ห้องพระ เป็นอีกห้องหนึ่งที่จะต้องนำมาพิจารณากัน ถ้าบ้านหลังนั้นกำหนดให้มีห้องพระ บางบ้านอาจจะไม่มีห้องพระก็ได้ อาจทำแค่หิ้งพระเล็กๆ แทน ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่ความต้องการของเจ้าของบ้านเป็นหลัก การกำหนดห้องพระให้อยู่ส่วนไหนของบ้านนั้น มีหลักเกณฑ์อยู่หลายประการทีเดียว แต่ต้องบอกเอาไว้ก่อนว่า เรื่องห้องพระเป็นเรื่องละเอียดอ่อน อาจใช้หลักเหตุผลอย่างเดียวมาวิเคราะห์ไม่ได้ เพราะเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่หาคำอธิบายได้ยาก
1. ห้องพระวางชั้นบนดีกว่าชั้นล่าง
การกำหนดผังบ้าน พยายามเลือกวางห้องพระเอาไว้ชั้นบนสุด ไม่ว่าบ้านจะกี่ชั้นก็ตาม เพราะพระเป็นของสูง เป็นที่สักการะบูชา การวางต่ำกว่าคนในบ้าน ย่อมไม่เป็นมงคลแน่ๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะวางห้องพระชั้นล่างไม่ได้ เพียงแต่ว่า การวางห้องพระชั้นล่าง จะมีข้อจำกัดมากมาย และการหาตำแหน่งในการวางห้องพระค่อนข้างจะยาก เพราะชั้นล่าง จะเต็มไปด้วยห้องรับแขกห้องอาหาร ห้องครัว ห้องส้วม
นอกจากนี้ ยังต้องพิจารณาห้องที่อยู่ชั้นบนอีกด้วยว่า ห้องชั้นบนที่ตรงกับห้องพระชั้นล่าง เป็นห้องอะไร ถ้าเป็นห้องส้วม ห้องนอน ก็จะห้ามเอาไว้อีก บ้านที่เอาห้องพระไว้ชั้นล่าง ชั้นบนที่ตรงกับห้องพระจะต้องเป็นห้องว่าง ที่ไม่มีคนอยู่ถึงจะใช้ได้
ถ้ามีความจำเป็นจะต้องวางห้องพระติดกับห้องส้วม ควรหาตู้มาพิงผนังห้องส้วม แล้วหันพระไปทางอื่นที่ไม่ตรงกับห้องส้วม
2. ห้องพระห้ามติดกับห้องส้วม เหตุผลในเชิงฮวงจุ้ยบอกว่า ห้องส้วมเป็นธาตุน้ำ ห้องพระเป็นธาตุไฟ ตามกฎเบญจธาตุ ( 5 ธาตุ) ธาตุน้ำพิฆาตธาตุไฟ
ห้องนอนตรงกับห้องพระชั้นล่าง ถ้าพระตรงกับเตียงถือเป็นข้อห้าม
3. ห้องพระต้องอยู่ในทำเลที่สงบ
ลองพิจารณาดูพื้นที่บ้านสิว่า มีมุมไหนที่ไม่พลุกพล่าน เป็นมุมสงบบ้าง ห้องพระต้องการความสงบนิ่ง ไม่ใช่อยู่ในตำแหน่งที่วุ่นวาย เช่น ติดกับห้องเอนเตอร์เทน ที่มีเสียงดังจากทีวี วิทยุ ห้องครัว ซึ่งนอกจากมีเสียงทำกับข้าวแล้ว ยังมีกลิ่นมารบกวนความสงบอีกด้วย ห้องรับแขก ที่มีเสียงคุยกัน เพราะฉะนั้น การเลือกวางห้องพระเอาไว้ชั้นบน น่าจะหามุมสงบได้ง่ายกว่า เพราะจะมีแต่ห้องนอนเป็นส่วนใหญ่
4. ห้องพระติดห้องนอน ต้องระวังเรื่องการวางเตียง กรณีที่วางตำแหน่งห้องพระติดกับห้องนอน จะต้องพิจารณาเรื่องการวางเตียงนอน เป็นประเด็นสำคัญ
ห้ามวางเตียงในลักษณะหันปลายเท้าไปที่ห้องพระ เพราะถือเป็นการไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์
ตำแหน่งเตียงนอน ควรวางในลักษณะที่ขวางกับห้องพระ ห้ามวางเอาปลาย เตียงหันไปที่ห้องพระ เพราะคนนอนจะเอาเท้าหันไปที่ห้องพระ ซึ่งถือว่าไม่เคารพสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่เป็นมงคลกับคนที่นอน
กรณีที่เอาหัวเตียงไปที่ห้องพระ ต้องพิจารณาว่า ถ้าตำแหน่งขององค์พระหรือโต๊ะหมู่บูชาไม่ติดกับหัวเตียง ก็สามารถวางได้ แต่ถ้าติดกันจะถือว่าเสีย เพราะคนนอนจะได้รับอิทธิพลของธาตุไฟ ทำให้ปวดหัวได้ง่าย นอนไม่ค่อยหลับ
5. ห้องพระห้ามต่ำกว่าห้องอื่น
กรณีที่เป็นบ้านเล่นระดับ ห้องพระจะต้องเลือกวางในตำแหน่งที่สูงกว่าห้องอื่นๆ โดยเฉพาะห้องที่มีคนอยู่ เพราะโดยหลักแล้วคนห้ามนอนสูงกว่าพระ แต่ถ้าห้องที่สูงกว่าไม่มีคนอยู่ เช่น เป็นห้องว่าง ห้องเก็บของ ก็จะอนุโลมให้ทำห้องพระได้
ห้องพระควรวางหน้าบ้านจริงหรือไม่ ?
ความจริงแล้วเรื่องการวางห้องพระหน้าบ้านหรือหลังบ้านนั้น ในตำราฮวงจุ้ยไม่ได้ระบุเอาไว้ชัดเจน เพียงแต่บอกว่า ตำแหน่งหน้าคือ "โชคลาภ" ตำแหน่งหลังคือ "บารมี" และจากประสบการณ์ที่ผมไปตระเวนดูบ้านมามากมาย ส่วนใหญ่ก็มักจะวางห้องพระไว้ส่วนด้านหลังมากกว่าด้านหน้าของบ้าน ซึ่งเหตุผลก็คงเป็นเรื่องของความนิ่งสงบมากกว่า บริเวณหน้าบ้านค่อนข้างจะพลุกพล่าน แต่ถ้ามองตามหลักฮวงจุ้ย การวางห้องพระด้านหลังก็น่าจะเหมาะสมกว่า เพราะด้านหลัง แทนความหมายของ "บารมี" นอกจากนี้ ด้านหลังตามหลักชัยภูมิก็มีสภาพเป็น "หยิน" คือ นิ่ง (หน้าเป็นหยางที่เคลื่อนไหว) ก็จะเป็นชัยภูมิที่ถูกต้อง
กฎเกณฑ์ในการวางตำแหน่งห้องพระในบ้าน ความจริงแล้วยังมีเรื่องของทิศและตำแหน่งของดวงดาวที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย แต่ผมว่า เอาชัยภูมิให้ได้เสียก่อน เพราะเรื่องทิศและเรื่องของดาวยังเป็นเรื่องรอง และเป็นเรื่องละเอียดอ่อนพอสมควร ต้องวัดกันเป็นองศา คงต้องพึ่งพาผู้เชี่ยวชาญด้านฮวงจุ้ยจะดีกว่า?
ห้องพระอยู่ชั้นล่างได้หรือไม่ ?
การนำสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาไว้ชั้นล่างจะต้องระมัดระวังในการวางตำแหน่งห้องพระ เพราะจะหาตำแหน่งค่อนข้างยากเนื่องจากบริเวณชั้นล่างจะพลุกพล่านมีการเดินเข้าเดินออก มีกิจกรรมมากมาย ดูทีวี ทำอาหาร พูดคุย หามุมสงบๆ แทบจะไม่ได้
ห้องพระควรเป็นบริเวณที่มีความสงบ การทำ ห้องพระชั้นล่างจะต้องพิจารณาถึงพื้นที่ชั้นบนที่ตรงกับห้องพระด้วย ถ้าเป็นห้องส้วมหรือห้องนอนอยู่เหนือห้องพระ ซึ่งถือเป็นการไม่สมควร จะต้องหาห้องที่ว่างหรือไม่มีคนอยู่จะดีที่สุด เช่น ตรงกับห้องโถงระเบียงชั้นบน เป็นต้น การทำห้องพระชั้นล่างสามารถทำได้อีกทางหนึ่งคือ การแยกส่วนของห้องพระออกจากตัวบ้าน ซึ่งผลกระทบจากชั้นบนก็จะไม่มี
กรณีของการวางหิ้งพระในบ้านหลักการก็เช่นเดียวกับห้องพระ แต่การเลือกตำแหน่งจะง่ายกว่าเพราะพื้นที่ไม่มากเท่าห้องพระ จุดที่เหมาะในการวางหิ้งพระชั้นล่าง ส่วนใหญ่นิยมวางในห้องรับแขกส่วนหน้าบ้านมากกว่าจะตั้งหิ้งไว้หลังบ้าน เพราะในตำราฮวงจุ้ยบอกเอาไว้ว่า เวลาเดินเข้าบ้านจะต้องเห็นสิ่งที่เป็นมงคลก่อน
การเดินเข้าบ้านแล้วมองเห็นพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ย่อมทำให้เจ้าของบ้านรู้สึกดีกว่าเห็นอย่างอื่น การวางสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในลักษณะที่ตรงกับทางเข้าบ้าน จะต้องไม่วางมากจนเกินความเหมาะสม เพราะจะเข้าข่ายผิดฮวงจุ้ย
ถ้าพระหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีมาก พลังของสิ่งศักดิ์สิทธ์ซึ่งเป็นพลังอิม(หยิน) จะมีมากด้วย ซึ่งจะสกัดโชคลาภไม่ให้เข้าบ้านได้ หรืออีกนัยหนึ่ง บ้านจะดูคล้ายโบสถ์ ซึ่งเป็นที่ทำกิจกรรมของสงฆ์ ไม่ใช่ที่อยู่ของคนธรรมดา เพราะฉะนั้นอย่าวางพระมาก ถ้ามีพระมากก็ควรทำเป็นห้องพระจะดีกว่า
บ้านที่มีพื้นที่ค่อนข้างจำกัด ควรคำนึงถึงหลักเกณฑ์และความเหมาะสมในการวางตำแหน่งห้องพระหรือหิ้งพระ เพื่อความเป็นสิริมงคลกับบ้านและผู้อยู่อาศัย
ห้องพระ...จัดดีเป็นมงคลกับบ้าน
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!