มักพบในผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ คร่ำเคร่งกับการเรียน หรือทำงานมากเกินไป ไม่ค่อยออกกำลังกาย เครียดง่าย รวมทั้งการนั่งการยืนที่ผิดสุขลักษณะ โดยจะปวดตึงกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอ และรอบศีรษะ บางคนอาจมีอาการปวดคอ และไหล่ร่วมด้วย
อาการดังกล่าว แม้ยังสามารถปฏิบัติกิจวัตรได้ปกติ แต่สร้างความรำคาญ และบั่นทอนประสิทธิภาพการเรียนรู้ ซึ่งวิธีบรรเทาอาการข้างต้นทำได้ง่าย ๆ เพียงปรับเปลี่ยนอิริยาบถ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว
เริ่มจาก โต๊ะคอมพิวเตอร์ ควรเลือกระดับให้พอดีกับข้อศอก โดยแขนท่อนปลายสามารถวางในแนวขนานกับพื้นได้ เพื่อกดแป้นคีย์บอร์ดอย่างถนัด ส่วนเก้าอี้ ควรปรับความสูงให้อยู่ในระดับที่สามารถวางเท้าราบกับพื้น อาจหาหมอนเล็ก ๆ รองส่วนหลัง จะช่วยให้นั่งนาน ๆ ได้สบายขึ้น
ประคบด้วยผ้าชุบน้ำอุ่น บริเวณขมับ และด้านหลังต้นคอ หรือ นวดกล้ามเนื้อไหล่ทั้งซ้าย และขวา โดยบีบเบา ๆ สลับกับการนวดด้านหลังต้นคอ จะช่วยให้เลือดไหลเวียนจากไหล่ไปต้นคอ และศรีษะสะดวกขึ้น
พกน้ำดื่มประจำโต๊ะ เนื่องจากภาวะร่างกายขาดน้ำ เป็นปัจจัยหนึ่งของอาการปวดศีรษะ ดังนั้น ลองสังเกตว่าในหนึ่งวันได้รับน้ำในปริมาณที่เพียงพอแล้วหรือไม่
สำรวจไฟในห้องเรียน-ทำงาน ซึ่งแสงไฟที่ส่องสว่างน้อยนิด หรือ ไม่สม่ำเสมอ ทำให้ต้องเพ่งสายตา และดวงตาต้องปรับม่านรับแสงตลอดเวลา จนก่อให้เกิดอาการแสบตา ปวดศรีษะได้
ใช้กลิ่นจากธรรมชาติบำบัด โดยกลิ่นลาเวนเดอร์ มะนาว และส้ม กระตุ้นการหลั่งสารสื่อประสาท ช่วยลดความตึงเครียด วิตกกังวลน้อยลง ทำให้รู้สึกสบาย
นอกจากนั้น ยังควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอร่วมด้วย เพื่อสุขภาพกายที่แข็งแรง และสุขภาพใจที่แจ่มใส.