ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา มีข่าวเรื่องปลาปักเป้าแทบทุกปี กับประเด็นพิษร้ายต่อร่างกาย หรือ ถึงขั้นทำให้มนุษย์หลายรายจบชีวิต จึงเป็นที่ทราบกันดีว่า การคิดลิ้มรสปลาปักเป้านั้น เสี่ยงตายโดยใช่เหตุ!!
ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายถึง ลักษณะทั่วไปของปลาปักเป้า ว่า เป็นปลาปากเล็ก ฟันใหญ่ กินเนื้อจำพวกสัตว์เกาะติด หรือ หอย เป็นต้น ซึ่งปลาปักเป้านั้น มีทั้งกลุ่มฟัน 2 ซี่ เรียกว่า ไดโอดอน, 3 ซี่ เรียกว่า ไตรโอดอน และ 4 ซี่ เรียกว่า เตตราโอดอน โดยกลุ่มที่พบบ่อย คือ ไดโอดอน และเตตราโอดอน ส่วนไตรโอดอนมีน้อย
“นอกจากพิจารณาจากฟันแล้ว หากสังเกตรูปร่างยังแบ่งได้เป็น กลุ่มปลาปักเป้ากล่อง ที่มีขนาดตั้งแต่นิ้วก้อย กระทั่งตัวใหญ่ ซึ่งในประเทศไทยพบความยาวประมาณ 30-40 เซนติเมตร กลุ่มที่สอง ตัวเป็นหนัง ผิวหนังยืดหยุ่นได้ อาทิ ปลาปักเป้าหนามทุเรียน โดยเกล็ดจะแปลงเป็นหนาม แต่หากเป็นปลาปักเป้าที่มีลักษณะหนามเล็ก ไม่ยาวแบบหนามทุเรียน จะเรียกว่า ปลาปักเป้าหนัง หรือ ปลาปักเป้าหนาม ก็ได้ ส่วนกลุ่มที่สาม คือ ปลาปักเป้าตัวแบน มีขนาดเล็ก ส่วนใหญ่เป็นพวกฟัน 3 ซี่
ปลาปักเป้าส่วนใหญ่อยู่ตามพื้นท้องทะเล ไม่ว่ายกลางน้ำ ดังนั้น เรืออวนลากมักจะลากติดปลาปักเป้าบ่อยครั้ง ขณะเดียวกัน ก็ถือเป็นปลาสุดโหลของแนวปะการังก็ว่าได้ ซึ่งนักดำน้ำพบบ่อยเช่นกัน ส่วนการพองตัวนั้น เกิดจากการตกใจขีดสุด และกว่าจะหดตัวเป็นปกติต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงเลยทีเดียว ทั้งนี้ อัตราการขยายพันธุ์จะมีลักษณะเป็นปิรามิด คือ เกิดเยอะ ตายเยอะ ส่วนใหญ่จะตายเมื่อยังเป็นตัวเล็ก ๆ เช่น เกิดหมื่นตัว กว่าจะกลายเป็นลูกปลาอาจเหลือแค่ 10-20 ตัว
สำหรับในประเทศไทย พบปลาปักเป้าประมาณ 28 ชนิด เป็นชนิดในน้ำจืดราว 12 ชนิด ที่เหลือเป็นปลาปักเป้าทะเล
แต่ที่สำคัญคือ ปลาปักเป้าทุกชนิดมีพิษ ซึ่งพิษเรียกว่า เตโตรโดท็อกซิน (Tetrodotoxin) มีอยู่ทั่วตัว สามารถทนความร้อนได้ถึง 220 องศาเซลเซียส โดยบริเวณหนังพบพิษมาก ส่วนไข่เมื่อรับประทานเข้าไปมักเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว ขณะที่ตับ และอวัยวะภายในก็มีพิษเช่นกัน ทั้งนี้ ปัญหาของพิษเตโตรโดท็อกซิน คือ เป็นพิษที่ไม่แพ้ความร้อน เพราะฉะนั้น แม้นำไปต้ม หรือ ทอด ก็ไม่มีการทำลายได้”
ทั้งนี้ ปัญหาจากการบริโภคส่วนใหญ่นั้น พบได้ 3 กรณี คือ รับประทานเพราะรู้ว่าเป็นเนื้อปลาปักเป้า และมีวิธีการในการรับประทาน อย่างประเทศหนึ่งแถบเอเชีย คนรับประทานถือว่ามีเทคนิคชั้นสูงในการรับประทาน ต้องรู้วิธีแล่ จับปลาปักเป้าให้ถูกฤดูกาล และถูกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ถ้าแล่เก่งจริง ๆ จะมึนนิด ๆ !! กรณีที่สอง คือ รับประทานปลาปักเป้า แต่ไม่รู้ว่ามีพิษ และกรณีที่สาม คือ รู้ว่าปลาปักเป้ามีพิษ แต่รับประทานเข้าไปโดยที่ไม่รู้ว่าเป็นปลาปักเป้า ซึ่งเรียกกันว่า เนื้อปลาไก่ หรือ ปลาเนื้อไก่ โดยเนื้อจะถูกแล่มาแล้ว ดังนั้น ผู้ซื้อ หรือ ผู้บริโภคส่วนใหญ่จึงไม่สามารถรู้ได้
อาการของพิษจะกำเริบหลังได้รับพิษจากปลาปักเป้า โดยเริ่มชาบริเวณริมฝีปาก ลิ้น ปลายนิ้วมือ คลื่นไส้ วิงเวียน อาเจียน
จากนั้น ชามาก อาเจียนมากขึ้น อ่อนเพลีย แขนขาไม่มีแรง พูดลำบาก กล้ามเนื้อเป็นอัมพาต หายใจลำบาก หมดสติ หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในเวลารวดเร็ว ซึ่งสาเหตุการเสียชีวิตมักเกิดจากภาวะหายใจล้มเหลว ดังนั้น ภายหลังรับประทานเนื้อปลาหากมีอาการชาบริเวณปาก ควรรีบพบแพทย์ ขณะเดียวกัน ควรบอกคนข้างกาย หรือ ผู้นำส่งโรงพยาบาลให้ทราบชัดเจนถึงสาเหตุดังกล่าว เผื่อกรณีผู้ป่วยหมดสติ.