ไซซี หวังเจาจวิน เตียวเสี้ยน และหยางกุ้ยเฟย ได้รับการขนานนามให้เป็นสี่ยอดหญิงงามแห่งแผ่นดินจีน
ในจำนวนทั้งหมดนี้จัดให้ไซซีอยู่ในอันดับแรก และกลายเป็นสัญลักษณ์ของหญิงงามนับแต่นั้นมา
เรื่องราวของสี่ยอดสาวงามของจีนนี้ เป็นเรื่องราวที่โด่งดัง และเป็นที่เล่าขานของชนรุ่นหลังมากมาย บ้างก็ว่าทั้งสี่นางเป็นผู้มีคุณต่อแผ่นดินล้นเหลือ ที่ได้ช่วยผ่อนคลายทุกข์เข็ญของชาวประชา จากผู้มีอำนาจที่คิดจะมายึดครองอธิปไตยของเมืองอื่น บ้างก็ว่านางทั้งสี่ เป็นผู้ทำให้แผ่นดินล่มสลาย และเกิดการจราจลกันอีกนานต่อมา สำหรับข้าพเจ้า มองเห็นความเสียสละของสาวงามบางท่าน และได้ชื่นชมกับความสามารถ กอปรกับเชาว์ปัญญาของแม่นางทั้งสี่นี้เป็นอย่างมาก ไหนจะต้องยอมจากถิ่นฐานบ้านเกิด ถูกดูหมิ่นดูแคลนจากคนต่างเชื้อสาย ต้องใช้ความสามารถในการร้องรำทำเพลง เสน่ห์ความงามเพื่อหลอกล่อบุรุศเพศให้หลงใหล และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้สละตัวเองมา... จะหาผู้ที่เสียสละเพื่อผู้อื่น โดยไม่คิดหวังเพื่อตนเอง ในปัจจุบันนี้คงยากนักหนา
ในบรรดาสี่ยอดสาวงามผู้พลิกประวัติศาสตร์จีนทั้งสี่นาง ข้าพเจ้าขอบอกว่า ข้าพเจ้าชอบแม่นางไซซีมากเป็นพิเศษ เพราะเมื่อตอนเด็กได้ชมละครเรื่องนี้ทางโทรทัศน์ และมีความประทับใจในอุปนิสัยและปัญญาของนางมาก ต่อเมื่อหลายปีผ่านไป ข้าพเจ้าได้อ่านคำวิจารณ์ความงามของสวางามทั้งสี่นางนี้ ผู้เขียน (ขออภัยที่ข้าพเจ้าจำไม่ได้) ได้กล่าวว่า ในบรรดาสาวงามที่สี่นาง ไซซี ถือว่าเป็นผู้ที่มีความงดงามมากที่สุด หากจะเปรียบเทียบกับวรรณคดีไทย ไซซี ก็เปรียบได้กับนางสีดาเลยทีเดียว
สี่ยอดหญิงงามในประวัติศาสตร์จีน
ไซซี (ซีซือ) ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ
ไซซี หรือซีซือ นามอี๋กวง เกิดในสมัยชุนชิว (ช่วงปี 722-481 ก่อนคริสต์ศักราช) ที่มณฑลเจ้อเจียง เป็นผู้ที่มีความงดงามมาแต่กำเนิด
ในสมัยชุนชิวนี้ รัฐอู่และรัฐเยว่ทำสงครามกัน เนื่องจากรัฐอู่มีกำลังทหารที่กล้าแข็ง ในเวลาที่ไม่นานนักก็สามารถเอาชนะรัฐเยว่ได้ และนำเอาเยว่อ๋องโกวเจี้ยน และอัครเสนาบดีนามฟ่านหลี่ ไปเป็นตัวประกัน เพื่อแก้แค้นที่ชาติถูกรุกราน เยว่อ๋องยอมตกอยู่ภายใต้อำนาจของอู่อ๋อง และแสร้งว่ามีความซื่อสัตย์ และจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ครั้งหนึ่งอู่อ๋องมีอาการปวดท้อง บรรดาหมอหลวงทั้งหลายที่เชิญมาต่างก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นโรคอะไร เมื่อเยว่อ๋องโกวเจี้ยนได้ทราบเรื่องนี้ จึงได้ชิมอุจจาระของอู่อ๋องต่อหน้าบรรดาขุนนางทั้งหลาย และกล่าวว่า “ท่านอ๋องไม่ได้ป่วยเป็นโรคอันใด แค่โดนความเย็นมากไปเท่านั้น เพียงดื่มเหล้าให้ร่างกายอบอุ่นก็เพียงพอแล้ว” อู่อ๋องทำตามที่โกวเจี้ยนแนะนำดื่มเหล้าเข้าไปเล็กน้อย ก็มีอาการดีขึ้นทันที อู่อ๋องเห็นว่าโกวเจี้ยนมีความจงรักภักดี จึงปล่อยตัวให้กลับรัฐเยว่
เมื่อโกวเจี้ยนกลับไปยังรัฐเยว่แล้ว ฟ่านหลี่ก็ได้เสนอแผนกู้ชาติ 3 แผนให้แก่เยว่อ๋อง หนึ่งคือ สั่งสมกำลังทหาร ฝึกฝนการรบ สองคือพัฒนาด้านการกสิกรรม และสามคือ คัดเลือกหญิงงามเพื่อส่งให้แก่อู่อ๋อง เพื่อเป็นสายคอยส่งข่าวภายในให้ ในเวลานั้น มีหญิงสาวนามว่าไซซี เป็นหญิงซักผ้า มีรูปร่างหน้าตางดงามเหนือกว่าผู้อื่น เมื่อนางไปซักผ้าอยู่ริมแม่น้ำนั้น น้ำอันใสสะอาดจะสะท้อนเงาอันงดงามของนาง ทำให้ยิ่งดูงดงามมากยิ่งขึ้น เมื่อมองเห็นเงาของนางแล้ว บรรดาปลาทั้งหลายที่ว่ายน้ำอยู่ ต่างก็ลืมที่จะว่ายน้ำ และค่อยๆจมลงสู่ก้นแม่น้ำไป นับแต่นั้นมาฉายา “ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงปลายังต้องจมลงสู่ใต้น้ำ”ของไซซี ก็เล่าลือกันไปทั่วบริเวณนั้น
หลังจากที่ไซซีถูกเลือกไปถวายแล้วนั้น เมื่ออู่อ๋องเห็นไซซีมีรูปโฉมที่งดงาม ก็เกิดความลุ่มหลงเป็นอย่างมากจนกระทั่งละเลยราชการ ไม่สนใจบ้านเมือง ทำให้บ้านเมืองอ่อนแอลงเรื่อยๆ เยว่อ๋องโกวเจี้ยน จึงถือโอกาสยกทัพเข้าโจมตีรัฐอู่ และสามารถกู้ชาติได้สำเร็จ ไซซีเสียสละเพื่อบ้านเมือง แสดงให้เห็นถึงหญิงสาวคนหนึ่งที่มีความรักชาติเป็นอย่างยิ่ง
ตำนานเล่าว่า หลังจากที่รัฐอู่พ่ายแพ้แล้ว ไซซีได้ออกท่องเที่ยวไปกับฟ่านหลี่ ไม่ทราบว่าสุดท้ายมีชะตากรรมอย่างไร เป็นที่ระลึกถึงของชนรุ่นหลังตลอดมา
หวางเจาจวิน ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงนกยังต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า”
ในรัชสมัยฮั่นซวนตี้ บรรดาชนชั้นสูงของชนเผ่าซงหนูต่างแย่งชิงอำนาจกัน มีข่าน 5 คนตั้งตนเป็นใหญ่ และทำสงครามกันเรื่อย ๆ ในจำนวนนี้ ข่านฮูหานเสีย รบแพ้ข่านจื้อจือ ผู้เป็นพี่ชาย จึงได้ตัดสินใจเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น และไปเข้าเฝ้าฮั่นซวนตี้ด้วยตนเอง ฮูหานเสียเป็นข่านคนแรกที่มายังดินแดนภาคกลาง ฮั่นซวนตี้จึงได้เสด็จออกไปต้อนรับที่ชานเมืองฉางอานด้วยพระองค์เอง และได้จัดงานเลี้ยงต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ ฮูหานเสียพักอยู่ที่นครฉางอานหนึ่งเดือนกว่า จึงได้ขอร้องให้ฮั่นซวนตี้ช่วยเหลือให้ได้เดินทางกลับไป ฮั่นซวนตี้ตอบตกลง และได้ส่งแม่ทัพสองนายนำทหารม้าหนึ่งหมื่นนายคุ้มกันส่งข่านฮูหานเสียกลับไป ในเวลานี้เผ่าซงหนูกำลังขาดแคลนอาหาร ราชสำนักฮั่นจึงได้ส่งเสบียงอาหารจำนวนมากไปด้วย ข่านฮูหานเสียรู้สึกซาบซึ้งเป็นอย่างยิ่ง และตั้งใจที่จะเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น เมื่อแคว้นต่างๆ ทางตะวันตกทราบว่าเผ่าซงหนูเป็นพันธมิตรกับราชวงศ์ฮั่น จึงต่างก็พยายามที่จะสร้างความสัมพันธ์กับราชวงศ์ฮั่นด้วย
หลังจากฮั่นซวนตี้สวรรคต พระโอรสก็ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบมา ทรงพระนามว่าฮั่นหยวนตี้ เมื่อข่านจื้อจือแห่งเผ่าซงหนูรุกรานแคว้นต่างๆ ทางตะวันตก และสังหารทูตที่ราชวงศ์ฮั่นส่งไป ราชวงศ์ฮั่นจึงได้ยกทัพออกไปรบและสังหารข่านจื้อจือได้สำเร็จ หลังจากที่ข่านจื้อจือตายแล้ว ฐานะของข่านฮูหานเสียก็มีความมั่นคงมากขึ้น
ปี 33 ก่อนคริสต์ศักราช ข่านฮูหานเสียเดินทางมายังนครฉางอานอีกครั้งและขอให้มีการสมรสเชื่อมพันธไมตรี ฮั่นหยวนตี้ก็ได้พระราชทานอนุญาต การที่เผ่าซงหนูจะสมรสกับราชวงศ์ฮั่นนั้นจะต้องเลือกจากบรรดาองค์หญิงหรือธิดาของเชื้อพระวงศ์เท่านั้น ในครั้งนี้ฮั่นหยวนตี้ทรงตัดสินพระทัยที่จะเลือกนางสนมคนหนึ่ง พระองค์ส่งคนไปยังวังหลังให้ประกาศว่า “ผู้ใดยินดีที่จะไปยังเผ่าซงหนู ฮ่องเต้ก็จะแต่งตั้งให้เป็นองค์หญิง” บรรดานางสนมในวังหลังนั้นต่างก็คัดเลือกมาจากราษฎรสามัญชน เมื่อพวกนางถูกคัดเลือกเข้ามาในวังหลวงแล้วก็เหมือนกับนกที่ถูกกักขังอยู่ในกรง ต่างก็หวังว่าจะมีสักวันหนึ่งที่พวกนางจะได้ออกจากวังไป แต่เมื่อได้ยินว่าจะต้องจากบ้านเกิดไปยังเผ่าซงหนู ต่างก็ไม่มีผู้ใดเต็มใจไป มีนางสนมคนหนึ่งนามว่าหวังเฉียง ฉายาเจาจวิน มีรูปโฉมงดงาม มีความรู้ ยินยอมที่จะไปแต่งงานยังเผ่าซงหนู หยวนตี้จึงได้เลือกวันที่จะจัดงานสมรสให้ข่านฮูหานเสีย และหวังเจาจวินที่นครฉางอาน ในขณะที่ข่านฮูหานเสีย และหวังเจาจวินกำลังแสดงความเคารพต่อฮั่นหยวนตี้อยู่นั้น ฮั่นหยวนตี้ก็ได้ทรงเห็นว่าหวังเจาจวินนั้นทั้งงดงาม และสุภาพเรียบร้อย นับว่าเป็นสาวงามในราชสำนักฮั่น ตำนานเล่าว่าเมื่อฮั่นหยวนตี้เสด็จกลับวังแล้ว ยิ่งคิดก็ยิ่งทรงพิโรธ จึงได้บัญชาให้นำเอารูปภาพของหวังเจาจวินมาให้ทอดพระเนตร ในรูปภาพนั้นแม้จะมีส่วนที่คล้ายคลึงอยู่บ้าง แต่ไม่มีความงดงามเหมือนหวังเจาจวินตัวจริงโดยสิ้นเชิง ทีจริงแล้วหลังจากที่บรรดานางสนมเข้ามาในวัง โดยทั่วไปมักจะไม่ได้พบกับฮ่องเต้ แต่จะให้บรรดาจิตรกรวาดภาพ และส่งภาพเหล่านั้นไปให้ฮ่องเต้เลือก มีจิตรกรคนหนึ่งนามว่าเหมาเหยียนโซ่ว เวลาที่วาดภาพนางสนมทั้งหลายนั้น หากนางสนมคนใดให้สิ่งของเงินทอง ก็จะวาดให้สวยงาม หวังเจาจวินไม่ยินยอมที่จะติดสินบน ดังนั้นเหมาเหยียนโซ่วจึงไม่ได้วาดภาพออกมาตามความจริง ฮั่นหยวนตี้ทรงพิโรธมาก รับสั่งให้ประหารชีวิตเหมาเหยียนโซ่ว
ภายใต้การคุ้มกันของบรรดาขุนนางราชวงศ์ฮั่นและเผ่าซงหนูหวังเจาจวินก็ได้เดินทางออกจากนครฉางอาน นางขี่มาฝ่าลมหนาวอันทารุณ เดินทางนับพันลี้ไปยังเผ่าซงหนู เป็นมเหสีของ
ข่านฮูหานเสีย ได้รับยศเป็น “หนิงหูเยียนจือ” ด้วยความหวังว่านางจะสามารถนำเอาความสงบสุขและสันติภาพมาสู่ชนเผ่าซงหนู หวังเจาจวินต้องจากบ้านเกิดไปไกล อาศัยอยู่ในเผ่าซงหนูเป็นเวลานาน นางเกลี้ยกล่อมข่านฮูหานเสียอย่าได้ทำสงคราม ทั้งยังเผยแพร่วัฒนธรรมของชาวฮั่นให้แก่ชาวซงหนู นับจากนั้นเป็นต้นมา เผ่าซงหนูและราชวงศ์ฮั่นต่างก็อยู่ร่วมกันอย่างสันตอ และไม่มีสงครามเป็นเวลานานถึงหกสิบกว่าปี ยิ่งไปกว่านั้นหลังจากที่ข่านฮูหานเสียสิ้นชีวิตแล้ว นางก็ได้ “ทำตามประเพณีของชาวซงหนู”โดยแต่งงานใหม่กับบุตร
ชายคนโตที่เกิดกับภรรยาหลวงของข่านฮูหานเสีย ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะขัดกับขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวฮั่น แต่นางก็คำนึงถึงส่วนรวมเป็นหลัก และคิดที่รักษาความสัมพันธ์อันดีระหว่างชาวฮั่นและชาวซงหนู หวังเจาจวินได้ให้กำเนิดบุตรชาย 1 คน และบุตรสาว 2 คนที่เผ่าซงหนู ปีและสถานที่ที่นางถึงแก่กรรมนั้น หนังสือประวัติศาสตร์ไม่ได้บันทึกเอาไว้
“ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงนกยังต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า”เป็นเรื่องราวตอนที่หวังเจาจวินเดินทางออกนอกด่าน ในรัชสมัยฮั่นหยวนตี้ ทางเหนือและใต้ทำสงครามไม่หยุดหย่อน ชายแดนไม่มีความสงบสุข เพื่อที่จะทำให้เผ่าซงหนูทางชายแดนด้านเหนือสงบลง ฮั่นหยวนตี้จึงได้พระราชทางหวังเจาจวินให้สมรสกับข่านฮูหานเสีย เพื่อที่จะสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างสองเมือง ในวันที่ท้องฟ้าสดใส หวังเจาจวินได้จากบ้านเกิดเดินทางไปทางเหนือ ระหว่างทาง เสียงม้าและเสียงนกร้องทำให้นางโศกเศร้า ยากที่จะทำใจได้ จึงได้ดีดพิณขึ้นเป็นทำนองที่แสดงความโศกเศร้าจากการพลัดพราก บรรดานกที่กำลังจะบินไปทางใต้ได้ยินเสียงพิณอันไพเราะนี้ จึงมองลงไปเห็นหญิงงามที่กำลังขี่อยู่บนหลังม้า ต่างก็ลืมที่จะขยับปีก และร่วงหล่นลงสู่พื้นดิน นับต่นั้นมา หวังเจาจวินจึงได้รับขนานนามว่า “ความงามที่ทำให้แม้แต่ฝูงนกยังต้องร่วงหล่นจากท้องฟ้า”นั่นเอง
เตียวเสี้ยน “ความงามที่ทำให้แม้แต่ดวงจันทร์ยังต้องหลบเลี่ยงให้”
เตียวเสี้ยน หรือเตียวฉาน เป็นนางระบำของขุนนางที่ชื่อว่าอ๋องอุ้น ในสมัยปลายราชวงศ์ฮั่นตะวันออก มีรูปโฉมที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง และมีความสามารถในการฟ้อนรำเป็นเลิศ ครั้นเมื่อนางเห็นว่าราชวงศ์ฮั่นตะวันออกตกอยู่ใต้อำนาจของขุนนางทรราชตั๋งโต๊ะ ซึ่งแอบอ้างราชโองการปกครองเหล่าขุนนาง ทำให้ขุนทางทั้งหลายไม่กล้าขัดขืน อีกทั้งอ๋องอุ้นกลัดกลุ้มใจ กินไม่ได้นอนไม่หลับ ในคืนพระจันทร์สว่างสดใส นางได้จุดธูปอธิษฐานต่อสวรรค์ยินดีที่จะรับภาระช่วยเหลือผู้เป็นนาย อ๋องอุ้นผ่านมาได้ยินเข้าก็รู้สึกซาบซึ้งยิ่งนัก จึงตรงเข้าไปพยุงนางลุกขึ้น และคำนับนาง นับจากนั้นจึงได้รับเตียวเสี้ยนเป็นธิดาบุญธรรม
อ๋องอุ้นเห็นว่าตั๋งโต๊ะกำลังยึดครองราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จึงได้วางแผนการอันต่อเนื่อง ยกเตียวเสี้ยนให้แก้ลิโป้ ก่อนอย่างลับๆ แล้วจึงค่อยยกนางให้แก่ตั๋งโต๊ะ ลิโป้นั้นมีความกล้าหาญอายุยังน้อย ส่วนตั๋งโต๊ะเจ้าเล่ห์เพทุบาย เพื่อที่จะดึงลิโป้มาเป็นพวก ตั๋งโต๊ะจึงได้รับลิโป้เป็นลูกบุญธรรม ทั้งสองต่างก็ฝักใฝ่ในอิสตรี ดังนั้นนับจากนั้นมาเตียวเสี้ยนต้องรับมือกับบุคคลทั้งสอง ทำให้ทั้งคู่หลงใหล หลังจากที่ตั๋งโต๊ะรับเตียวเสี้ยนไว้เป็นภรรยาน้อย ลิโป้เกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมาก
วันหนึ่ง ในขณะที่ตั๋งโต๊ะไปร่วมประชุมเหล่าขุนนาง ลิโป้ก็แอบเข้าไปพบกับเตียวเสี้ยน และนัดพบกันที่ศาลาฟ่งอี๋ เมื่อเตียวเสี้ยนไปพบลิโป้ ก็ได้แสร้งร้องไห้บอกเล่าความทุกข์ที่ถูกตั๋งโต๊ะขืนใจ ลิโป้โกรธมาก ในเวลาเดียวกันนั้นเองตั๋งโต๊ะกลับมาพบเข้า และด้วยความโกรธจึงได้แย่งเอาง้าวในมือของลิโป้และตรงเข้าแทง แต่ลิโป้หนีไปได้ นับจากนั้นทั้งสองต่างก็เกิดความระแวงซึ่งกันและกัน จนท้ายที่สุดอ๋องอุ้นก็สามารถเกลี้ยกล่อมลิโป้ให้กำจัดตั๋งโต๊ะได้ในที่สุด ฉายา “ความงามที่ทำให้แม้แต่ดวงจันทร์ยังต้องหลบเลี่ยงให้”ของเตียวเสี้ยนนั้นมาจากเรื่องราวตอนที่นางกำลังอธิษฐานต่อดวงจันทร์อยู่ภายในสวน ทันใดนั้นมีลมพัดขึ้นเบา ๆ เมฆจึงลอยมาบดบังอันสว่างสดใส ขณะนั้นบังเอิญอ๋องอุ้นมาพบเข้า เพื่อที่จะเป็นการกล่าวชมว่าธิดาของตนนั้นมีความงามเพียงใด เมื่อพบปะผู้คนก็มักจะกล่าวว่า บุตรีของข้าหากเทียบความงามกับดวงจันทร์แล้ว ดวงจันทร์ยังมิอาจเทียบได้ รีบหลบเข้าไปหลังหมู่เมฆ ดังนั้นผู้คนจึงขนานนามเตียวเสี้ยนว่า “ความงามที่ทำให้แม้แต่ดวงจันทร์ยังต้องหลบเลี่ยงให้”
หยางกุ้ยเฟย “ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย”
หยางอี้หวน มีชีวิตอยู่ในปี 719-756 เป็นชาวเมืองหย่งเล่อ มีความสามารถในทางดนตรีขับร้องและฟ้อนรำ ที่จริงเป็นชายาของโซ่วอ๋อง โอรสองค์ที่ 18 ของฮ่องเต้ถังเสวียนจง ภายหลังถังเสวียนจงพบว่าหยางอี้หวนมีรูปโฉมงดงาม คิดจะเรียกเข้าวัง ดังนั้นจึงตั้งให้เป็นนักบวชหญิงฉายาไท่เจิน สมัยเทียนเป่าปีที่สี่ (ค.ศ. 745) ได้เข้าวัง เป็นที่โปรดปรานของถังเสวียนจง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นสนมเอกหรือกุ้ยเฟย (ในขณะนั้นถังเสวียนจงมีพระชนมายุ 61 พรรษา ส่วนหยางกุ้ยเฟยมีอายุเพียง 27 ปีเท่านั้น) ทั้งบิดาและพี่ชายของหยางกุ้ยเฟยต่างก็มีอำนาจวาสนาในแผ่นดิน ทุกครั้งที่นางจะนั่งรถม้า ต่างก็มีบรรดาขุนนางใหญ่บังคับรถม้าให้ด้วยตัวเอง นางมีช่างถักทอและปักผ้าถึงเจ็ดร้อยคน มีผู้คนมากมายแย่งกันมอบของกำนัลต่างๆ ให้ เนื่องจากขุนนางจางจิ่วจางและหวังอี้มอบของกำนัลให้นางต่างก็ได้เลื่อนตำแหน่ง ดังนั้นบรรดาขุนนางทั้งหลายต่างก็หวังที่จะได้รับผลตอบแทนเช่นเดียวกัน หยางกุ้ยเฟยโปรดปรานลิ้นจี่จากแดนหลิ่งหนาน ก็มีผู้คนคิดหาวิธีที่จะนำส่งมาถึงเมืองฉางอานให้เร็วที่สุด
ภายหลังเกิดเหตุการณ์ก่อกบฏ ถังเสวียนจงต้องหลบหนีออกจากนครฉางอาน เมื่อไปถึงเนินหม่าเหวย บรรดาทหารทั้งหลายไม่ยอมเดินทางต่อ ต่างก็กล่าวว่า เป็นเพราะหยางกั๋วจง ซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของหยางกุ้ยเฟยสมคบคิดกับคนต่างเผ่า ทำให้อานลู่ซาน ก่อกบฏ เพื่อที่จะปลอบขวัญทหารถังเสวียนจงจึงได้รับสั่งให้ประหารชีวิตหยางกั๋วจง แต่บรรดาทหารต่างก็ยังคงไม่ยอมเดินทางต่ออยู่นั่นเอง ต่างก็กล่าวว่าหยางกั๋วจงนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องของหยางกุ้ยเฟย เมื่อพี่ชายมีความผิด น้องสาวก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงความผิดนั้นไปได้ หยางกุ้ยเฟยจึงถูกประหารชีวิตเช่นกัน
“ความงามที่ทำให้แม้แต่มวลหมู่ดอกไม้ยังต้องละอาย” เป็นฉายาของหยางกุ้ยเฟย ตอนต้นรัชสมัย ฮ่องเต้มีความลุ่มหลงในอิสตรี จึงได้ส่งคนออกค้นหาสาวงาม ในขณะนั้นหยางหยวนเหยียนมีธิดาที่รูปโฉมงดงามนามว่าหยางอี้หวนถูกเลือกเข้าวัง หลังจากที่เข้าวังแล้วนางก็มักจะคิดถึงบ้านเกิด วันหนึ่งนางไปเดินเล่นในสวนดอกไม้ มองเห็นดอกโบตั๋นและกุหลาบจีนที่กำลังบานสะพรั่ง แล้วคิดถึงตนเองที่ถูกกักอยู่ในวังหลวง ผ่านวัยสาวไปอย่างไร้ความหมาย นางร้องไห้พลางลูบดอกไม้นั้น เมื่อนางแตะถูกกลีบดอกไม้กลีบนั้นก็หุบลง ใครจะคิดว่าต้นไม้ที่นางลูบนั้นคือต้นนางอาย นางกำนัลคนหนึ่งพบเห็นเหตุการณ์นี้เข้า จึงนำไปเล่าลือว่าหากหยางอี้หวนเทียบความงามกับดอกไม้แล้ว ดอกไม้ยังต้องละอายก้มลงให้แก่นาง เรื่องนี้ได้ยินไปถึงพระกรรณฮ่องเต้ พระองค์มีความยินดีเป็นอย่างมาก จึงทรงเรียกหยางอี้หวนให้เข้าพบทันที นางแต่งกายงดงามแล้วจึงมาเข้าเฝ้า ฮ่องเต้ได้พบว่านางมีรูปโฉมที่งดงามเป็นอย่างยิ่ง จึงให้อยู่ปรนนิบัติรับใช้ข้างกาย เนื่องจากนางรู้จักเอาใจจึงเป็นที่โปรดปรานของฮ่องเต้ ไม่นานนักก็ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นกุ้ยเฟย
หลังจากที่หยางกุ้ยเฟยมีอำนาจ ก็ได้ร่วมมือกับหยางกั๋วจงให้ร้ายขุนนางที่ภักดี หลังจากเกิดเหตุก่อกบฏ ฮ่องเต้ได้นำเอาหยางกุ้ยเฟยรวมทั้งเหล่าขุนนางบุ๋นบู๊หลบหนีไปทางตะวันตก อานลู่ซานยกทัพติดตามไป เพราะไม่เพียงแต่ต้องการแผ่นดินราชวงศ์ถังเท่านั้น ยังต้องการสาวงามหยางกุ้ยเฟยอีกด้วย ระหว่างทางที่หลบหนีนั้นเหล่าขุนนางทั้งหลายถามฮ่องเต้ว่าท่านต้องการแผ่นดินหรือต้องการหยางกุ้ยเฟย หากไม่ประหารนางพวกเราก็จะไม่ร่วมทางไปด้วย ด้วยความจำเป็นฮ่องเต้จึงสั่งให้ประหารชีวิตหยางกุ้ยเฟย ให้นางผูกคอตายใต้ต้นหลีในสวน ภายหลัง กวีเอกไป๋จวีอี้ได้แต่งลำนำ “ฉางเฮิ่นเกอ” บรรยายเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์ตอนนี้ขึ้น
อย่างนี้แหละหนอ ความงามของสตรี เปรียบเสมือนดังน้ำผึ้งและยาพิษ หากใช้ให้พอเหมาะพอสมแล้ว ก็จะได้สิ่งจรรโลงใจและจรรโลกโลก แต่หากมากเกินไปแล้วไซร้ ย่อมได้รับโทษมากกว่าคุณ ... กี่ครั้งที่ประวัติศาสตร์ต้องเปลี่ยนแปลงเพราะน้ำมืออิสตรี กี่หนที่อำนาจความงามสามารถทำให้บุรุษเพศ ผู้ทรนงต่อศักดิ์ศรีตนเอง ต้องยอมสยบ
ขอบคุณ ....pantip