,000


ตัวเลข 7,000,000,000 ทำให้หลายๆ คนต้องถึงกับถอนหายใจ แม้ว่าจะหักลบกลบหนี้จำนวนผู้ที่เสียชีวิตไปในแต่ละปีแล้ว แต่ยังถือว่าเป็นตัวเลขที่มากเหลือเกิน


ปัญหาอย่างหนึ่งเป็นที่น่าวิตกนอกเหนือจากเรื่องของวิกฤตอาหารโลก คือ การขาดแคลนประชากรคนหนุ่มสาว พร้อมกับการก้าวเข้าสู่ยุคของผู้สูงวัยอย่างเต็มรูปแบบ


การเตรียมการเรื่องสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับประชากรสูงอายุซึ่งมีจำนวนมากเป็นสิ่งหนึ่งที่หลายๆ ประเทศให้ความสำคัญ ขณะที่เรื่องของสุขภาพเป็นอีกสิ่งที่มิควรมองข้าม


นอกเหนือจากโรคมะเร็ง เอดส์ เบาหวาน ฯลฯ ประดาโรคที่ติดอันดับท็อปเท็น ท็อปไฟว์ โรคที่สร้างความทนทุกข์ทรมานให้กับผู้คนบนโลกใบนี้ปีละมากต่อมากคือ  "กระดูกพรุน" ฟังดูอาจจะไม่ร้ายแรง ไม่ใช่โรคที่คร่าชีวิตผู้ป่วยไปอย่างปุบปับก็จริง แต่ผู้ป่วยโรคกระดูกพรุนมีความเสี่ยงเหมือนแก้วที่เปราะบาง พร้อมที่จะแตกได้ทุกเมื่อ เพราะเพียงแค่ขยับออกกำลังผิดท่าผิดทาง กระดูกก็สามารถแตกหักได้ในทันที เนื่องจากกระดูกพรุนเกิดจากสภาวะที่สูญเสียความแข็งแรงของกระดูก ซึ่งปกติแล้วภายในโพรงกระดูกจะมีเส้นใยจำนวนมาก ทำให้สภาวะของกระดูกแข็งแรงแต่เมื่อใดที่โพรงกระดูกมีเส้นใยน้อยลง กระดูกก็จะอ่อน และพร้อมที่จะหักลงได้ทุกเมื่อกระดูกพรุน จึงหมายถึงภาวะที่มีเส้นใยในโพรงกระดูกน้อยลง ทำให้รับน้ำหนักได้น้อย และมีโอกาสที่จะหักง่าย


ซึ่งคนที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุนก็คือ คนสูงอายุ โดยเฉพาะเพศหญิง ที่หมดประจำเดือนก่อนอายุ 40 ปี, ถูกตัดรังไข่ 2 ข้าง ก่อนอายุ 45 ปี,เกิดภาวะเอสโตรเจนต่ำ ก่อนหมดประจำเดือน,มีภาวะเสียมวลกระดูกอย่างรวดเร็ว เนื่องจากการขาดฮอร์โมน ทำให้เป็นโรคกระดูกพรุน ก่อนอายุ60 ปี


มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทยในปี 2553 ว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุยืน 100 ปีขึ้นไปจำนวน 13,692 คน ทั่วประเทศมีผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไป 8 ล้านกว่าคนคิดเป็นร้อยละ 12 ของประชากร และในอีก 19 ปีข้างหน้า คือ ปี 2573 ไทยจะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรประเทศ


นพ.บุญวัฒน์ จะโนภาษ ศัลยกรรมกระดูกและข้อ คลินิก "ศูนย์แพทย์พัฒนา" บอกว่า ปัจจุบันอัตราอายุเฉลี่ยของคนเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งที่น่าเป็นห่วงโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่คนไทยต้องเผชิญกับวิกฤตอุทกภัย


"ในช่วงภาวะน้ำท่วมมีผู้สูงอายุได้รับอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น บางคนถึงกับกระดูกสันหลังยุบตัวเพราะไปช่วยคนในครอบครัวยกของหนักเพื่อหนีน้ำ ยกของขึ้นที่สูง บางคนเดินไปสะดุดล้ม หรือลื่นหกล้ม กระดูกมือหัก กระดูกเท้าหัก และมีคนไข้ที่กระดูกหลังยุบ เนื่องจากไปช่วยลูกหลานยกของ"


อีกปัจจัยหนึ่งที่น่าห่วงสำหรับผู้สูงอายุในขณะนี้คือควรระวังเรื่องการดูแลเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยงเนื่องจากบางทีเด็กเล็กจะเล่นกับคุณยายคุณย่ารุนแรง หรืออย่างการอุ้มเด็กผิดท่าผิดจังหวะก็ทำให้บาดเจ็บ เกิดอาการกระดูกสันหลังยุบตัว หรือข้อมือข้อเท้าหักได้ ผู้สูงอายุบางคนจูงสุนัขแล้วสายจูงพันล้มลง ทำให้กระดูกหักได้


นพ.บุญวัฒน์ บอกอีกว่า ปัจจุบันหญิงและชายที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป มีภาวะเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วงของอุทกภัย ที่คาดว่าจะใช้ระยะเวลายาวนานหลายเดือน จะส่งผลทำให้ผู้สูงอายุได้รับแคลเซียมไม่เพียงพอ เนื่องมาจากการรับประทานอาหารน้อย กินไม่ครบ 5 หมู่  บางคนไม่สามารถออกจากบ้านพักอาศัย ทำให้โอกาสที่จะได้รับแสงแดด หรือออกกำลังกายน้อยลงซึ่งเป็นที่มาของโรคกระดูกพรุน


"ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นโรคกระดูกพรุนโดยไม่รู้ตัวและไม่แสดงอาการ ต่อเมื่อเกิดการหักของกระดูก หรือกระดูกยุบตัว จากอุบัติเหตุจึงได้รู้ความจริง ซึ่งขั้นตอนของการรักษาทำได้ยากถึงแม้จะมีหลายวิธี แต่ก็ไม่หายขาดเหมือนเก่า"


วิธีการรักษาโรคกระดูกพรุนมีทั้งการรับยา การทานยาแคลเซียมเพื่อเสริมความแข็งแรงของกระดูก การเข้าเฝือก การดามเหล็กหรือการฉีดซีเมนต์ เมื่อมีอาการกระดูกแตกหรือหักหรือยุบตัว


ทั้งนี้ สามารถป้องกันไว้ก่อน โดยการปรับพฤติกรรมของผู้สูงอายุ กล่าวคือควรจะต้องมีการออกกำลังกายเบาๆ เช่น การยืดแขน ยืดขาให้สุดหลายๆ ครั้ง เพื่อให้การทรงตัวดีขึ้น และจะต้องรับประทานอาหารให้ครบหลัก 5 หมู่ ตามสูตร"ส่งเสริม ป้องกัน รักษาและฟื้นฟู"รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม หรือปลาเล็กปลาน้อย ผักใบเขียว กะปิ กุ้งแห้ง หรือยาแคลเซียมที่แพทย์จ่ายให้ ที่แพทย์จ่ายให้


ส่วนผู้ป่วยที่เป็นโรคกระดูกพรุนอยู่แล้ว แพทย์อาจจ่ายยาที่ช่วยเพิ่มมวลกระดูกให้ด้วย ซึ่งยาเหล่านี้ต้องรับประทานอย่างต่อเนื่องและอยู่ในการดูแลของแพทย์ เพราะหากผู้ป่วยไม่ได้รับประทานยาอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ประสิทธิผลของยา ในการลดการหักของกระดูกไม่ได้ผลเท่าที่ควร


นพ.บุญวัฒน์ย้ำว่า ทางที่ดีเราควรจะรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้เพียงพอตั้งแต่วันนี้ซึ่งคำว่า "เพียงพอ" นั้น คุณหมออธิบายเพิ่มเติมว่าขึ้นอยู่กับวัยด้วย


เนื่องจากในภาวะปกติร่างกายเราจะสร้างและทำลายกระดูกเท่าๆ กัน ซึ่งอายุเฉลี่ยของการดูดซึมแคลเซียมเพื่อการสร้างเส้นใยในโพรงกระดูกจะอยู่ที่อายุ 35 ปี หลังจากนั้นมวลกระดูกจะลดน้อยลง และมีการทำลายมากกว่าสร้างกระดูก โดยเฉพาะผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนเพราะไม่มีการผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจน


เช่นเดียวกัน ในบุรุษ เมื่อหยุดการผลิตฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน คืออายุในราว 40-60 ปี


อธิบายเหมือนๆ กับการฝากเงินธนาคาร ตั้งแต่เด็กจนถึงอายุราว 35 ปี ร่างกายเมื่อรับแคลเซียมเข้าไปเท่าไหร่จะดูดซึมแคลเซียมเข้าไปเท่านั้น แต่หลังจากอายุ 35 ปีไปแล้ว แม้จะรับแคลเซียมเข้าไปมาก แต่ร่างกายก็จะรับได้เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นการที่เราเริ่มรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยแคลเซียมไปตั้งแต่อายุยังน้อยจึงเหมือนกับการฝากเงินเก็บไว้ในธนาคาร ซึ่งเมื่อยามชราสิ่งที่สั่งสมไว้แต่ต้นนั้นจะช่วยให้กระดูกแข็งแรงเพียงพอ ไม่หักง่าย


ภาวะของการเสียมวลกระดูกยังมีเหตุปัจจัยอื่นอีก เช่น กรรมพันธุ์ อย่างโรคเอสแอลอี โรครูมาตอยด์ ซึ่งเป็นโรคที่ต้องใช้ยาสเตียรอยด์ อันเป็นยาที่เพิ่มการสลายแคลเซียม รวมทั้งโรคไต ซึ่งส่งผลให้ประสิทธิภาพในการดูดซึมแคลเซียมเสียไป


ที่น่าสนใจคือ ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องการออกกำลังกาย และควรพาตัวเองออกไปรับแสงแดด โดยเฉพาะแสงแดดในยามเช้าสัก 10 นาทีจะดีมาก เนื่องจากในแสงแดดมีวิตามินดี ที่เปลี่ยนไขมันใต้ผิวหนังเป็นแคลเซียมและกระตุ้นลำไส้ให้ดูดซึมแคลเซียมได้ดี


เมื่อร่างกายได้รับแคลเซียมอย่างเพียงพอ จะเป็นเกราะป้องกันโรคกระดูกพรุนในวันข้างหน้าได้ในระดับหนึ่ง


เครดิต :
เครดิต :เนื้อหาข่าว คุณภาพดี หนังสือพิมพ์มติชน


ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์