ไม่ใช่เรื่องเล็ก! รู้ไว้นอนกรนทำให้ตายได้

ไม่ใช่เรื่องเล็ก! รู้ไว้นอนกรนทำให้ตายได้


ราว 1 ใน 8 ของประชากรโลกจะนอนกรน แน่นอน มันอาจไม่สร้างปัญหา หากคุณไม่ต้องแชร์ที่นอนกับใคร แต่แท้จริงแล้วการนอนกรนส่งผลกระทบมากกว่านั้นมาก ทั้งจากเป็นสาเหตุของการหย่าร้าง สร้างความรำคาญ ไปจนกระทั่งอาจทำให้คุณถึงตายได้

          ข้อมูลล่าสุดพบว่าในช่วงเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา 1 ใน 5 ของอุบัติเหตุบนทางหลวงในสหรัฐอเมริกามีสาเหตุเกี่ยวข้องกับอาการหยุดหายใจในขณะนอนหลับ ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการกรน แต่การหยุดหายใจขณะหลับของคนขับรถ มีคนให้ความสนใจน้อยกว่าการขับรถผิดกฎหรือเมาแล้วขับหลายเท่าตัว

          "เพราะคนส่วนใหญ่มักไม่รู้ว่าตัวเองมีอาการนอนกรน กระทั่งมีคนอื่นมาบอก การนอนกรนมีผลกระทบต่อสุขภาพมาก โดยเฉพาะหากมีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับร่วมด้วย และนำมาซึ่งโรคแห่งความเสื่อมหลายชนิด เช่น โรคความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดในสมอง อัลไซเมอร์และความจำเสื่อม ในทางการแพทย์จึงมีความพยายามในการศึกษาถึงสาเหตุของการนอนกรน และภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับตามปัจจัยต่าง ๆ ครับ" นพ.สรัลชัย เกียรติสุระยานนท์ อายุรแพทย์ด้านหู คอ จมูก กล่าว และแนะนำวิธีสังเกตอาการด้วยตนเองเป็นเบื้องต้นไว้ดังนี้

        ให้คนใกล้ตัวช่วยสังเกตว่าคุณกรนตอนนอนหลับหรือไม่

        การกรน มีลักษณะกรนแล้วหยุด สักพักค่อยกรนใหม่ พร้อมมีอาการสะดุ้งหรือสำลักน้ำลายหรือไม่

        ตื่นนอนตอนเช้าไม่แจ่มใส ทั้งๆ ที่นอนมากกว่า 6 ชั่วโมง

        มีอาการมึนศีรษะ

        ตรวจวัดความดันว่ามีความดันโลหิตขึ้นสูงในช่วงเช้า แต่ตอนสาย ๆ กลับลดลงหรือไม่

        มีอาการง่วงนอนมากกว่าปกติถึงขนาดสัปหงกระหว่างการทำงานหรือไม่

        มีอาการตื่นมาปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืนมากกว่า 2 ครั้ง แต่กลางวันกลับปัสสาวะไม่บ่อยหรือเปล่า

         หากคุณมีอาการทั้งหมดที่ว่ามา กรกรนของคุณอาจมีความหมายมากกว่าแค่นอนส่งเสียงแต่มันคือการนอนที่ส่งสัญญาณอันตราย คือเป็นนอนกรนชนิดอันตราย หรือที่เรียกว่า ภาวะหยุดหายใจจากทางเดินหายใจอุดตันขณะนอนหลับ (Obstructive Sleep Apnea หรือ OSA) ซึ่งแพทย์จะทำการตรวจการนอนหลับ (Sleep Test) เพื่อยืนยันว่าการนอนกรนของคุณเป็นอันตรายมากน้อยแค่ไหน หากมีอาการหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Apnea-hypopnea Indes หรือ AHI) มากกว่า 30 ครั้ง/ชั่วโมง ถือว่าอันตรายมาก

         นพ.สรัลชัย อธิบายเพิ่มเติมว่า โดยทั่วไปแล้วการกรนอาจเกิดได้จาก 3 สาเหตุใหญ่ นั่นคือ อายุเมื่อเรามีอายุมากขึ้น เนื้อเยื่อและกล้ามเนื้อต่าง ๆ ในช่องลำคอหย่อนยาน จนตกไปบังทางเดินหายใจได้ง่าย โครงสร้างทางเดินหายใจแคบลงจากภาวะต่าง ๆ เช่น ต่อมทอนชิลโตมาก ผนังกั้นจมูกคด ลิ้นโตผิดปกติ เพดานอ่อน และลิ้นไก่หย่อนยาว

         ปัจจัยที่สองคือความอ้วน เนื่องจากไขมันจะกระจายอยู่รอบ ๆ ทางเดินหายใจช่วงบน เวลาที่นอนลงเกิดน้ำหนักกดทับ ทำให้ช่องคอแคบลงกระบังลมทำงานได้ไม่เต็มที่ ความจุกของปอดลดลงจนเกิดการหยุดหายใจได้ และสุดท้ายคืออาการเพลียจากการออกกำลังกายอย่างหนัก หรือการดื่มสุรา จะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง รวมทั้งกล้ามเนื้อที่คอยพยุงช่องทางเดินหายใจให้เปิดหมดแรงไปด้วย จึงเกิดภาวะทางเดินหายใจอุดตันได้ง่ายขึ้น

        ส่วนการรักษา ในปัจจุบันคุณสามารถใช้เครื่องช่วยหายใจ (CPAP) เนื่องจากเป็นวิธีที่ทั่วโลกถือว่าได้ผลดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ไม่เจ็บ แต่ต้องใช้เครื่องดังกล่าวทุกคืนตลอดไป ซึ่งหากว่ามีปัญหาที่ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถใช้เครื่องนี้ได้ การผ่าตัดจึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง ฉะนั้น หากคุณอยากอยู่นาน ๆ การสงบปากสงบคำ ทั้งในยามตื่นและยามนอน อาจช่วยให้คุณอยู่ดูโลกได้นานขึ้นนะครับ


ที่มา ... GM 

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์