วิธีการซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลดนั้น ไล่ตั้งแต่พื้น ผนัง หลังคา ซึ่งแต่ละพื้นที่มีความเสียหายไม่เท่ากัน บางพื้นที่น้ำเข้าท่วมภายในบ้าน บางพื้นที่น้ำไม่เข้า หรือเข้าถึงแล้วอาจมีระดับน้ำสูง-ต่ำไม่เท่ากัน ความเสียหายก็ไม่เท่ากัน โดยเราเริ่มตรวจสอบบ้านจาก ภายนอกบ้าน ก่อน คือ
1. ถนนในบ้าน ถ้าหากเกิดการแตก ต้องลอกหน้าออกแล้วเทพื้นใหม่ แต่ต้องทำตอนที่ถนนและชั้นดินแห้งสนิท เพื่อไม่ให้ทรุดตัว
2. ต้นไม้รอบบ้าน ไม่ว่าจะเป็นต้นหญ้า ต้นไม้ประดับ ต้องรื้อทิ้งแล้วปลูกใหม่ทั้งหมด เพราะต้นไม้ที่อยู่ในบริเวณที่น้ำเน่าเสียเป็นเวลานานนับเดือน มันจะส่งกลิ่นเหม็นเน่ามาก ยกเว้นในกรณีต้นไม้ที่ทนน้ำได้ เช่น ต้นโมก ต้นหูกระจง ต้นลีลาวดี เป็นต้น (บ้านผู้เขียนแถวแจ้งวัฒนะ 14 ต้นไม้เหล่านี้ยังสวยงามอยู่)
3. อย่าลืมลงน้ำยาฆ่าปลวกใหม่ เพราะน้ำยาเดิมหรือผงหรือโฟมที่ฆ่าปลวกได้สลายไปหลังน้ำลดแล้ว ปลวกต้องกลับมาใหม่แน่นอน
4. งานไฟฟ้านอกตัวบ้าน ควรรื้อและทำใหม่
5. งานสีผนังภายนอก ห้ามทาทันที ต้องล้างบริเวณที่ล้างตะไคร่คราบสกปรก และควรจะขูดออกก่อนและทิ้งไว้ให้แห้ง ก่อนที่จะทารองพื้นปูนเก่าและทาสีจริงทับอีกสองเที่ยว
6. บ่อพักภายนอกต้องดูดน้ำทิ้งออกให้หมด ล้างโคลนออกและกำจัดเศษขยะให้สะอาด
7. ถังบำบัดของเสีย ต้องดูดทิ้งและใส่จุลินทรีย์เพิ่ม
8. ถังเก็บน้ำใต้ดิน ควรจะเลิกใช้และให้ใช้ถังเก็บน้ำบนดินแทน
9. ควรตรวจประตูรั้วด้วย สำหรับที่เป็นเหล็กก็ขูดสนิมออกให้หมด แล้วทาสีใหม่ ส่วนบานพับก็หาน้ำมันหล่อลื่นมาหยอดเพื่อที่จะได้เปิด-ปิดได้สะดวก ถ้าหากเป็นประตูรีโมตรั้ว ต้องควรระวังไฟรั่ว และเรียกช่างมาเปลี่ยนใหม่
คิดดี : การซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด
ภายในบ้าน
1. พื้นบ้านล้างให้สะอาด ถ้าเป็นพื้นกระเบื้อง หากไม่แตกก็สามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่หากเกิดการแตกของกระเบื้องต้องลอกทิ้งเกือบทั้งหมด หรือทั้งหมด และทิ้งให้พื้นแห้งและลอกหน้า ก่อนปูกระเบื้องใหม่
2. พื้นไม้ปาร์เกต์ ไม้จะหลุดล่อนง่ายเมื่อโดนน้ำท่วม เพราะติดกับพื้นคอนกรีตด้วยกาว วิธีแก้ก็คือ ถ้าแผ่นปาร์เกต์ไม่เสียหายมากก็ผึ่งลมให้แห้งก่อน รวมถึงพื้นคอนกรีตด้วย แล้วจึงทาด้วยกาวลาเท็กซ์ หนา 1-2 มิลลิเมตร ค่อย ๆ กดลงไปที่เดิมให้แน่น ทิ้งไว้อย่างน้อย 15 วันจึงใช้งานได้ ถ้าเสียหายมากจะเปลี่ยนใหม่ต้องใช้ไม้ชนิดเดียวกับของเดิม
3. ผนังแตกร้าวต้องโป๊ว putty หรืออะคริลิก ทาสีใหม่ทั้งหมด แต่ต้องล้างทำความสะอาด ทิ้งไว้ให้แห้งก่อนเริ่มลงมือทำ
4. วอลเปเปอร์ต้องลอกทิ้ง ติดตั้งใหม่ โดยเฉพาะบริเวณที่มีเชื้อรา ต้องขูดออกทั้งหมด
5. ผนังเบาที่เกิดอาการปูดบวม ให้เจาะซ่อมและทาสีใหม่
6. หลังคารั่วก็ต้องเช็กความชัน ว่าชันถูกต้องไหม ถ้าน้อยไปให้แก้ที่จันทัน เก้าจันทันได้ ต้องไปรื้อแผ่นที่มีปัญหา แก้ทีละจุด บางที่อาจจะรั่วจากลูกหมุนระบายอากาศ ต้องติดแผ่นรองข้างใต้หลังคา
7. สุขภัณฑ์ ท่อน้ำทิ้ง ให้หยอดจุลินทรีย์ ล้างท่อและขัดให้สะอาด ถ้าแตกต้องเปลี่ยนใหม่
8. กรณีที่น้ำท่วมถึงฝ้า ถ้าเป็นฝ้าเพดานยิปซัมบอร์ด หรือกระดาษอัด ถ้าเปื่อยยุ่ยมากเพราะอมน้ำ ก็ควรเลาะออกแล้วจึงเปลี่ยนแผ่นใหม่เลย ทิ้งไว้ให้ทั้งหมดแห้งสนิทจริง ๆ แล้วจึงทาสีทับ อย่างเช่น ลำลูกกา บางบัวทอง
9. ประตูภายใน ถ้าเป็นไม้จริงแช่น้ำไม่นานมาก ก็รอให้ไม้หดตัว ขัดลอกสีเก่าแล้วทาสีใหม่แค่นี้ก็สามารถใช้งานได้แล้ว หากประตูเกิดอาการบิดตัวมาก ก็ต้องเปลี่ยนใหม่ ประตูที่ทำจากไม้อัด จะลอกหน้าบิดหมดต้องเปลี่ยนใหม่
10. เช็กระบบงาน ซีซีทีวี งานประตู รีโมต ไฟฟ้าสำรอง ปั๊มน้ำ ต้องตรวจสอบว่าต้องซ่อมแซมหรือซื้อใหม่อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เตาอบ โต๊ะ-เก้าอี้ ฯลฯ เขื่อนกั้นรอบบ้าน ก่อนอื่นต้องทิ้งเอาไว้ให้แห้งสนิทจริง ๆ บางส่วนถึงถอดออกได้ ก็ควรเปิดออกมาตากลมให้แห้งก่อน และถ้าแห้งสนิทแล้ว ก็ลองเปิดเครื่องดู ถ้ามีความผิดปกติก็ควรดับเครื่องทันที หากผุมากจนใช้การไม่ได้ก็ขายซาก ถ้าซ่อมได้ก็ซ่อม แต่ต้องระวังสัตว์ร้ายต่าง ๆ ที่แอบแฝงหรือซ่อนอยู่ตามตู้ตามซอกต่าง ๆ ภายในบ้านด้วย.