ใครรู้บ้างว่าอินเทอร์เน็ตที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ทั่วทั้งโลกมีขนาดกี่ล้านหน้า
อันที่จริงไม่มีใครรู้เหมือนกันว่ามีกี่เว็บไซต์แล้ว และแต่ละเว็บไซต์ มีกี่เว็บเพจหรือกี่หน้าเว็บ ซึ่งเวลาเราท่องเข้าไปในโลกอินเทอร์เน็ตก็เหมือนไม่รู้จักจบเช่นเดียวกับดวงดาวในจักรวาล แต่ เควิน เคลลี่ ผู้ก่อตั้งแม็ก กาซีนชื่อ ไวร์ด (Wired) ได้เขียนเอาไว้ว่า “เว็บทั่วทั้งโลกมีประมาณไม่ต่ำกว่าล้านล้านหน้าเว็บ แต่สมองคนมีแค่พันล้านนิวรอน” แต่ถ้าเทียบกับระบบสมองมนุษย์ที่มีเส้นใยเครือข่ายของนิวรอนเชื่อมต่อแบบไซแนพทิค (Synaptic) ไปยังนิวรอนอื่น ๆ จำนวนนับพัน กับเว็บเพจซึ่งเชื่อมต่อไปยังหน้าอื่น ๆ อีก 60 หน้า ก็จะได้ประมาณล้านล้านไซแนพซิส (Synapses) ระหว่างหน้าบนเว็บที่ไม่มีการเคลื่อนไหว นั่นคือ สมองมนุษย์ก็จะใหญ่กว่าการเชื่อมต่อของเว็บโลกประมาณ 100 เท่า สมองเราโตกว่าก็จริง แต่เว็บโลกอินเทอร์เน็ตจะโตเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุก 2 ถึง 3 ปี
กลุ่มที่จะมาเริ่มสร้างตัวชี้วัดขนาดของระบบอินเทอร์เน็ตโลกในมิติต่างๆ หลายรูปแบบคือ กลุ่มเวิลด์ไวด์เว็บ (World Wide Web) ก่อตั้งโดย ทิม เบอร์นเนอร์ลี ซึ่งเป็นคนที่ยอมรับกันว่าเป็นผู้สร้างระบบอินเทอร์เน็ต จะเป็นผู้มาวัดขนาดของอินเทอร์เน็ตโลก โดยได้รับเงินสนับสนุนจากกูเกิล 30 ล้านบาท
สตีฟ แบรทท์ ซีอีโอของมูลนิธิฯ จะเริ่มโครงการสร้างหน่วยวัดขึ้นมาเรียกว่า “ดัชนีเวิลด์ไวด์เว็บ” ในปีหน้า
บางทีเรียกสั้น ๆ ว่า “ดัชนีเว็บ” จะเป็นตัววัดในหลายมิติครั้งแรกของโลก ตัววัดนี้จะทำให้ทราบผลกระทบต่อประชาชนและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกได้ด้วย โดยมีการสร้างข้อมูลสารสนเทศเชิงเปรียบเทียบของแนวโน้มต่าง ๆ ตามเวลาและจะมีการสร้างระดับเทียบเคียงของผลการดำเนินการของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แบรทท์ได้กล่าวว่า ดัชนีเว็บเหล่านี้อาจจะไม่สามารถตอบคำถามทุกคำถามของคนทั้งโลกเกี่ยวกับเรื่องอินเทอร์เน็ตได้ทั้งหมด แต่จะนำเสนอดัชนีนี้ในรูปแบบของชุดรายงานประจำปี แล้วค่อย ๆ ไปอุดช่องว่างที่คนสงสัย
วิธีการวัดผลเหล่านี้คงไม่ได้ทำแบบตรงไปตรงมา โดยเอาไม้บรรทัดไปวัดว่าเว็บโลกมีความกว้าง ยาว ลึก เท่าไหร่
แต่จะใช้วิธีวิจัยตั้งคำถามจากประชาชน แล้วก็จะไปเก็บข้อมูลจากผู้ให้บริการทางอินเทอร์เน็ต รัฐบาลประเทศต่าง ๆ แล้วก็กูเกิลเพื่อหาคำตอบว่า อินเทอร์เน็ตโลกมีขนาดเท่าไหร่ แล้วใช้ข้อมูลสารสนเทศเหล่านี้ทดสอบกับเว็บไซต์บริการสังคมต่าง ๆ ว่า มีผลกระทบจนทำให้เกิดการปฏิวัติในหลายประเทศแถบตะวันออกกลางได้อย่างไร แล้วก็จะดูอีกว่าเว็บไซต์ที่คนทั่วโลกต้องการเข้าไปดูจะเป็นประเภทใด เว็บอะไรที่อยู่ได้ และแนวโน้มของอินเทอร์เน็ตในแต่ละประเทศ ในแต่ละแถบภูมิภาคจะเป็นเช่นไร แตกต่างกันอย่างไร แบรทท์กล่าวว่าต้นปีหน้าจะมีผลการรายงานของดัชนีชี้วัดเว็บออกมา 5 เล่ม ด้วยกัน
ผมว่า น่าสนใจมาก เราจะยังสามารถใช้ประโยชน์จากดัชนีเว็บโลกได้อีกมากมาย ผมคงจะรออ่านแน่นอน แล้วก็จะนำมาสรุป เสนอให้ท่านผู้อ่านว่ามีอะไรบ้างที่น่ารู้ไว้.
รศ.ดร.บุญมาก ศิริเนาวกุล
อินเทอร์เน็ตทั้งโลกมีกี่หน้า?
อินเทอร์เน็ตทั้งโลกมีกี่หน้า?