
เอเอฟพี - เทศกาลอีสเตอร์เป็นเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ที่สำคัญที่สุดของชาวคริสต์ ซึ่งในปีนี้เริ่มขึ้นแล้วเมื่อวันศุกร์(25)ที่ผ่านมา เพื่อเฉลิมฉลองการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์ แต่ผ่านมาหลายพันปี ปัจจุบันอีสเตอร์ที่หลายๆ คนนึกถึง มักจะเป็นเทศกาลแห่งกระต่ายน้อยน่ารักน่าชังและไข่ช็อกโกแลตไปเสียอย่างนั้น
ดูเหมือนว่ารากเหง้าของเทศกาลอีสเตอร์จะเกิดขึ้นจากการเฉลิมฉลองฤดูใบไม้ผลิของชาวแองโกลแซกซอน ซึ่งทำพิธีบูชาเทพีแห่งความอุดมสมบูรณ์ คือ เทพีออสเตอร์ หรือ อีสเตอร์
เนื่องจากกระต่ายมีพฤติกรรมผสมพันธุ์อันน่าทึ่ง สัตว์ขนปุกปุยเหล่านี้จึงถูกนำมาเป็นเครื่องบูชาเทพีอีสเตอร์ และดูเหมือนว่าชาวแองโกลแซกซันจะวาดภาพเทพเจ้าของพวกเขามีเศียรเป็นกระต่ายด้วย แม้จะไม่มีหลักฐานทางโบราณคดีชี้ชัดก็ตาม
ในศตวรรษที่ 2 ชาวคริสต์ เริ่มรู้จักพิธีนอกรีตนี้และนำมาผสมผสานกับพิธีฉลองการฟื้นคืนชีพของพระเยซูคริสต์ ลักษณะเดียวกับการเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสในช่วงฤดูหนาว คือ จัดพิธีขึ้นในวันที่ดวงอาทิตย์อยู่ห่างจากเส้นศูนย์สูตรของโลกมากที่สุด
คริสตศักราช 325 จักพรรดิคอนสแตนตินพยายามสร้างแบบแผนในการฉลองวันสำคัญทางศาสนาทั้งสองโดยจัดประชุมสภาที่เมืองไนเซีย ซึ่งที่ประชุมได้กำหนดให้ฉลองเทศกาลอีสเตอร์ในวันอาทิตย์แรก หลังจากพระจันทร์เต็มดวงในวันวิษุวัต (วันที่มีกลางคืนและกลางวันเท่ากัน) ของฤดูใบไม้ผลิ
ข้อกำหนดดังกล่าวถูกนำมาใช้ปฏิบัติกันจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นในศาสนจักรออร์ทอดอกซ์ ซึ่งมีปฏิทินถือปฏิบัติแตกต่างออกไป ทั้งนี้ ตามปฏิทินดังกล่าวชาวออร์ทอดอกซ์จะจัดฉลองอีสเตอร์ในวันใดวันหนึ่งระหว่างวันที่ 21 มีนาคมถึง 25 เมษายายนของทุกปี
เวลาล่วงเลยมา ออสเตอร์กลายเป็นอีสเตอร์ ด้วยความเคร่งครัดและยึดมั่นพิธีกรรมทางศาสนาเริ่มเข้าไปแทนที่การฉลองนอกรีต กระต่ายเปลี่ยนจากสัญลักษณ์ของการสืบพันธุ์ไปเป็นสัญลักษณ์แห่งความบริสุทธ์ไร้เดียงสา
อย่างไรก็ตาม บันทึกของเวเนอเรเบิล บีด นักบวชผู้บันทึกเหตุการณ์การใช้ชีวิตของชาวอังกฤษในสมัยกลางระบุว่า พิธีกรรมนอกรีตยังปรากฏต่อมาอีกหลายศตวรรษ ซึ่งก็หมายความว่าบางครั้งอาจมีการฉลองเทศกาลอีสเตอร์ปีละ 2 ครั้ง
แม้ว่าจะไม่แน่ชัดว่า การมอบไข่นั้นเข้ามาเกี่ยวข้องกับเทสกาลอีสเตอร์ตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ไข่ก็เป็นสัญลักษณ์ของชีวิตและการถือกำเนิดขึ้นอีกครั้งมานานแสนนานแล้ว การระบายสีสันลงบนไข่นั้นเกิดขึ้นย้อนหลังไปถึงสมัยโรมยุคโบราณ คือ ช่วงปี 1200 ราชพงศาวดารของอังกฤษบันทึกว่า กษัตริย์เอดเวิร์ดที่ 1 ทรงใช้เงิน 18 เพนนี เพื่อซื้อไข่ 450 ฟองที่ถูกระบายสีเป็นรูปใบไม้สีทองแจกจ่ายให้แก่สมาชิกของราชวงศ์
ประเพณีค่อยๆ เป็นที่นิยมแพร่หลายในเวลาต่อมา อีก 500 ปีให้หลัง กษัตริย์หลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศสถึงกับทรงกำหนดให้อีสเตอร์เป็นประเพณีถือปฏิบัติ โดยทรงขอให้พสกนิกรมอบไข่ใบใหญ่ที่สุดที่ออกมาในช่วงสัปดาห์ศักดิ์สิทธิ์แด่พระองค์ และในวันอีสเตอร์ซันเดย์พระองค์ก็จะทรงแจกไข่ระบายสีทองแก่ประชาชนและข้าราชบริพาร
พิธีการและขนบธรรมเนียมของอีสเตอร์นั้นแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ในประเทศที่นับถือนิกายออร์ทอดอกซ์ เช่น ในกรีซ จะระบายไข่เป็นสีแดงซึ่งหมายถึงโลหิตของพระเยซู และในช่วงเลาเที่ยงคืนของวันเสาร์ก็จะพากันตีไข่ให้แตก เท่ากับเป็นการป่าวประกาศการฟื้นคืนชีพของพระเยซู
ในฝรั่งเศส การตีระฆังโบสถ์ในเช้าของวันเสาร์เป็นสัญลักษณ์หมายถึงการกลับจากโรมพร้อมไข่เต็มตะกร้า ทั้งนี้พิธีปฏิบัติดังกล่าวถูกห้ามระหว่างศตวรรษที่ 7 ด้วยเป็นสัญลักษณ์ของการไว้ทุกข์จากวันมอนดีเทอร์สเดย์ (วันพฤหัสบดีก่อนวันอีสเตอร์) ถึงวันอีสเตอร์ซันเดย์ (วันอีสเตอร์)
ระยะเวลาผ่านไปหลายร้อยปี แม้แต่กระต่ายอีสเตอร์ก็ได้เกิดใหม่เช่นกัน กระต่ายปุกปุยแสนน่ารักที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาลในปัจจุบันนั้น มีต้นกำเนิดช่วงทศวรรษ 1500 จากเรื่องราวของ ออชเทอร์ ฮาวส์ กระต่ายวิเศษที่เด็กๆ ชาวเยอรมันเชื่อว่าจะออกไข่ทิ้งไว้ให้ตามสวน
ชาวดัตช์และชาวเยอรมันรุ่นแรกที่เดินทางข้ามมหาสมุทรไปตั้งถิ่นฐานใหม่ ได้นำกระต่ายอีสเตอร์ไปสู่ทวีปอเมริกาด้วย และอีกหลายร้อยปีที่ผ่านมา การตลาดอันชาญฉลาดและการค้าช็อกโกแลตที่เติบโตขึ้น ทำให้ห้างร้านต่างๆ ล้วนแต่มีขนมหวานรูปกระต่ายและไข่วางขายเต็มเพียบในช่วงเทศกาลอีสเตอร์แต่ละปี
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว