เป็นที่กล่าวขวัญกันอย่างมากสำหรับปรากฏการณ์ "วันสิ้นโลก" ในปี "ค.ศ.2012" ซึ่งก็คือปีนี้นี่เอง!
ความเข้มข้นของกระแสข่าวนี้ เพิ่มขึ้นตามตัวเลขในหน้าปฏิทินที่เปลี่ยนไป จากในโลกสังคมออนไลน์ ขยับขยายไปสู่การพูดคุยปากต่อปาก จากห้องสุดหรูบนตึกระฟ้าในเมืองกรุง ไปไกลถึงท้องไร่ท้องนาไกลปืนเที่ยง แน่นอน เหตุที่ทำให้เรื่องนี้เป็นที่พูดถึงกันอย่างมาก เพราะนี่คือ "ความเป็นความตายของเผ่าพันธุ์มนุษย์"
สำหรับสิ่งที่ทำให้ "ความเชื่อ" นี้กลายเป็นกระแส จนถึงกับมีการกล่าว "ยืนยัน" หลักใหญ่ใจความแล้วน่าจะประจวบเหมาะกับสิ่งที่มีการพูดถึง อย่างเรื่อง ปฏิทินวันสิ้นโลกของชาวมายา, ดาวนิบิรูที่จะพุ่งชนโลกเชื่อมโยงจากตราประทับของชาวสุเมเรียน, การเรียงตัวกันของดาวเคราะห์ที่จะทำให้เกิดแรงดึงดูดมหาศาลระหว่างกัน, พายุสุริยะที่อาจโหมซัดใส่โลก, การกลับขั้วของแม่เหล็กโลก หรือแม้แต่เรื่องราวของ "หลุมดำ" ที่อยู่ใจกลางแกแล็กซี่ช้างเผือกที่อาจดูดกลืนโลกให้หายวับไปได้
หลากเรื่องหลายราวนี้ เมื่อผนวกเข้ากับสภาพที่มนุษย์เผชิญอยู่ ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม หนาวจัด แห้งแล้งยาวนาน ฯลฯ จึงไม่แปลกที่จะทำให้ใครหลายคน "หวาดกลัว" บางคนถึงขั้น "เชื่อมั่น" ว่าวันสิ้นโลกได้เดินทางมาถึงแล้วจริง ๆ
เพื่อเป็นการไขปริศนานี้ เพื่อเป็นการพิสูจน์ว่าในปี 2012 โลกจะแตกจริงหรือไม่ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จึงได้จับมือกับ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ จัดเวทีเสวนาในหัวข้อ "2012 ฤาโลกจะสูญสิ้น" ณ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จามจุรีสแควร์ สามย่าน ในงานมีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมาก
กรณีต่าง ๆ ที่ถูกอ้างว่าจะทำให้เกิด "วันสิ้นโลก" ได้ถูกหยิบยกขึ้นมาชำแหละเป็นข้อ ๆ
ดร.บัญชา ธนบุญสมบัติ นักสื่อสารวิทยาศาสตร์ สำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า เรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับวันสิ้นโลกนั้นมีสืบเนื่องมาตั้งแต่ยุคโบราณแล้ว จนกระทั่งยุคที่วิทยาศาสตร์ก้าวหน้า ก็มีการใช้วิทยาศาสตร์อ้างให้เข้ากับคำทำนายมากขึ้น
เรื่องปฏิทินของชาวมายา เปิดประเด็นโดยหนังสือชื่อ "The Maya" ของ Michael D.Coe ซึ่งในเรื่องเชื่อมโยงวันสิ้นโลกเข้ากับวันสุดท้ายในปฏิทินแบบ "ลองเคาท์" (Long Count Calendar) ระบุว่าจะตรงกับวันที่ 23 ธันวาคม ค.ศ.2012
ปฏิทินของชาวมายานั้นมีอยู่ 3 แบบใหญ่ ๆ มีการนับวันและใช้ในวัตถุประสงค์ที่ต่างกันออกไป "ลองเคาท์" เป็นเพียงแบบหนึ่ง คือเมื่อวันในปฏิทินสิ้นสุดแล้วจะเริ่มนับวันใหม่ หากแต่ว่ากลับถูกเชื่อมโยงว่าเป็น "วันสิ้นโลก"
ต่อมา ดร.บัญชา พาไปรู้จักกับปรากฏการณ์ "การกลับขั้วของแม่เหล็กโลก (Pole Shif)" โดยบอกว่า จากการเก็บข้อมูลของนักวิทยาศาสตร์ พบว่า โลกมีการพลิกกลับของขั้วแม่เหล็กอยู่เป็นระยะ อันเนื่องมาจากการเคลื่อนไหลของโลหะที่หลอมเหลวอยู่ใต้โลก บางช่วงอาจจะยาวนานเป็นพิเศษ จะสลับไปสลับมา สิ่งที่หลายคนกังวลคือ การกลับขั้วของแม่เหล็กโลก อาจจะทำให้มีบางช่วงสนามแม่เหล็กหายไป ทำให้โลกไม่สามารถป้องพายุสุริยะ หรืออานุภาคต่าง ๆ ที่จะพุ่งมาสู่โลกได้
"ในทางวิทยาศาสตร์พบว่า ในระหว่างโลกกลับขั้วแม่เหล็ก ไม่มีเลยที่สนามแม่เหล็กจะหายไปอย่างสิ้นเชิง อาจมีอ่อนกำลังลงบ้าง แต่เนื่องจากช่วงการเปลี่ยนขั้วแม่เหล็กนั้นไม่ได้เกิดในระยะเวลาสั้น ๆ ต้องใช้เวลาราว 1,000-10,000 ปี ก็จะทำให้ขั้วเดิมค่อย ๆ อ่อนกำลังแล้วก็จะมีขั้วใหม่ผุดขึ้นมาจนครบสมบูรณ์" ดร.บัญชา กล่าว
อีกเรื่องหนึ่งคือ "พายุสุริยะ" ซึ่งนักสื่อสารวิทยาศาตร์จาก สวทช.ยืนยันว่าแม้เกิดขึ้นก็ไม่ถึงขั้นสิ้นโลก
"เรื่องวันสิ้นโลกได้ถูกพูดถึงในสังคมอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นสังคมแห่งความเห็น มีการแสดงความเห็นโดยไม่มีฐานความรู้ที่แน่น และเมื่อผนวกเข้ากับลัทธิ ความเชื่อ ที่ยึดถือกันก็ยิ่งซ้ำเติมให้เรื่องราวต่าง ๆ ร้ายแรงมากขึ้นอีก โดยเฉพาะในสังคมไทย
"อย่างกรณี ด.ช.ปลาบู่ เป็นต้น ซึ่งในการแก้ปัญหาก็แก้ปัญหาแบบคนไทย คือ จัดปาร์ตี้พิสูจน์ การจัดปาร์ตี้นั้นไม่ผิด แต่ต้องอธิบายด้วยหลักวิทยาศาสตร์ด้วยว่า เขื่อนที่สร้างนี้มีความแข็งแรงอย่างใร ในแง่ของวิศวกรรม ให้ข้อมูลออกไป หรือถ้าเขื่อนมันแตกจริงแล้วน้ำจะไปทางไหน อย่างไร ใช้เวลาเท่าไหร่ในการอพยพโยกย้าย แถมความรู้เป็นข้อมูลไปให้ด้วย จะเป็นการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนกว่า" ดร.บัญชา กล่าว
ถาม ดร.บัญชาว่า แล้วเป็นไปได้ไหมที่จะโลกจะสูญสิ้น?
คำตอบอยู่ในคลิปต่อไปนี้