ไซนัสอักเสบ...โรคใกล้ตัวที่ควรรู้

ไซนัสอักเสบ...โรคใกล้ตัวที่ควรรู้


ไซนัสอักเสบ โรคที่เราคุ้นหูเพราะมักจะได้ยินชื่ออยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงที่อากาศเปลี่ยน หลายคนเป็นโรคนี้แต่กลับไม่เข้าใจถ่องแท้ว่าโรคนี้คืออะไร หลากหลายเรื่องราวที่เราควรรู้แต่กลับไม่รู้ ไซนัสอักเสบจริง ๆ แล้วเป็นอย่างไร

   ไซนัสคืออะไร    

         หลาย ๆ คนอาจไม่เข้าใจหรือไม่รู้ว่าไซนัสคืออะไร และอยู่ตรงส่วนไหนในร่างกายของเราบ้าง โดยไซนัส (Sinus) นั้นก็คือโพรงอากาศในกะโหลกซึ่งถูกเรียกว่าโพรงไซนัส ซึ่งจะมีอยู่ด้วยกันสี่ตำแหน่งเป็นคู่ ๆ ดังนี้

           บริเวณหน้าผาก ใกล้กับหัวคิ้วทั้ง 2 ข้าง (frontal sinus)
           บริเวณหัวตาทั้ง 2 ข้าง (ethmoid sinus)
           บริเวณโหนกแก้ม 2 ข้าง (Maxillary sinus)
           บริเวณกะโหลกศีรษะ ใกล้ฐานสมอง (sphenoid sinus)

         สำหรับหน้าที่ของไซนัสนั้นก็คือการทำให้กะโหลกศีรษะเบาขึ้น และในขณะที่เราพูดก็จะทำให้มีเสียงก้องกังวานขึ้น อีกทั้งเยื่อบุไซนัสและจมูกจะทำการผลิตน้ำมูกใส ๆ เพื่อดักจับฝุ่นละออง และสิ่งแปลกปลอมต่าง ๆ ที่เราหายใจเข้าไป ซึ่งเยื่อบุเหล่านี้จะมีขนเล็ก ๆ พัดพาน้ำมูกลงไปด้านหลังของจมูก และเดินทางผ่านช่องคอ ก่อนกลืนลงไปสู่กระเพาะอาหาร จากนั้นจะถูกกรดในกระเพาะทำลายเชื้อโรคจนหมดไป

   รู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นไซนัสอักเสบ   

         สาเหตุของไซนัสอักเสบเกิดขึ้นจากการที่จมูกมีการติดเชื้อ อักเสบ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเพราะหวัด ภูมิแพ้ หรือเพราะมีสารระคายเคือง และสิ่งแปลกปลอมอยู่ในจมูก รวมทั้งเพราะมีฟันกรามที่ผุถึงโพรงรากฟัน เป็นโรคหัด และเกิดอุบัติเหตุที่กระดูกบนใบหน้า ดังนั้นจึงทำให้ท่อที่ติดต่อระหว่างโพรงไซนัสและจมูกมีอาการบวมจนตีบตัน ทำให้มีน้ำเมือกในโพรงจมูกคั่งค้างอยู่ เมื่อมูกภายในสะสมมากขึ้นก็จะมีความหนืด และลายสภาพเป็นกรด ทำให้เชื้อโรคเข้าไป จนกลายเป็น ไซนัสอักเสบ

       สำหรับอาการทั่ว ๆ ไปของผู้ที่เป็นไซนัสอักเสบนั้นยากที่จะยืนยันได้ชัดเจนทันทีว่าใช่หรือไม่ 
เพราะมีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดามาก นั่นคือมีอาการไข้ ปวดเมื่อย เจ็บคอ แต่ก็มักจะหายภายใน 7-10 วัน ส่วนอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล ไอ อาจเป็นต่อเนื่องถึง 2-3 สัปดาห์ แต่ความรุนแรงจะลดลงจนหายได้ในที่สุด 

         แต่ถ้าหากเป็นอาการของไซนัสอักเสบล่ะก็ หลังจากที่มีอาการไข้หวัดผ่านไปจนถึง 10 วันแล้ว แต่อาการต่าง ๆ กลับไม่ดีขึ้น หรือดีขึ้นแล้วกลับทรุดลงไปอีก หรือเป็นซ้ำอีก ที่สำคัญคือปวดบริเวณใบหน้า ลักษณะเช่นนี้ให้วินิจฉัยไว้ก่อนว่าอาจเป็นอาการของไซนัสอักเสบที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย โดยผู้ป่วยจะมีอาการคัดแน่นจมูก น้ำมูกไหลลงรูจมูก หรือไหลลงคอ และอาจปวดตื้อบริเวณด้านข้างจมูก และใบหน้า ถ้าหากท่านมีอาการเช่นนี้ให้รีบไปพบแพทย์ทันที

   โรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อเป็นไซนัสอักเสบ   

          จริง ๆ แล้วโรคไซนัสอักเสบนั้นไม่ถึงกับเป็นอันตราย เพียงแค่ทำให้รู้สึกรำคาญบ้างเท่านั้น แต่ก็อย่าประมาทไป เพราะในบางรายอาจเกิดโรคแทรกซ้อนขึ้นได้ ดังนี้

       1. การติดเชื้อที่อาจลุกลามเข้าไปในกระบอกตา ลักษณะเช่นนี้จะทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ ตาอักเสบและเกิดเป็นฝีรอบตา (Periorbital abcess) มักพบในเด็ก หรือคนชรา ความรุนแรงถึงขั้นทำให้ตาบอดได้ อาการแรกเริ่มคือตาจะบวมเพียงข้างเดียวและแดง หนังตาบวมเจ็บ ลูกตาโปน แต่ก็สามารถรักษาได้โดยการฉีดยาปฏิชีวนะ และการผ่าตัด

       2. โรคแทรกซ้อนขึ้นสมอง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ฝีใต้เยื่อหุ้มสมอง มักพบในเด็ก หรือคนชรา ที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง โรคแทรกซ้อนชนิดนี้อาจก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อรุนแรงที่ทำให้เสียชีวิตได้

       3. ริดสีดวงจมูก เกิดก้อนในจมูกจากภาวะไซนัสอักเสบเรื้อรัง หรือเกิดจากภูมิแพ้ที่ไม่ลุกลามไปที่อื่น แต่กลับไปเบียดกระดูก แต่เมื่อทานยาแก้แพ้ก็จะทำให้ยุบลงบ้าง รักษาด้วยการผ่าตัด

           
ไซนัสอักเสบสามารถป้องกันได้แค่เพียงดูแลสุขภาพร่างกายตัวเราให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ พยายามหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีผู้คนแออัด หรือบริเวณที่มีฝุ่นควันมาก ๆ รวมทั้งรักษาสุขภาพปากและฟันให้ดี และถ้าเป็นหวัดก็ควรรีบรักษาให้หายขาดแต่เนิ่น ๆ เท่านี้ท่านก็ห่างไกลจากโรคใกล้ตัวโรคนี้ได้แล้วล่ะค่ะ


ที่มา ... E-Magazine


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์