การกลับเข้าบ้าน หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย จำเป็นต้องตรวจสอบคุณภาพยาสามัญประจำบ้านด้วย เพราะการนำยาที่เสื่อมสภาพ เสีย หรือหมดอายุไปใช้หรือรับประทาน อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพได้
ทั้งนี้ ระหว่างการเสวนา เข้าบ้านหลังน้ำลดอย่างไร...ให้ปลอดภัย
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้เผยวิธีสังเกตคุณภาพของยาประเภทต่างๆ ที่มีใช้กันโดยทั่วไปในแต่ละบ้าน เริ่มจาก "ยาเม็ดหรือยาแคปซูลแบ่งบรรจุ" ต้องไม่มีสีและลักษณะเปลี่ยนแปลงไป เช่น รอยด่าง เม็ดยาบวม แคปซูลไม่ติดกัน กลิ่นไม่แปลกไปจากเดิม ซึ่งโดยทั่วไปยาเม็ดแบ่งบรรจุจะมีอายุประมาณ 6 เดือน นับจากวันที่ได้รับยาแบ่งบรรจุ
ด้าน "ยาเม็ดหรือยาแคปซูลในแผงบรรจุสำเร็จรูป" ลักษณะบรรจุภัณฑ์ แผงยาต้องไม่มีรอยฉีกขาด ยังอยู่ในสภาพที่ดี และยายังไม่หมดอายุ
สำหรับ "ยาน้ำ" ลักษณะของสี กลิ่น รส ปกติ ไม่มีลักษณะขุ่น ไม่มีตะกอน หรือสิ่งแปลกปลอมในยา รวมทั้งบริเวณฝาขวด-ปากขวด และภายในบรรจุภัณฑ์ต้องไม่มีตะกอนหรือผลึกน้ำตาลเกาะอยู่
ขณะที่ "ยาแขวนตะกอน" จะต้องไม่เกิดก้อนแข็ง สามารถเขย่าแล้วกลับมาแขวนลอยได้อีก รวมถึงสี กลิ่น รส ต้องไม่เปลี่ยนแปลง ส่วน "ยาครีม" ลักษณะของครีมต้องคงเดิม ทั้งความข้นหนืด สี กลิ่น
สุดท้าย "ยาขี้ผึ้ง" ต้องไม่มีของเหลวแยกออกมาจากยาขี้ผึ้ง ความข้นหนืดคงเดิม ไม่มีเม็ดหยาบในยาขี้ผึ้งที่แสดงถึงการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์
ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง ที่โดยปกติจะต้องรับประทานยาเป็นประจำ แต่ขาดยาในช่วงน้ำท่วม ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจร่างกายหลังน้ำลดและสามารถเดินทางได้ เนื่องจากแพทย์อาจต้องปรับยาให้เหมาะสมกับสภาวะของผู้ป่วย และเพื่อควบคุมอาการของโรค จะเป็นการดีกว่าที่ตัวผู้ป่วยจะหาซื้อยาเดิมมารับประทานเองหลังการขาดยาไป.