บีบีซีรายงานว่า คนวัยทำงานที่ยังโสดและใช้ชีวิตเพียงลำพัง เพิ่มความเสี่ยงที่จะมีอาการหดหู่ซึมเศร้ามากกว่าคนที่อาศัยอยู่กับครอบครัว ถึง 80% โดยผลการศึกษาพบว่าภาวะดังกล่าวเกิดขึ้นกับทั้งผู้หญิงและผู้ชายไม่ต่างกัน แต่ผู้หญิงมักจะซึมเศร้าจากปัจจัยหลักคือสภาพที่อยู่อาศัยที่ย่ำแย่ ขณะที่ผู้ชายจะรู้สึกขาดการสนับสนุนทางสังคม
ปัจจุบันจำนวนของผู้คนที่อาศัยอยู่เพียงลำพังในสังคมตะวันตกเพิ่มสูงขึ้น ในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา โดย 1 ใน 3 ของคนวัยทำงานในอังกฤษและสหรัฐอาศัยอยู่เพียงลำพัง ผู้ทำวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลจากชาวฟินแลนด์ในวัยทำงานเกือบ 3,500 คน แบ่งเป็นชาย 1,695 คน และหญิง 1,776 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ยที่ 44.6 ปี โดยสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการใช้ชีวิต การสูบบุหรี่ ดื่มเหล้า และการทำกิจกรรมต่างๆ การได้รับการสนับสนุนทางสังคม บรรยากาศในการทำงาน การศึกษา รายได้ สถานะการจ้างงาน ไปจนถึงสภาพที่อยู่อาศัย
นักวิจัยพบว่าคนที่อาศัยเพียงลำพังซื้อยาต่อต้านอาการซึมเศร้าในช่วง 8 ปีที่มีการติดตามข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างมากกว่าคนที่อยู่กับครอบครัวหรือมี เพื่อนอยู่ด้วยถึง 80% อย่างไรก็ดี ดร.ลอรา พูลกิ-ราแบค หัวหน้าคณะนักวิจัยจากศูนย์สุขภาพอันเนื่องมาจากงานของฟินแลนด์ชี้ว่า ปกติแล้วผลการศึกษาเช่นนี้มักจะได้ตัวเลขที่ต่ำกว่าความเสี่ยงที่มีอยู่จริง เพราะคนที่มีความเสี่ยงสูงมักจะหลีกเลี่ยงที่จะให้ความร่วมมือในการศึกษา ตั้งแต่ต้นจนจบ ดังนั้น จึงเป็นไปได้สูงที่ตัวเลขความเสี่ยงของผู้ที่อาศัยอยู่คนเดียวที่เกิดปัญหา สุขภาพจิตจะสูงกว่านี้อีกมาก
ผู้ที่เป็นโสดแต่ยังอาศัยอยู่ร่วมกับผู้อื่นจะได้รับการสนับสนุนด้าน อารมณ์จากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาด้านจิตใจตามมา ขณะที่การใช้ชีวิตคนเดียวจะทำให้เกิดความรู้สึกโดดเดี่ยวแปลกแยก ขาดทักษะในการเข้าสังคม รวมถึงขาดความไว้เนื้อเชื่อใจผู้อื่น ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตอย่างเลี่ยงไม่พ้น
ที่มา สสส. / หนังสือพิมพ์มติชน
คนโสดอยู่ลำพังเสี่ยงซึมเศร้ามากกว่าคนอยู่กับครอบครัว
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!