ปวดหลัง… เสี่ยงอัมพาต

ปวดหลัง… เสี่ยงอัมพาต


ปวดหลัง เป็นอาการยอดฮิตของคนทุกวัย พบเป็นมากขึ้นในปัจจุบัน มีทั้งที่รุนแรงและไม่รุนแรง ขึ้นอยู่กับสาเหตุ การรักษาก็มีอยู่หลากหลายวิธี เรามาศึกษาและทำความเข้าใจกับโรคนี้กันให้มากขึ้น กับ นพ.วศิน เอาแสงดีกุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมระบบประสาทและไขสันหลัง ประจำศูนย์โรคปวดหลัง รพ.สินแพทย์ กันก่อน

      Q : ทำไมถึงปวดหลังไม่หายสักที เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง
          A : ที่มาของอาการปวดหลังส่วนใหญ่ เกิดจากการใช้งานร่างกายอย่างไม่ถูกต้องเกิดได้ทั้งกับคนที่นั่งทำงานออฟฟิศสบายๆ หรือผู้ที่ทำงานใช้แรงงานยกของหนักตลอดทั้งวัน และส่วนใหญ่มักพบอาการปวดหลังได้บ่อย ในผู้ที่ชอบทำท่าทางที่ไม่ถูกต้อง เป็นประจำโดยไม่รู้ตัว เช่น ชอบนั่งไขว่ห้างแล้วทำตัวเอียงๆ บ่อยๆ สะพายกระเป๋าหนักๆ เช่น กระเป๋าโน๊ตบุ๊คข้างใดข้างหนึ่งซ้ำๆ ผู้ที่ใส่รองเท้าส้นสูงเป็นประจำ หรือผู้ที่นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธินานๆ หรือนั่งเก้าอี้เตี้ยๆ ก้มหลังทำงานทั้งวัน การทำตัวแบบนี้ซ้ำๆ จะทำให้แนวของกระดูกสันหลังโค้งผิดรูป จนในที่สุดหมอนรองกระดูกสันหลังก็จะผิดปกติ เกิดการเสื่อมสภาพเคลื่อนตัวไปกดเบียดและกดทับเส้นประสาทไขสันหลังทำให้เกิดอาการปวด แต่บางจังหวะหรือบางอิริยาบทอาการปวดอาจจะหายไปได้ จึงมักจะพบมีอาการเป็นๆ หายๆ ทำให้บางคนจึงยังไม่ตัดสินใจมาพบแพทย์ ปล่อยให้เป็นเรื้อรัง จนบางครั้งทำให้เกิดอาการที่มากและรุนแรงได้

      Q : จะรู้ได้อย่างไรว่า ปวดหลังที่เป็นอยู่เป็นโรคที่รุนแรงหรือไม่
         A : ผู้ที่มีอาการปวดหลัง แล้วมีอาการปวดร้าวลงขา ชาขา หรือมีอาการอ่อนแรงของขาควรรีบมาพบแพทย์เพื่อตรวจ หาสาเหตุการตรวจด้วยคลื่นสนามแม่เหล็กไฟฟ้าจะช่วยเห็นภาพความผิดปกติของหมอนรองกระดูกว่ามีการยื่นตัวไปกดทับ เส้นประสาทไขสันหลังหรือไม่ ช่วยให้แพทย์ใช้วางแผนในการรักษาได้อย่างถูกต้อง 

      Q : การรักษาโรคปวดหลัง ต้องผ่าตัดทุกรายหรือไม่
          A : ไม่จำเป็น ในรายไม่รุนแรงเพียงปรับเปลี่ยนพฤติกรรมร่วมกับการออกกำลังกาย อาการปวดก็หายได้ แต่ในรายที่มีอาการรุนแรง ปัจจุบันมีเทคโนโลยีการรักษาด้วย การฉีดยาเข้าบริเวณรากประสาทไขสันหลัง หรือข้อต่อกระดูกสันหลัง (Pain Intervention Therapy) เพื่อลดอาการอักเสบและอาการปวดได้โดยตรง หรือใช้วิธีที่เรียกว่า นิวคลีโอพลาสตี้ (Nucleo Plasty) โดยใช้เข็มขนาดเล็กสอดเข้าไปในหมอนรองกระดูกตรงจุดที่มีปัญหาแล้วปล่อย พลังงานคลื่นวิทยุ ทำให้เกิดความร้อนที่ปลายเข็ม ไปสลายหมอนรองกระดูกที่เกิน หรือยื่นออกไม่ให้กดทับเส้นประสาท อาการปวดก็จะหายไปได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่าตัด แต่ในรายที่มีสภาพของหมอนรองกระดูกสันหลังแย่มากๆ หรือข้อต่อกระดูกสันหลังทรุดตัวมาก การผ่าตัดก็เป็นวิธีที่จำเป็นในปัจจุบันมีการใช้กล้องจุลทรรศน์กำลังขยายสูง ทำให้เจ็บตัวน้อยลง ไม่ต้องพักฟื้นนาน กลับไปทำงานได้ตามปกติเร็วขึ้น เราเรียกเทคโนโลยีนี้ว่า การผ่าตัดแผลเล็ก (MIS: Minimally Invasive Surgery)


ขอบคุณ : รพ.สินแพทย์

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์