7 โรคพบบ่อยในหน้าร้อน พึงระวัง!

7 โรคพบบ่อยในหน้าร้อน พึงระวัง!

7 โรคพบบ่อยในหน้าร้อน พึงระวัง!



ร้อนนี้ ไม่ว่าจะต้องอยู่เผชิญแดดจ้ากลางแจ้ง หรือเลือกหลบร้อนไปอยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำๆ ก็มีสิทธิ์ป่วยได้ทั้งนั้น โดย นพ.กฤษดา ศิรามพุช ผู้อำนวยการศูนย์เวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ เผย 7 โรคฮิตที่มักทำให้คนเมืองป่วยในหน้าร้อน


เริ่มจาก 'โรคช็อคแดด' (Heatstroke) ป่วยด้วยความร้อนที่ขึ้นสูงจัด สมองทนไม่ไหวก็เข้าโหมดเออเร่อเสียดื้อๆ จนกลายเป็นลม ความดันตกถึงขั้นชัก คนที่ไวต่อช็อคแดด คือ เด็ก, ผู้อาวุโส และคนที่มีโรคประจำตัว บางทีในนักกีฬาก็เกิดได้รวมถึงคนที่ขาดน้ำ


ต่อด้วย 'โรคขาดน้ำ' ทำให้ร่างกายเพลียไวต่อความเครียดและเหนื่อยล้า พาให้หงุดหงิดไม่สบายอารมณ์ การขาดน้ำทำให้เกิดโรคปวดหัวแบบไมเกรน, ปวดท้องประจำเดือน, สิวขึ้น, หน้าแห้ง, ไร้เรี่ยวแรงและไข้ขึ้นได้ง่าย แค่กินน้ำไม่พอก็จะนำอีกหลายโรคตามมา


และตามด้วย 'โรคพิษจากน้ำ' น้ำในหน้าร้อนไม่น่าไว้ใจ ไม่ว่าจะน้ำดื่มหรือน้ำเป็นตัว อย่างน้ำแข็ง ไอศกรีม ทานมากนอกจากปวดหัวจี๊ดได้แล้วยังทำให้ปวดท้อง ป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินอาหาร  การเกิดพิษจากน้ำในหน้าร้อนมาจากการปนเปื้อนของน้ำ เช่น แช่น้ำแข็งร่วมตู้กับของสดหรือตู้ไอศกรีมที่เปิดปิดไม่เป็นเวลา


ยังมี 'โรคเก่ากำเริบ' ผู้ที่มีโรคความดันสูง, เบาหวาน หรืออาการปวดมึนศีรษะง่ายอยู่แล้ว จะมีความเสี่ยงสูงขึ้นยามอยู่ในที่ร้อนจัดและมีความเครียด 'โรคร้อนลงผิว' (Heat rash, Prickly heat) ผดผื่นคันผิวจะเคล้าความดุเดือดแอ็กชั่นจากอาการคัน  ซึ่งไม่ควรโรยแป้งลงบนผื่นถ้าไม่แน่ใจเพราะอาจเป็นการช่วยส่งเสริมให้เชื้อที่ผิวหนังลงหลักปักฐานกันแน่นหนามากขึ้น และขอให้ระวังน้ำอุ่นไว้ด้วย


'โรคเบื่ออาหาร'
การกินหน้าร้อนให้อร่อยต้องค่อยๆ รับประทาน เพราะท้องไส้ยามนี้พาลจะเบื่อ เลี่ยน เอียนอาหาร ควรงดของมัน, อาหารทอด และกะทิ แนะเลือกกินเป็นเฉาก๊วย, น้ำรากบัว, หล่อฮั้งก้วย, เก๊กฮวย หรือแตงไทยเย็นๆ ก็ได้


สุดท้าย 'โรคหวัดฟุดฟิด' ใช่จะฮิตเฉพาะในหน้าหนาว แต่หน้าร้อนก็ป่วยกันมาก เพราะเปิดแอร์กันจนเป็นหมีขั้วโลกแล้วเดินเข้าออกร้อนทีเย็นที ร่างกายปรับไม่ทันก็ป่วยไป กลายเป็นไข้หวัดเอื้ออาทรกันทั้งโรงเรียนและบริษัท ทางที่ดีควรจัดให้มีเวลาพักแอร์หรือปรับอุณหภูมิไม่ให้เย็นจัดเกินไป


ขณะที่ 10 บัญญัติขจัดโรคร้อน 'ดื่มให้พอ' ดื่มเรื่อยๆ มีเทคนิคคือตั้งขวดน้ำไว้หน้าโต๊ะทำงานแล้วปฏิญาณว่าวันนี้จะดื่มให้หมดขวด ในผู้ที่ชอบออกกำลังฤดูนี้ต้องยั้งพลังไว้บ้าง แล้วดื่มน้ำให้มากก่อนลงสนาม 'รอเข้าวิน' ขออย่าเพิ่งเข้าห้องปรับอากาศทุกครั้งร่ำไป ถ้าเลี่ยงไม่ได้ก็ให้หาเสื้อไว้เปลี่ยน เผื่อถ้าเดินชื้นเหงื่อมาแล้วต้องเข้าออฟฟิศทำงานเลย จะทำให้ร่างกายเย็นจนเป็นหวัดไม่สบาย


'กินให้น้อย'
ขออย่าให้กินอิ่มเกินไป เพราะทำให้อาหารไม่ย่อยและป่วยไข้ได้ ความร้อนทำให้อาหารบูดเสียเร็วไม่เว้นแม้ในกระเพาะลำไส้ 'ค่อยๆ ออก' หมายถึงออกกำลังกายให้เพลาลง มีหลายท่านที่ช็อคแดดในหน้าร้อนในฟิตเนสกันมาแล้ว  หาเอ็กเซอไซส์โหมดเบาๆ ให้เหมาะกับตัวเรา คือ ไม่เหนื่อยลิ้นห้อย


'บอกถ้าป่วย'
หากท่านมีโรคประจำตัวอยู่ขอให้คอยระวังไว้เวลาเหนื่อยแล้วต้อง 'เพลา' ลงบ้าง เพราะโรคร้ายอย่างสโตร้ค อัมพฤกษ์ อัมพาต กับโรคหัวใจจะมาถามหาเวลาร้อนจัด หากมีโรคประจำตัวที่ว่าการหารือกับคุณหมอไว้ก่อนให้ปรับยาก็จะดี


'ช่วยนอนเร็ว'
การนอนช่วยดับร้อนได้ส่วนหนึ่ง คือ ช่วยให้ร่างกายได้พักผ่อนซ่อมแซมตัวเองหลังจากผจญไอร้อนมาทั้งวัน ความร้อนทำให้เสียน้ำ, หัวใจเต้นเร็ว และเสียเกลือแร่ในร่างกาย ตัวเราจะใช้เวลานอนนั้นในการ 'ยกเครื่อง' ปะผุพ่นสีใหม่ให้ตื่นมามีแรงอีกครั้ง 'เจลลดไข้' ใช้ได้ในเด็กที่ใกล้จะช็อคแดดหรือซึมลงจากอากาศร้อนเพราะช่วยลดได้ทันใจไม่อันตราย ดีกว่าจับอาบราดน้ำเย็นเป็นเด็กลูกกรอกตัวสั่นฟันกระทบกึก


'ไม่กินหวาน'
รสหวานถือเป็นการเร่งให้ร่างกายต้องเผาผลาญอาหารที่อุดมไปด้วยน้ำตาล จะทำให้ 'เครื่องใน' เกิดอาการป่วยได้ เพราะในของหวานมีน้ำตาลที่ทำให้เกิดกระบวนการ 'ไกลเคชั่น' อันทำให้เกิดเสื่อมอักเสบขึ้น เรียกว่าร้อนต่อร้อนมาเจอกันถึง 2 เด้ง 'อาหารเย็น' เป็นเครื่องดับร้อนที่ควรเลือกหา จะรับเป็นแบบไทยๆ ก็มีแกงส้ม, ข้าวแช่, แตงไทยน้ำกะทิ, น้ำมะตูม หรือแบบเทศก็มีเฉาก๊วย, สมู้ทตี้แตงโม, เก๊กฮวยเย็น, ต้มมะระ ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพ


สุดท้าย 'เน้นธรรมชาติ' คนไทยรุ่นใหม่ใช้แอร์เป็นเครื่องดับร้อนจึงทำให้ยิ่ง 'ร้อนใน' เพราะแอร์เป็นอากาศแห้งและเย็นทำให้เกิดอักเสบทางเดินหายใจง่าย ที่ไหนมีแอร์ที่นั่นมีสิทธิ์ป่วย ทั้งนี้ไม่ได้ให้งดใช้แอร์ แต่ลองสลับดูบ้าง อย่างร้อนนักก็อาบน้ำให้ชื่นใจ หรือใช้แป้งเย็นโรยตัวก็ได้.


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์