เพ่งอสุภะ
เรามักพูดกันว่า
การเพ่งอสุภะ คือ เพ่งดูความไม่งาม โดยมากก็เพ่งดูซากศพ ซากศพคือคนที่ตายแล้ว ถ้าไปเพ่งดูจะเห็นความสกปรก เน่าเหม็นไม่งาม น่าสะอิดสะเอียน เพ่งดูแล้วจะเบื่อหน่าย ไม่ยึดถือหลงไหลคลั่งไคล้ทำให้หลุดพ้นจากราคะ
ถ้าเป็นอย่างนี้ คือ
เพ่งดูซากศพจะเห็นความไม่งามแต่ถ้าเพ่งดูสิ่งสวยงาม เช่นผู้หญิงสาวสวย ก็จะเห็นความงาม ความน่ารัก น่าใคร่ น่าพอใจอีกไม่เป็นไปเพื่อคลายกำหนัดได้ มันเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆ ก็เห็นอย่างนี้...เพ่งดูของไม่งามก็ไม่รัก เพ่งดูของสวยงามก็รัก เป็นธรรมดาของคนในโลกก็เห็นกันอยู่แล้ว
ที่นี้ถ้าเราจะให้ความหมายไปอีกอย่างว่า เพ่งอสุภะ คือ
เพ่งให้เห็นความไม่งามเสีย เพื่อจะได้เกิดความเบื่อหน่ายคลายความยึดถือต่อไป
ถ้าเป็นอย่างนี้ โลกนี้จะมีแต่สิ่งที่ไม่งาม
ทุกอย่างดูน่าเกลียดไปหมดไม่มีสิ่งสวยงามเลย เป็นการมองโลกในด้านร้าย หรือในแง่ลบ ซึ่งผิดความจริงของธรรมชาติ ทำลายสมมติบัญญัติในโลก ไม่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์
แท้จริงแล้วเรื่องภายนอกนั้น ต้องมีไปตามสมมติโลก
ซึ่งเราจะต้องจัดทำไปตามหน้าที่ เรื่องความทุกข์หรือไม่ทุกข์เป็นเรื่องจิตใจภายในถ้ากล่าวอย่างธรรมชาติจริงๆ แล้ว ไม่มีสิ่งสวยงาม หรือ ไม่สวยงามเพราะทุกอย่างเป็นแต่เพียงธาตุตามธรรมชาติ เป็นเช่นนั้นเอง เสมอกันหมด
การรู้ว่าทุกอย่างเป็นธรรมชาติ ไม่มีงามหรือไม่งามก็ยังไม่ใช่เรื่องพ้นทุกข์ ไม่ใช่เรื่องทางศาสนา เป็นเรื่องของธรรมชาติทั่วไปทางวัตถุเท่านั้น
เราเรียนรู้มาว่า
ความทุกข์และความไม่เป็นทุกข์ เป็นไปตามกระแสปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวาร และนิโรธวาร คือ ทุกสิ่งจะเริ่มต้นที่ผัสสะผัสสะเป็นปัจจัยให้มีเวทนา การหลงเพลินในเวทนา (ตัณหา) ทำให้มีอุปาทานอุปาทานเป็นปัจจัย ภพย่อมมีภพเป็นปัจจัย ชาติย่อมมีชาติเป็นปัจจัยชรา มรณะ ฯลฯ ย่อมมี
ความทุกข์เริ่มต้นจากการเพลินในเวทนา เพราะผัสสะ
แล้วมันจะมีผลแก่จิตใจต่อไป ไม่หยุดอยู่เฉพาะที่รูป การเพ่งดูรูปข้างนอก (เช่น เพ่งดูซากศพ) เป็นเรื่องที่เพ่งดูได้ยาก เพราะต้องเกี่ยวกับเวลา-สถานที่ แต่การเพ่งดูที่เวทนา ย่อมเพ่งดูได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ อีกอย่างหนึ่งความทุกข์และไม่ทุกข์ เป็นเรื่องของความรู้สึก ที่เป็นทุกข์เพราะยึดถือความพอใจบ้างไม่พอใจบ้าง อิฏฐารมณ์บ้าง อนิฏฐารมณ์บ้าง จิตจะไม่เป็นทุกข์ ถ้าไม่ยึดถือในเวทนา และยึดถือในสภาพจิตต่างๆ เพราะฉะนั้นให้เราดูว่า
เมื่อผัสสะกับสิ่งที่งาม เกิดราคะ เพ่งดูราคะ อันเกิดภายในด้วยความรู้สึก จะเห็นว่าราคะเป็นภาวะที่เหน็ดเหนื่อย กระวนกระวาย ไม่สงบ(ทุกข์) เมื่อตามรู้สึกสักระยะหนึ่งจะเห็นว่าภาวะนี้จะค่อยๆ จางหายไป (อนิจจํ)มันเป็นเพียงปรากฎการณ์ชั่วขณะ ตามเหตุตามปัจจัยแล้วหายไป ไม่ใช่ตัวตนไม่มีตัวตนที่ยืนโรงเป็นตัวเรา-ของเรา (อนตตา)
และไม่ว่าจะเกิดความรู้สึกอย่างไร
ถ้าตามดูความรู้สึกแล้ว จะเห็นทุกขํ อนิจจํ อนตตา เช่นเดียวกัน ผลสุดท้ายจะเบื่อหน่ายในการไปยึดถือ ทำให้หลุดพ้นไปจากความทุกข์ แต่จะมีหน้าที่ กับรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ต่างๆข้างนอกอย่างไร ก็ทำให้ถูกต้อง ไม่ว่ารูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะนั้นจะงามหรือไม่งาม ถ้ามองข้างนอกจะเห็นแต่งาม-ไม่งาม, ดี-ชั่ว ฯลฯ แต่ถ้ามองข้างในจะเห็นแต่จิตที่เป็นทุกข์กับไม่เป็นทุกข์ ดังนั้นถ้าจะให้ดีทั้งข้างนอกและข้างใน คือทำดีข้างนอกและไม่เป็นทุกข์ข้างใน
ดังนั้นการเพ่งอสุภะจริงๆ ควรเพ่งเวทนาจนเห็นพระไตรลักษณ์หรือสภาพจิตปรุงแต่งนั้นเอง อนิจจํ ทุกขํ อนตตา เป็นภาวะที่ไม่งาม (อสุภะ)จึงไม่ยึดถือให้เป็นทุกข์ภายใน และทำหน้าที่ข้างนอกให้ถูกต้อง กับสิ่งที่มาสัมผัสอันหลากหลายในโลก
จาก “ไม่สิ้นไร้สัจธรรม” ของ พระวรศักดิ์ วรธัมโม