ช่วงเทศกาลสงกรานต์นี้ นอกจากประชาชนจะท่องเที่ยวในเมืองไทยแล้ว ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ และต้องพกมือถือติดตัวไปด้วย ซึ่งทาง กสทช. แนะให้ผู้ที่สมัครใช้บริการโทรข้ามแดนอัตโนมัติหรือโรมมิ่ง จะต้องศึกษารายละเอียดก่อนเดินทาง
นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว ผู้ที่เดินทางไปต่างประเทศและนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ ประเภทสมาร์ทโฟน แท็บเล็ตไปด้วย มีข้อควรระวัง หากสมัครใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติหรือโรมมิ่ง จะต้องตั้งค่าเครื่องแบบ Manual ให้เลือกรับสัญญาณเฉพาะเครือข่ายที่อยู่ในโปรโมชั่นเท่านั้น และควรอ่านชื่อให้ถูกต้องเพราะบางเครือข่ายในต่างประเทศมีชื่อคล้ายคลึงกัน เช่น airtell กับ aircell อย่างไรก็ตาม ควรเลือกสมัครรายการส่งเสริมการขายที่เหมาะสมกับการใช้งาน เนื่องจากอัตราค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ โดยเฉพาะดาด้าโรมมิ่งมีอัตราสูง และในกรณีที่ใช้สมาร์ทโฟนจะมีการเชื่อมต่อตลอดเวลา ผู้ใช้บริการจึงควรศึกษาเงื่อนไขการให้บริการพร้อมอัตราค่าบริการก่อนเดินทาง
นายประวิทย์ กล่าวต่อว่า นอกจากโทรศัพท์สมาร์ทโฟนแล้วอุปกรณ์โทรคมนาคมสมัยใหม่ประเภท แท็บเล็ต เช่น ไอแพด ยังมีข้อจำกัดไม่สามารถรับข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) แจ้งเตือนของผู้ให้บริการได้ ทำให้ไม่ได้รับข้อมูลปริมาณการใช้งานจากบริษัท กรณีนี้อาจต้องแจ้งอีเมลไว้กับเครือข่ายผู้ให้บริการ เพื่อใช้เป็นช่องทางแจ้งปริมาณการใช้งานกลับมายังผู้ใช้
“ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวเช่นนี้ ขอให้ระมัดระวังกรณีท่องเที่ยวในพื้นที่ชายแดน หากเปิดใช้บริการโรมมิ่งไว้ เครื่องโทรศัพท์อาจไปจับสัญญาณอัตโนมัติ ดังนั้นอาจปิดบริการโรมมิ่ง หรือสังเกตหน้าจอขณะใช้งาน ซึ่งพบว่า มีผู้ร้องที่เดินทางไป เชียงคาน จ.เลย หรือ แม่สาย จ.เชียงราย ช่วงสงกรานต์ปีที่ผ่านมาถูกคิดค่าบริการดาต้าโรมมิ่งไปเกือบหกหมื่นบาท” กสทช.ประวิทย์กล่าว
นายประวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. ได้จัดทำคู่มือเล่มเล็กๆ เรื่อง การใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติ ชื่อ มือถือไปเมืองนอก หรือ Mobile Passport เพื่อแจกให้ผู้ที่สนใจ สามารถศึกษาป้องกันปัญหาบิลช็อกได้ โดยมีแจกที่จุดประชาสัมพันธ์การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย และจุดทำพาสปอร์ตของกรมการกงสุล สาขาแจ้งวัฒนะ เซ็นทรัลปิ่นเกล้า เซ็นทรัลบางนา หรือดาวน์โหลดได้ที่ www.tci.or.th
ทั้งนี้ จากการรับเรื่องร้องเรียนตั้งแต่ปี 2552-2554 พบว่า มีการร้องเรียนเรื่อง การใช้บริการข้ามแดนอัตโนมัติจำนวนทั้งสิ้น 118 กรณี รวมมูลค่า ค่าบริการที่ถูกโต้แย้งทั้งหมดประมาณ 4,495,874 บาท สาเหตุสำคัญมาจากการไม่ทราบเงื่อนไขการใช้บริการตามรายการส่งเสริมการขายและการไม่ทราบวิธีการตั้งค่าใช้งานอุปกรณ์สื่อสารที่ใช้งานอยู่ ทำให้ผู้ใช้บริการหลายรายต้องกลายเป็นหนี้ก้อนใหญ่จากการใช้บริการโทรคมนาคมอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น นักศึกษารายหนึ่งเดินทางไปดูงานต่างประเทศกับอาจารย์เป็นเวลา 7 วัน ถูกคิดค่าบริการดาด้าโรมมิ่งมากกว่า 2 แสนบาท