น้ำนมเป็นสัญลักษณ์แสดงความอุดมสมบูรณ์ ความบริสุทธิ์ และความดี ครอบครัวที่ไม่มีนมให้ลูกบริโภค จึงแสดงถึงการมีความทุกข์และความลำบากยากไร้
คัมภีร์ไบเบิลกล่าวถึงแผ่นดินที่มีน้ำนมและน้ำผึ้ง ซึ่งหมายถึงดินแดนที่ได้รับพรประเสริฐจากพระเจ้า ให้มีความอุดมสมบูรณ์ตลอดไป และนี่ก็คือสถานที่ที่ Moses ต้องการนำชาวอิสราเอล ออกจากอียิปต์ไปอยู่และสร้างประเทศ
เทพนิยายกรีกกล่าวถึงอาณาจักรแห่งกษัตริย์ Cronus ว่าร่ำรวยทองคำ และประชาชนต่างใช้ชีวิตอย่างสุขสบาย ด้วยการบริโภคน้ำนมและผลไม้โดยไม่ต้องทำงานใดๆ
เมื่อทารก Hercules ประสูติ พระบิดา Zeus ทรงนำพระองค์ไปดื่มพระกษิรธารา (น้ำนม) จากเทพธิดา Juno ขณะนางบรรทมหลับ เหตุการณ์นี้ทำให้นางตกพระทัยตื่น และหยาดพระกษิรธาราจากพระถันได้กระเส็นกระสายเป็นทางช้างเผือก (Milky Way)
นักประวัติศาสตร์พบว่า ก่อนที่มนุษย์จะรู้จักทำเกษตรกรรม ทารกที่เพิ่งคลอดจากครรภ์ ต้องดื่มนมแม่หรือนมสัตว์ ชาวสุเมเรียนเมื่อ 5,000 ปีก่อนนิยมเป็นแม่นม คือมีหน้าที่ดูแลทารกเกิดใหม่ โดยการให้นมและร้องเพลงขับกล่อม
ทั้ง Romulus และ Remus ซึ่งตำนานอ้างว่าคือผู้สร้างกรุงโรม ขณะเป็นทารกได้ดื่มนมสุนัขจิ้งจอก ชาวอียิปต์โบราณก็ตระหนักในความสำคัญของน้ำนม ดังปรากฏในภาพวาดเทพธิดา Isis กำลังให้นมทารก Horus ผู้ทรงเป็นฟาโรห์ในเวลาต่อมา
และเวลาฟาโรห์มีรัชทายาองค์น้อย พระองค์จะทรงเลือกแม่นมจากบรรดานางสนมในวัง มาให้การดูแลองค์รัชทายาท ดังนั้นแม่นมในสังคมอียิปต์โบราณจึงมีฐานะทางสังคมสูงมาก เพราะเป็นผู้ให้นมแก่รัชทายาท
และลูกของแม่นมเองก็มีฐานะเกือบเทียบเท่าพระราชบุตร/บุตรีของกษัตริย์ด้วย เพราะได้ดื่มนมจากเต้าเดียวกัน
สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งที่ทำให้อาชีพแม่นม ในอดีตรุ่งเรือง เพราะทุกคนมีความเชื่อว่า การให้ลูกดูดนมจากเต้าจะทำให้ร่างกายหญิงผู้นั้นทรุดโทรม จนไม่เป็นที่รักและที่ปรารถนาของสามี
ด้วยเหตุนี้สังคมกรีกโบราณจึงจ้างทาสหญิงที่เรียกว่า duolo มาให้นมแก่บรรดาลูกๆ ของเจ้านายและบรรดาลูกของทาสหญิงคนอื่น เพื่อว่าทาสหญิงเหล่านั้นจะได้ตั้งครรภ์ในเวลาไม่นาน แล้วลูกที่เกิดมาก็จะเป็นทาสรับใช้เจ้านายต่อไป
ถึงปราชญ์ เช่น Aristotle, Pliny, Cicero และ Plutarch จะไม่เห็นด้วยและประณามประเพณีแม่นม ว่าทำให้แม่-ลูกขาดความรักและความผูกพันกัน เพราะหน้าที่ธรรมชาติของมารดา คือต้องให้นมแก่ลูก
แต่เหล่าสตรีชั้นสูงก็ไม่ปฏิบัติตาม เพราะมีความเชื่อว่าครอบครัวที่มีแม่นม แสดงว่าครอบครัวนั้นร่ำรวย และสตรีคนใดให้ลูกดื่มนมตนเองแสดงว่าเธอยากจน
กรณีชาวตะวันออกกลาง ที่นับถือศาสนาอิสลาม เชื่อว่าทารก Mohammad ที่ได้กำพร้ามารดาตั้งแต่อายุยังน้อย จึงต้องอาศัยแม่นมเลี้ยง อย่างไรก็ตาม ทั้งคัมภีร์กุรอานและปราชญ์ Avicenna ต่างก็ให้ความสำคัญกับการดื่มนมแม่
โดยเฉพาะในช่วง 2 ปีแรกของชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นกฎหมายอิสลามยังห้ามคนที่ดื่มนมจากเต้าเดียวกันแต่งงานกัน เพราะถือว่าคนทั้งสองมีแม่คนเดียวกัน
เมื่อความคิดของ Avicenna แพร่เข้าสู่ยุโรป ผู้คนได้พากันเชื่อความคิดนี้ ดังนั้นชาวยุโรปจึงได้วาดภาพพระนางมาเรียให้ทารกเยซูดูดนม เช่น ภาพ Madonna and Child with Angels โดย Jean Fouquet และภาพ Madonna del latte โดย Ambrogio Lorenzetti เป็นต้น
ประวัติอาชีพแม่นม
อย่างไรก็ตาม บรรดากษัตริย์ยุโรปก็ยังทรงนิยม ประเพณีการมีแม่นมต่อไป เพราะทรงรู้ดีว่า ถ้ามเหสีไม่ให้รัชทายาทดื่มพระกษิรธารา พระนางจะทรงมีทายาทได้อีกในเร็ววัน
และเมื่อกษัตริย์มีพระราชประสงค์จะมีผู้สืบราชบัลลังก์ ดังนั้นในสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 12 ทารกในราชสำนักฝรั่งเศสทุกพระองค์ จึงต้องดื่มนมของแม่นม (ยกเว้นพระนาง Marie Antoinette ที่ทรงให้โอรสดื่มนมพระมารดา)
ไม่เพียงแต่ในราชสำนักเท่านั้นที่อาชีพแม่นมเจริญรุ่งเรือง ครอบครัวชาวฝรั่งเศสเมื่อ 400 ปีก่อน ถ้าเป็นครอบครัวที่มีฐานะ ก็นิยมจ้างนางพยาบาลมาดูแลสุขภาพ เมื่อครอบครัวมีสมาชิกใหม่ นายจ้างจึงได้เพิ่มหน้าที่ของนางพยาบาล
คือนอกจากต้องเลี้ยงดูทารกแล้ว ยังต้องให้นมทารกด้วย และเมื่อจำนวนทารกเพิ่มตลอดเวลา ความต้องการนางพยาบาลจึงเพิ่มขึ้นด้วย จนนางพยาบาลประจำการมีจำนวนไม่เพียงพอ
ดังนั้นชาวฝรั่งเศสจึงหันไปจ้างหญิงชาวนายากจน มาทำหน้าที่แม่นม แล้วเวลาแม่นมเหล่านี้มีลูก ก็จ้างผู้หญิงที่ยากจนกว่ามาเลี้ยงดูลูกของตนอีกทอดหนึ่ง
ตามปรกติคนที่เป็นแม่นมจำเป็นมักมีฐานะยากจน ดังนั้นนางจึงรับเลี้ยงทารกหลายคนพร้อมกัน และเพราะบ้านที่นางใช้ประกอบอาชีพแม่นมตั้งอยู่ไกลจากบ้านของทารก ดังนั้นบิดามารดาของทารกจึงไม่ได้เห็นหน้าค่าตาลูกของตนบ่อย
จนเมื่อเวลาผ่านไปนานๆ พ่อแม่อาจจำหน้าที่ลูกไม่ได้ ดังนั้นจึงมีข่าวการสับเปลี่ยนทารก ในสถานรับเลี้ยงเด็กเนืองๆ และเมื่อพ่อแม่ไม่มีเวลามาสนใจดูแลลูก
ความผูกพันทางจิตใจระหว่างบิดามารดากับลูกจึงมีน้อย ทำให้เวลาลูกเสียชีวิต บิดามารดาจึงถือโอกาสไม่ไปร่วมในพิธีศพของลูก
ในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 17 อาชีพแม่นมยังเป็นที่นิยม แม้ Benjamin Franklin รัฐบุรุษอเมริกันจะสนับสนุนให้ลูกดื่มนมแม่ และให้แม่ทุกคนให้นมลูกด้วยตนเองก็ตาม
ลุถึงคริสต์ศตวรรษที่ 18 สตรีฝรั่งเศสที่มีฐานะสูงได้เริ่มให้นมลูก และปราชญ์ Jean Jacques Rousseau ผู้เชื่อว่าครอบครัวมีความสำคัญยิ่งกว่ารัฐ ก็ได้สนับสนุนให้สตรีทุกคนที่มีลูกควรให้นมลูกเอง โดยอ้างถึง Marie Antoinette เป็นสตรีตัวอย่าง
ตั้งแต่นั้นมารัชทายาทฝรั่งเศสทุกพระองค์ ก็ทรงดื่มนมพระมารดา ส่วนในอังกฤษ Duchess of Devonshire ได้เริ่มประเพณีให้ลูกดื่มนมแม่ตามแนวปฏิบัติของ Marie Antoinette
แต่วัฒนธรรมการให้ลูกดื่มนมแม่ก็ยังไม่แพร่หลาย เพราะหญิงชาวบ้านที่มีฐานะยากจน จำเป็นต้องไปทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงิน ดังนั้นเมื่อนางมีลูกน้อย การดูแลให้นมจึงเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้
ทำให้ต้องส่งลูกน้อยไปให้แม่นมประจำหมู่บ้านดูแลแทน เพราะแม่นมมีเด็กในความดูแลเป็นจำนวนมาก การดูแลจึงไม่ทั่วถึงและไม่มีคุณภาพ ด้วยเหตุนี้ทารกจึงเสียชีวิตมากมาย จนผู้คนในสมัยนั้นบางครั้งเรียกโรงเลี้ยงเด็กว่า โรงฆ่าเด็ก
หลังการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศส คณะปฏิวัติได้ออกแถลงการณ์ล้มเลิกระบบแม่นม โดยชี้ให้เห็นว่าแม่ที่ไม่ให้ลูกดูดนม แสดงว่าเป็นพวกศักดินาที่ประเทศไม่ต้องการ
และการให้ลูกดื่มนมแม่ แสดงความเป็นคนรักชาติและรักเสรีภาพ ตั้งแต่ พ.ศ. 2335 ที่เกิดสาธารณรัฐฝรั่งเศส ความนิยมให้ผู้หญิงมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น (feminism) ก็ได้กำหนดให้มารดาให้นมลูก เพราะเป็นสิทธิที่ผู้หญิงทุกคนควรทำ
และไม่ควรให้แม่นมให้นมลูกแทน โดยการอ้างว่าเพื่อถนอมรูปทรงให้เป็นเครื่องเล่นทางเพศของผู้ชายอีกต่อไป
ในปี 2391 Honoré Daumier ได้วาดภาพ The Republic เป็นภาพผู้หญิงรูปร่างสูงใหญ่นั่งถือธงชาติ โดยมีทารกดูดนมนาง และมีเด็กอีกคนหนึ่งนั่งอ่านหนังสืออยู่แทบเท้า เปรียบให้เห็นว่ารัฐเป็นแม่ที่ดีที่ต้องให้อาหารและให้การศึกษาลูก
เมื่อเริ่มคริสต์ศตวรรษที่ 19 คุณค่าของการดื่มนมแม่ เริ่มปรากฏว่าดีกว่า และมีประโยชน์กว่าการดื่มนมจากแม่นม
ความจริงประเด็นคุณและโทษของการให้ลูกดื่มนมแม่นมนั้น มีมากมาย ข้อดีคือทำให้แม่ไม่ชราก่อนวัยอันควร เพราะทรวดทรงจะไม่หย่อนยาน ทำให้สามีรักนานและไม่คิดมีภรรยาใหม่
การมีแม่นมหลังจากที่ให้กำเนิดลูกแล้ว สามีสามารถจะมีเพศสัมพันธ์กับภรรยาได้โดยไม่ต้องพะว้าพะวังว่าทารกจะรบกวน และการที่แม่ให้นมลูกจะทำให้แม่เป็นหมันชั่วคราว
ดังนั้นการไม่ให้นมลูกจึงทำให้แม่สามารถมีลูกได้อีก หลังจากคลอดลูกแล้วไม่นาน และนั่นก็หมายความว่านางอาจจะมีลูกดก ในประเทศอังกฤษเมื่อ 300 ปีก่อนมักถือเป็นเรื่องปรกติ ที่ครอบครัวที่มั่งคั่งจะมีลูกตั้งแต่ 10-20 คน
เมื่อมีลูกมากเช่นนี้ ครอบครัวก็จำเป็นต้องมีแม่นมหลายคนอย่างไม่มีทางเลี่ยง
ส่วนข้อเสียของการมีแม่นมคือ เมื่อมีลูกหลายคน แม่อาจเป็นโรคโลหิตจาง นอกจากนี้ครอบครัวที่มีทายาทหลายคน ก็อาจมีปัญหาเรื่องลูกๆ แย่งชิงมรดกกัน การมีลูกหลายคนจะทำให้แม่กับลูกแต่ละคนมีความผูกพันกันน้อย จนทำให้เมื่อลูกเติบโตเป็นผู้ใหญ่ลูกอาจเป็นปัญหาของสังคมได้
ดังนั้นจิตวิทยาทุกวันนี้จึงสนับสนุนให้แม่ให้นมลูกเอง ว่าเป็นหน้าที่ที่แม่ควรกระทำและต้องกระทำ เพราะลูกจะได้มีความรู้สึกว่าตนเป็นที่รักของแม่อย่างเพียงพอ ที่จะทำให้เขาเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ
ส่วนนักชีววิทยาก็มีความเห็นพ้องว่า การให้นมลูกเองเป็นวิธีหนึ่งที่สามารถคุมกำเนิดของแม่ได้ เพื่อช่วยให้ครอบครัวมีจำนวนสมาชิกที่เหมาะสม และเมื่อสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ต่างก็เลี้ยงลูกด้วยน้ำนมของมันเอง
ดังนั้นคนซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดหนึ่ง ก็ควรทำเช่นเดียวกัน (Carl Linnaeus นักชีววิทยาชาวสวีเดน จึงได้เรียกสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมว่า mammal โดยอิงคำว่า mammary gland ซึ่งแปลว่า ต่อมน้ำนม)
ณ วันนี้ ประเพณีแม่ให้นมลูกเอง กำลังได้รับความนิยมในทุกสังคม แม่ในสังคมที่ล้าหลัง เช่นในบางพื้นที่ของจีนที่มักเชื่อว่าผู้หญิงเป็นแม่ใหม่ๆ หากได้สวมกำไลหยก จะทำให้ร่างกายมีน้ำนมอุดมสมบูรณ์เพียงพอสำหรับให้ลูกดื่ม
สำหรับสตรีบางคนที่มีความสามารถจำกัด ในการผลิตน้ำนมธรรมชาติเทคโนโลยีก็ได้เข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหานี้ โดยในปี 2428 นักวิทยาศาสตร์ได้ผลิตนมผงขึ้นเป็นครั้งแรก พร้อมขวดนมสำหรับให้ทารกใช้ดูด
อีก 20 ปีต่อมา บริษัท Nestle ได้ผลิตนมผง Nestle ออกมาจนขายดีไปทั่วโลก ทั้งๆ ที่นมผงไม่มีส่วนผสมของน้ำนมแต่อย่างใด
ในปี 2500 โรงพยาบาลในอเมริกาและอังกฤษ ต่างก็นำผลิตภัณฑ์ของ Nestle ให้ทารกแรกคลอดดื่ม และเมื่อนมผงมีราคาถูก ดังนั้นผู้หญิงที่เป็นแม่ทุกระดับฐานะ จึงมีทางเลือกให้ลูกดื่มนมแม่หรือนมผง
แต่สำหรับผู้หญิงในประเทศยากจน ซึ่งมีปัญหาน้ำที่ใช้ต้มนมผงมักเป็นน้ำสกปรก ดังนั้นในปีหนึ่งๆ จึงมีเหตุการณ์ทารกเสียชีวิตเพราะสาเหตุนี้นับล้านคน ด้วยเหตุนี้ในปี 2499 สมาคม La Leche League จึงริเริ่มโครงการให้แม่ให้น้ำนมจากเต้าของตนเอง
ในปี 2524 องค์การอนามัยโลกและองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ได้ลงมติให้มีกฎหมายควบคุมการขายนมผง
ในปี 2532 รัฐบาลอังกฤษได้เริ่มโครงการรณรงค์ให้คนอังกฤษยอมรับว่านมแม่ดีที่สุด และให้ถือว่าการที่แม่ให้ลูกดูดนมในที่สาธารณะไม่เป็นเรื่องอุจาดลามกที่ผิดกฎหมายอีกต่อไป
ในปี 2546 ได้มีการสำรวจพบว่าร้อยละ 80 ของ แม่ในนอร์เวย์ให้นมลูกด้วยตนเอง โดยเฉพาะในระยะ 6 เดือนแรก ส่วนแม่อเมริกันและอังกฤษให้นมลูกเองคิดเป็นร้อยละ 32 และ 20 ตามลำดับ
ในปี 2550 ยูนิเซฟรายงานว่าทารกที่ไม่ได้ดื่มนมแม่เสียชีวิตมากถึง 1.5 ล้านคน
ทุกวันนี้ปัญหาเรื่องนมแม่และนมผงยังมีต่อไปแต่จะเป็นไปในทิศทางใดขึ้นกับสภาพสังคมและสุขภาพของแม่เอง ถึงกระนั้นเราก็มั่นใจได้ว่านมผงเข้ามาทำหน้าที่แทนแม่นมจนทำให้ ณ วันนี้ อาชีพแม่นมได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
หมายเหตุ: อ่านความเป็นมาของเรื่องนี้ได้จากหนังสือ Mother Nature: A History of Mothers, Infants, and Natural Selection โดย Sarah Hrdy จัดพิมพ์โดย Pantheon, New York ในปี ค.ศ. 1999 ความหนา 745 หน้า ราคา 35 ดอลลาร์ (ISBN 0-679-44265-0)
สุทัศน์ ยกส้าน เมธีวิจัยอาวุโส สกว.