คิดต่างได้ แต่ไม่แตกแยก ความคิดเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ ซึ่งอยู่ในตัวตน ความคิดให้ผลทั้งในทางสร้างสรรค์และทำลาย พลังความคิดทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในตนเองและผู้อื่น รวมไปถึงสภาพของสังคมด้วย
รุนแรง ตึงเครียด ก่อให้เกิดความฉุนเฉียว ความโกรธ มีคำพูดและการกระทำที่รุนแรง เป็นโทษตามมา....
แต่ในความจริงของสังคมทุกวันนี้ คำถามหนึ่งที่ค้างคาใจและสร้างความวิตกกังวลให้กับพ่อแม่ได้มากมาย ก็คือเด็กๆ วันนี้จะเติบโตอย่างไร ท่ามกลางสังคมที่มีความคิดแตกแยก
รักลูกจึงอยากชวนคุณๆ มาร่วมกันหาคำตอบค่ะ
ความคิดแตกต่าง Vs ความคิดแตกแยก
2 คำนี้ฟังเผินๆ ดูเหมือนว่าความหมายจะใกล้เคียงกัน แต่จริงๆ แล้วมีความแตกต่างกันอยู่
ความคิดแตกต่าง หมายถึงการคิดได้หลายแบบ หลายอย่าง แต่ว่ายังรวมอยู่ด้วยกันได้ เพราะบนโลกนี้ ทุกอย่างมีความแตกต่างกัน ไม่ได้มีอะไรเหมือนกัน แม้กระทั่งในครอบครัวเดียวกันยังมี พ่อ แม่ ลูก ปู่ย่า ตายาย มีความแตกต่างแต่ก็สามารถรวมกันเป็นคำว่าครอบครัวได้
ความคิดแตกแยก หมายถึงการแยกออกจากกัน ไม่รวมกัน คำว่าแตกแยก จะถูกมองว่าเป็นด้านลบ แต่ว่าในความแตกแยกนั้น อาจจะมีที่มาที่ไปจากมุมมองที่แตกต่างกัน แม้คำว่ามุมมองที่แตกต่างกัน แต่ไม่ได้หมายความต้องแตกแยกเสมอไปค่ะ
ความแตกแยกเกิดจาก...การที่คนเรามีทัศนคติ หรือเจตคติโน้มเอียง หรือยึดถือสิ่งใดสิ่งหนึ่งตามมุมมองของตนเอง หรือตามสิ่งแวดล้อมรอบตัว ซึ่งส่วนใหญ่จะเอนเอียงไปทางทัศนคติเชิงลบ แต่พ่อแม่สร้างรากฐานดีงามให้กับลูกตั้งแต่เล็กให้มีความคิดเชิงบวก ก็จะเป็นเกราะป้องกันชั้นเยี่ยม แม้คิดต่าง แต่จะไม่เกิดความแตกแยกค่ะ
ปลูกฝังความคิดเชิงบวก =ไม่แตกแยก
ความคิดของเด็ก เปรียบเหมือนเมล็ดพันธุ์น้อยๆ ที่เจริญเติบโตเป็นความรู้สึก ไปเป็นการกระทำ สู่นิสัย และกลายเป็นบุคลิกภาพติดตัว
ดังนั้น ถ้าอยากให้เติบโตเป็นต้นไม้ที่สวยงามได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับการดูแลเอาใจใส่ รดน้ำ พรวนดิน ใส่ปุ๋ยที่ดีด้วยสองมือพ่อแม่ดังนี้ค่ะ
เติมความรัก ความเข้าใจ เป็นรากฐานชีวิตที่ดีที่สุดให้กับลูกตั้งแต่ขวบปีแรก การที่พ่อแม่มอบความรัก ใส่ใจลูกอย่างเต็มที่ และเข้าใจถึงความต้องการของลูกแต่ละช่วงวัย จะสร้างความรู้สึกไว้วางใจ ปลอดภัย มั่นคงในชีวิตให้กับลูกค่ะ
ให้เวลา ใกล้ชิด ในการที่จะพูดคุยกับลูก และควรเป็นเวลาคุณภาพ คือการอยู่ด้วยกัน บางทีอาจจะไม่ได้คุยกันมาก แต่อยู่ด้วยกันก็ยังดีค่ะ แม้จะเป็นช่วงเวลาน้อย มีปฏิสัมพันธ์กันน้อย แต่ก็ยังดีกว่าต่างคนต่างอยู่ เช่น นั่งดูโทรทัศน์ด้วยกัน คอยแนะนำ หรือชี้แนะอยู่ข้างๆ กัน ส่งเสริมให้ลูกได้คิดเป็น โดยใช้วิธีการตั้งคำถามให้ลูกได้คิดเอง หรือให้ลูกได้ลองผิดลองถูกเอง ถ้าพ่อแม่สามารถทำให้บรรยากาศเป็นแบบนี้ได้ ลูกก็รู้ว่าพ่อแม่ห่วงใย เกิดความรู้สึกมั่นคงในชีวิต
รับฟัง เห็นอกเห็นใจ เปิดใจและรับฟังปัญหาของลูก และคอยเป็นที่ปรึกษาที่ดี บางครั้งพ่อแม่มักจะคาดหวังลูกแบบหนึ่ง ส่วนลูกก็คาดหวังพ่อแม่อีกแบบหนึ่ง ทำให้ความคิดสวนทางกัน ควรเปิดใจรับฟังกันบ้าง เพื่อเข้าใจปัญหาของกันและกัน ถ้าได้คุยกัน รับฟังถึงความต้องการของกันและกัน ก็จะเดินไปในทางเดียวกัน เกิดความเห็นอกเห็นใจกัน และทำตามความต้องการของอีกฝ่ายอย่างเต็มใจ
สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวหล่อหลอม และปลูกฝังความคิดเชิงบวกให้กับลูก รวมถึงคนรอบข้างด้วย ไม่ว่าเจะอยู่ในสถานการณ์ใดก็จะไตร่ตรองอย่างรอบคอบ และผ่านไปได้ด้วยดีค่ะ