
สาเหตุที่ทำให้คนเราส่วนใหญ่เกิดความกังวลเมื่อมีอาการเจ็บหน้าอกว่าจะเป็นโรคหัวใจขาดเลือด ก็เนื่องจากโรคนี้อาจจะทำให้หัวใจวายเฉียบพลันและเสียชีวิตอย่างรวดเร็ว แต่จริงๆ แล้วอาการเจ็บหน้าอกไม่จำเป็นต้องเกิดจากโรคหัวใจขาดเลือดเสมอไป เพราะอาจจะเกิดจากโรคของอวัยวะอื่นก็ได้
อาการเจ็บหน้าอกที่ไม่เกี่ยวกับโรคหัวใจมีอะไรบ้าง
อาการเจ็บหน้าอกอาจจะเกิดจากโรคทางหลอดอาหาร (esophagus) ซึ่งเป็นทางที่อาหารไหลจากปากไปถึงกระเพาะอาหาร กล้ามเนื้อและกระดูกซี่โครงของหน้าอกหน้าหัวใจ กระเพาะอาหาร ถุงน้ำดี และตับอ่อน(ซึ่งอยู่ใกล้กับหัวใจ) อย่างเช่น อาการเจ็บแสบหน้าอกที่เกิดจากกรดไหลย้อน(GERD) จากกระเพาะอาหารขึ้นไประคายเคืองต่อหลอดอาหาร ซึ่งทำให้เกิดความกังวล เนื่องจากมันอยู่ใกล้กับหัวใจ และมีเส้นประสาทความรู้สึกร่วมกับหัวใจ ทำให้มีอาการคล้ายกัน โดยประมาณ 30 % ของผู้ป่วยที่มีอาการเจ็บหน้าอกและตกใจจนต้องรีบไปตรวจหาความผิดปกติของหัวใจหลายอย่าง รวมทั้งการสวนหลอดเลือดหัวใจฉีดสีเอกซเรย์หลอดเลือดหัวใจ (cardiac angiogram) แต่กลับไม่พบอะไร เมื่อตรวจต่อไปจึงพบว่าที่จริงแล้วเกิดจากหลอดอาหาร
อาการเจ็บหน้าอกจากกรดไหลย้อนที่ฝรั่งเรียกว่า heart burn นั้นอาจจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยที่เราสามารถใช้ในการสังเกตได้ เช่น มีกรดเปรี้ยวๆ ขมๆ ย้อนขึ้นไปที่คอ ซึ่งแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินบางแห่งจะมีสูตรในการทดลองรักษาและวินิจฉัยที่เรียกว่า GI cocktail (เป็นส่วนผสมของยาลดกรดและยาแก้ปวด) ถ้าผู้ป่วยกินเข้าไปแล้วมีอาการทุเลา แพทย์ก็สามารถแยกโรคได้ แต่ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้น อาจจะทดสอบด้วยการใช้ยากดการหลั่งกรดของกระเพาะที่เรียกกันว่า proton pump inhibitor(PPI) เช่น omeprazole, lansoprazole โดยจะให้ทดลองกินดูสักหนึ่งสัปดาห์ ถ้าได้ผลก็ให้กินต่อไปเพื่อรักษากรดไหลย้อน ถ้าไม่ได้ผลก็ต้องตรวจหาสาเหตุต่อไป คือ
การตรวจว่ามีกรดไหลย้อนเกิดขึ้นจริงหรือไม่ ด้วยการใช้เครื่องมือเล็กๆ คล้ายแคปซูลยา (ที่มีการส่งข้อมูลผ่านระบบไร้สายเข้าเครื่องตรวจมอนิเตอร์) สอดเข้าไป แล้วทำให้มันคาอยู่ที่หลอดอาหารเหนือกระเพาะอาหาร เพื่อคอยตรวจวัดความเป็นกรดในหลอดอาหาร โดยที่ผู้ป่วยยังสามารถใช้ได้ชีวิตตามปกติ ซึ่งวิธีการตรวจแบบนี้เรียกว่า ambulatory pH testing
หากการตรวจด้วยวิธีนี้สามารถยืนยันได้ว่ามีกรดไหลย้อนมากและเข้ากันได้กับอาการที่เกิดขึ้น ก็เชื่อได้ว่าอาการเจ็บหน้าอกเกิดจากกรดไหลย้อน แพทย์ก็ทำการรักษาโรคกรดไกลย้อนต่อไป คือรักษาทางยาก่อน ถ้ารักษาทางยาไม่ได้ผล ก็ต้องผ่าตัดโดยการเย็บกระเพาะอาหารส่วน fundus ให้ไปโอบรอบหลอดอาหารตรงเหนือรอยต่อกับกระเพาะอาหาร(fundoplication) ทำให้มีแรงรัดเป็นวาล์วกันกรดไหลย้อนได้
การเจ็บหน้าอกเกิดร่วมกับการกลืนลำบาก แต่ในบางกรณีอาจจะมีอาการเจ็บหน้าอกร่วมกับการกลืนลำบาก ก็จะต้องใช้การตรวจวินิจฉัยและรักษาที่แตกต่างออกไปจากที่กล่าวมา คือ
- การเอกซเรย์หลอดอาหารด้วยการกลืนสารเหลวทึบรังสี ซึ่งจะทำให้รังสีแพทย์มองเห็นความผิดปกติทางกายภาพและการทำงานบีบตัวขับเคลื่อนของหลอดอาหาร ทำให้วินิจฉัยโรคบางอย่างได้ เช่นมะเร็ง การเป็นแผลที่เยื่อบุหลอดอาหารจากการกินยาเม็ดใหญ่โดยไม่กินน้ำตาม แล้วมันไปครูดหลอดอาหาร (ทำให้เจ็บหน้าอก) การตีบแคบของหลอดอาหาร หรือการไม่คลายตัวของกล้ามเนื้อหูรูดตรงรอยต่อของหลอดอาหารและกระเพาะอาหารหรือ Achalasia (เอ-คา-เล-เซีย)
- การส่องกล้องตรวจ การใช้กล้องตรวจจะทำให้มองเห็นรายละเอียดของผิวเยื่อบุหลอดอาหารมากกว่าการทำเอกซเรย์ นอกจากนี้ยังทำให้สามารถตัดตัวอย่างชิ้นเนื้อที่สงสัยว่าเป็นโรค (เช่นเป็นมะเร็ง) เพื่อเอาไปตรวจทางพยาธิวิทยา จะได้ให้การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องได้ เช่น ถ้าเป็นมะเร็งก็ต้องรักษาแบบมะเร็ง ถ้ามีแผลเป็นตีบตันหลอดอาหารก็รักษาการตีบ เช่น ใช้บอลลูนถ่างขยาย ถ้ากล้ามเนื้อหูรูดไม่คลายตัวหรือ Achalasia ก็อาจจะรักษาโดยการฉีดยาคลายกล้ามเนื้อที่เรียกว่า botulinum toxin (หรือที่คนไทยคุ้นหูว่าโบท็อกซ์) หรือการผ่าตัด
ส่วนสาเหตุอย่างอื่นที่ทำให้เกิดอาการเจ็บแถวหน้าอกนอกจากหลอดอาหารคือ
โรคของกระเพาะอาหาร เช่น กระเพาะเลื่อนขึ้นสู่อก (hiatal hernia) หรือโรคของถุงน้ำดี เช่น นิ่วในถุงน้ำดี ถุงน้ำดีอักเสบ หรือตับอ่อนอักเสบ เพราะโรคเหล่านี้ก็ทำให้มีอาการปวดใกล้หัวใจ บางครั้งจึงแยกกันยาก
โรคของกล้ามเนื้อและกระดูกอกไก่และซี่โครงตรงหน้าอกหน้าหัวใจ โรคนี้อาจเกิดจากการกระแทก ซึ่งบางกรณีทำให้รอยต่อของกระดูกซี่โครงแยกจากกระดูกอกไก่ หรือมีการอักเสบของรอยต่อ หรือรอยต่อของกระดูกซี่โครงอ่อนกับซี่โครงแข็งแยกหรืออักเสบ(costochondritis) จึงมีอาการปวดจี๊ดๆ หรือกดเจ็บบริเวณที่อักเสบ การรักษาโรคนี้จะรักษาตามอาการ ซึ่งหากแพทย์อธิบายให้เข้าใจว่า กว่าจะหายปวดต้องใช้เวลาเป็นอาทิตย์ ก็จะช่วยลดความวิตกกังวลของผู้ป่วยได้
โรคของปอดหรือช่องอก(ที่ปอดอยู่) ก็ทำให้เจ็บหน้าอกได้ เช่น การอักเสบของปอด ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดปอด หรือเยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือบางกรณีการหอบหืดก็ทำให้เจ็บแน่นหน้าอกได้
แต่ทางที่ดี และคลายความวิตกกังวล ควรไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงจะดีที่สุด
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว