นักวิจัยชี้ว่า ป้ายเตือนปริมาณสารอาหารบนผลิตภัณฑ์อาหารขยะ จะมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ หากเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนว่า จะต้องออกกำลังกายเท่าไหร่จึงจะขจัดแคลอรีที่บริโภคเข้าไปได้หมด
ดื่มน้ำอัดลม หนึ่งกระป๋องต้องวิ่ง50นาที
งานวิจัยค้นพบว่า วัยรุ่นกว่าครึ่งรู้สึกไม่อยากดื่มน้ำอัดลม หากได้เห็นฉลากเตือนว่า จะต้องออกกำลังกายด้วยการวิ่ง 1 ชั่วโมงต่อการดื่มน้ำอัดลมหนึ่งกระป๋อง
งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร “American Journal of Public Health” ระบุว่า การติดฉลากว่า ผู้บริโภคต้องออกกำลังกายเท่าไหร่ จึงจะสามารถขจัดแคลอรีจากอาหารขยะได้หมด จะช่วยลดความน่ารับประทานลง
คณะผู้วิจัยจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ติดป้ายเตือนด้านนอกร้านค้า 3 แบบ เพื่อทดลองว่าป้ายเตือนแบบไหนจะทำให้วัยรุ่นขยาดการรับประทานอาหารขยะมากที่ สุด แม้ป้ายทั้งสามจะระบุถึงจำนวนพลังงาน 250 แคลอรีเท่ากันหมดก็ตาม
ป้ายอันแรกเตือนว่า น้ำอัดลมให้พลังงาน 250 แคลอรี ป้ายอันที่ 2 เตือนว่า น้ำอัดลม 1 กระป๋องให้พลังงาน 10% ของที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน ส่วนป้ายอันสุดท้ายเตือนว่า ผู้บริโภคต้องวิ่งอย่างน้อย 50 นาที เพื่อกำจัดแคลอรีจากน้ำอัดลม
ผลการศึกษาพบว่า ผลลัพธ์จากการระบุข้อมูลแคลอรีอย่างละเอียด ช่วยลดยอดขายอาหารขยะได้ 40% โดยเฉพาะป้ายเตือนว่า จำเป็นต้องออกกำลังกายในปริมาณเท่าไหร่หลังบริโภคประสิทธิภาพมากที่สุด สามารถลดยอดขายในกลุ่มวัยรุ่นได้ถึงครึ่งหนึ่ง เมื่อเปรียบเทียบกับคำเตือนชนิดอื่นๆ
ดร.ซาราห์ เบลช ผู้นำการวิจัย กล่าวว่า ผู้คนทั่วไปมักประเมินจำนวนแคลอรีที่ได้รับจากอาหารขยะต่ำไป แต่การเปรียบเทียบปริมานแคลอรีจากอาหารเป็นการออกกำลังกาย จะช่วยให้ผู้บริโภคเข้าใจง่ายขึ้น เช่น เปรียบจำนวนแคลอรีจากน้ำหวานเท่ากับการวิ่งกี่นาที
เธอชี้แจงว่า เนื่องจากปัญหาสุขภาพโดยมากมีต้นเหตุมาจากอาหารขยะ มันจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่เราจะต้องหายุทธศาสตร์ในการเตือนผู้บริโภคที่มี ประสิทธิภาพที่สุด เช่น ติดฉลากแบบใหม่บนสินค้า หรือบนเมนูร้านฟาสต์ฟู้ด
น้ำหวานและน้ำอัดลมเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหลายชนิด เช่น โรคอ้วน โรคหัวใจ ไปจนถึงโรคเบาหวานประเภท 2 ทว่าน้ำอัดลมเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในบรรดาวัยรุ่น และผู้ที่มีรายได้น้อย