อันตรายจากการใช้ยาหยอดตา

อันตรายจากการใช้ยาหยอดตา


ปัจจุบันยาหยอดตาวางขายในท้องตลาดหลายสิบชนิดและสามารถขอซื้อได้โดยไม่ต้องมีใบสั่งยาจากแพทย์ ผู้ป่วยที่มี ปัญหาทางตาและไม่มีเวลาไปพบแพทย์จึงนิยมไปหาซื้อยามาจากร้านขายยา โดยมีบุคลากรที่ไม่ใช่แพทย์เป็นผู้รับฟังอาการและ เลือกยาให้แก่ผู้ป่วย หรือบางครั้งผู้ป่วยจะนำขวดยาเก่าที่เคยใช้และได้ผลดีไปให้ร้านขายยาดูพร้อมทั้งขอซื้อยาแบบเดิมมาใช้ต่อ เนื่อง และมีผู้ป่วยจำนวนไม่น้อยที่ใช้ยาแล้วรู้สึกสบายตาจึงใช้ยาต่อเนื่องไปเรื่อยๆโดยไม่เคยไปรับการตรวจ จึงเกิดปัญหาจาก การใช้ยาอย่างไม่เหมาะสมขึ้นได้บ่อยครั้งและอาจนำไปสู่การสูญเสียสายตาอย่างถาวรได้

     อันตรายจากการใช้ยาหยอดตาที่ไม่เหมาะสม  


      1. การได้รับยาที่ไม่เหมาะสมกับโรคที่เป็นและยาดังกล่าวจะทำให้โรคเลวลง เช่น ผู้ป่วยมีอาการเคืองตา ตาแดงหลังถอดคอนแทค เลนส์ ได้รับยาหยอดตาลดการอักเสบชนิดมีสเตียรอยด์ หากผู้ป่วยมีแผลติดเชื้อที่กระจกตา แผลอาจลุกลามอย่างรวดเร็วและ ควบคุมยาก ทำให้กระจกตาทะลุหรือสูญเสียการมองเห็น หรือ กรณีผู้ป่วยโรคเริมที่กระจกตา ในระยะต้นจะมีอาการตาแดงและ เคืองตาคล้ายกับผู้ป่วยเยื่อบุตาอักเสบ หากผู้ป่วยใช้สเตียรอยด์หยอดตาจะทำให้เชื้อเริมลุกลามเกิดแผลที่กระจกตาได้อย่างรวดเร็ว เป็นต้น 

      2. ได้รับยาที่เหมาะสมกับโรค แต่ใช้ยาโดยไม่ได้ระวังผลข้างเคียงจากการใช้ยาต่อเนื่อง จนทำให้เกิดผลข้างเคียงจากยาขึ้น เช่น ผู้ป่วยที่มีการอักเสบในตาจากสาเหตุต่างๆหรือเป็นภูมิแพ้ที่ตาและเคยได้รับยาลดการอักเสบที่มีสเตียรอยด์แล้วอาการดีขึ้น ผู้ป่วย มักซื้อยาดังกล่าวมาใช้เองเป็นครั้งคราวหรือต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทำให้เกิดภาวะต้อหินซึ่งหากเป็นอยู่นานและไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาจะทำให้ประสาทตาถูกทำลายได้ หรือกรณีแผลเริมที่กระจกตา และใช้ยาต้านไวรัสชนิดหยอดหรือป้ายตาอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ได้รับการปรับขนาดยาตามความเหมาะสม อาจทำให้อาการเลวลงเนื่องจากแผลที่กระจกตาไม่ยอมหาย 

      3. ได้ยาหยอดบางชนิดที่ไม่สมควรนำมาใช้นอกโรงพยาบาลเนื่องจากไม่มีข้อบ่งชี้ในการรักษา ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยเคยได้รับการ หยอดยาชาที่ตาเพื่อทำหัตถการหรือตรวจตาบางอย่างแล้วรู้สึกว่าอาการเคืองตาดีขึ้น จึงไปหาซื้อยาชาสำหรับหยอดตามาใช้เพื่อ ลดอาการเคืองตา ทำให้เกิดแผลเรื้อรังที่กระจกตาและกระจกตาบางตัวลง 

      4. ยาบางชนิดอาจคล้ายคลึงกันแต่มีความแตกต่างกันในการรักษา ทำให้ผู้ป่วยหรือเภสัชกรเลือกใช้ได้ไม่ถูกกับภาวะของโรค ตัวอย่างเช่น ผู้ป่วยภาวะตาแห้งรุนแรงบางรายมีความจำเป็นต้องใช้น้ำตาเทียมและสเตียรอยด์ชนิดปลอดสารกันเสีย หากผู้ป่วยไม่ ทราบและใช้ตัวยาดังกล่าวแต่เป็นชนิดที่มีสารกันเสีย อาจทำให้อาการทางตาเลวลงกว่าเดิมได้

     การป้องกันและแนวทางแก้ไข 


       1. เมื่อมีอาการผิดปกติทางตา ควรปรึกษาแพทย์หรือจักษุแพทย์ 
       2. หากไม่สามารถจะไปพบแพทย์ได้ในวันนั้นและจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตา ให้หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่มีสเตียรอยด์ผสม 
       3. หากอาการยังคงมีอยู่ ควรไปพบจักษุแพทย์เพื่อรับการตรวจรักษาที่เหมาะสม และควรนำยาขวดที่ใช้อยู่ไปด้วย 
       4. กรณีเป็นโรคตาเรื้อรังหรือได้รับยาเป็นประจำ ควรสอบถามจักษุแพทย์ว่ายาใดที่สามารถซื้อใช้เองได้โดยไม่มีอันตราย และยา ใดไม่ควรนำมาใช้เอง 
       5. เมื่อมีข้อข้องใจในการใช้ยาหยอดตา ควรปรึกษาจักษุแพทย์ของท่าน


ขอบคุณ : ศูนย์ดวงตาสภากาชาดไทย

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์