นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ในช่วงฤดูหนาวทุกปี ประชาชนจะป่วยเป็นไข้หวัดกันมาก
เนื่องจากสภาพอากาศแห้ง และเชื้อไวรัสเจริญเติบโตได้ดีกว่าฤดูกาลอื่นๆ กระทรวงสาธารณสุขได้เตือนประชาชนทุกปี ในปีนี้ได้ให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเฝ้าระวังโรคจากภัยหนาว โดยเฉพาะ ไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดนก และให้เพิ่มเติมการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ไอโอวา 2011 ซึ่งเป็นเชื้อที่พัฒนามาจากไข้หวัดใหญ่ 2009 มีรายงานเริ่มตรวจพบในประเทศสหรัฐอเมริกาในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตามแม้ไม่มีรายงานพบผู้ป่วยจากไข้หวัดใหญ่ไอโอวา 2011 ในประเทศไทยก็ตาม แต่เป็นเรื่องที่กระทรวงสาธารณสุขให้ความสำคัญ
ได้ตั้งคณะทำงาน 1 ชุดติดตามสถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ไอโอวา 2011 อย่างใกล้ชิด โดยร่วมมือทางวิชาการด้านด้านสาธารณสุขระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา และเครือข่ายการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดใหญ่ขององค์การอนามัยโลกด้วย เพื่อเป็นประโยชน์ในระบบการเฝ้าระวัง การป้องกันโรค และการดูแลผู้ป่วย จากการติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดไข้หวัดดังกล่าว ในสหรัฐอเมริกา พบว่ายังไม่น่าวิตก สถานการณ์ยังไม่รุนแรง พบผู้ป่วย 18 ราย ไม่พบการระบาดในวงกว้าง ไม่มีรายงานเสียชีวิต และรักษาได้ด้วยยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์และซานามิเวียร์
นายแพทย์ไพจิตร์กล่าวต่อว่า มาตรการเฝ้าระวัง การดูแลผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ของไทย ขณะนี้เรามีความพร้อมทั้ง 3 ด้าน
คือยารักษา การตรวจยืนยันเชื้อทางห้องปฏิบัติการ และบุคลากรทางการแพทย์มีประสบการณ์ในการดูแลผู้ป่วยที่เป้นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ซึ่งขณะนี้ได้สำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามิเวียร์ และซานามิเวียร์ ซึ่งรักษาได้ทั้ง 2โรค ในโรงพยาบาลทุกแห่งอย่างเพียงพอ และใช้รักษาได้ผลดี ไม่มีปัญหาเชื้อดื้อยา
อย่างไรก็ดี ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่มาแล้วและกลุ่มที่ไม่ได้ฉีด ขอให้ป้องกันการติดเชื้อไข้หวัดใหญ่
โดยล้างมือบ่อยๆ หลังจากสัมผัสสิ่งของสาธารณะที่ใช้ร่วมกันบ่อยๆเช่นปุ่มลิฟต์ บันไดเลื่อน ลูกบิดประตู เป็นต้น ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ สำหรับประชาชนทั่วไป หากป่วยเป็นไข้หวัดใหญ่ คือมีอาการไข้สูง หนาวสั่น ปวดเมื่อยตามตัว ไอแห้งๆ เจ็บคอ ขอให้หยุดงานหรือหยุดเรียนจนกว่าหายเป็นปกติ หลีกเลี่ยงการคลุกคลี ใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น สวมหน้ากากอนามัย ผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง รับประทานอาหารได้ สามารถดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน โดยกินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ ดื่มน้ำมากๆ รักษาร่างกายให้อบอุ่น นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไข้จะค่อยๆลดลง อาการจะดีขึ้นเรื่อยๆ ให้ใช้กระดาษทิชชูหรือผ้าเช็ดหน้าปิดปากและจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม ล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัยเมื่อจำเป็นต้องอยู่กับผู้อื่น เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อไปติดคนอื่น
แต่หากยังมีไข้สูง ไข้ไม่ลดลงใน 2-3 วันหรืออาการไม่ดีขึ้น เช่น ทานอาหารไม่ได้ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย อาเจียนมาก ซึม ขอให้รีบพบแพทย์ รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคปอด หอบหืด โรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคหัวใจ รวมทั้งเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ คนอ้วน และผู้มีภูมิต้านทานต่ำ ขอให้รีบพบแพทย์ทันทีที่มีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่เพื่อรับการตรวจรักษา