วันนี้ (11 พ.ค.) นพ.สุรวิทย์ คนสมบูรณ์ รมช.สาธารณสุข กล่าวว่า จากกรณีรายการโทรทัศน์ช่องหนึ่ง มีการพูดคุยกับผู้ที่เคยสัมผัสกับพิษร้ายของแมลงชนิดหนึ่ง ที่มีขนาดเล็ก แต่มีพิษมหาศาล เพียงแค่สัมผัสถูกพิษที่ออกจากร่างกายของแมลงชนิดนี้ก็ทำให้เกิดแผลพุพองขนาดใหญ่ได้นั้น จากการตรวจสอบของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบว่าแมลงชนิดนี้มีชื่อทางการว่าด้วงก้นกระดก หรือ แมลงก้นกระดก หรือแมลงเฟรชชี่ พบมากในช่วงเปิดเทอมที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝนซึ่งแมลงต้องการความชื้นเพื่อการขยายพันธุ์
จึงขอเตือนประชาชนระวังอันตรายจากแมลงมีพิษดังกล่าว ลักษณะทางกายภาพของแมลงชนิดนี้คือ
เป็นแมลงปีกแข็งขนาดเล็ก มีความยาวเพียง4-7 มิลลิเมตร มีลักษณะจำเพาะคือปีกคู่แรกแข็งและสั้นมีสีมันวาว ปีกคู่สองมีขนาดใหญ่แต่จะมองไม่เห็นเด่นชัด ลำตัวเล็กเรียว ส่วนท้องยาวโผล่ออกมานอกปีกสังเกตเห็นได้ง่ายโดยจะชอบงอส่วนท้องขึ้นๆลงๆเมื่อเกาะอยู่กับที่ มีลักษณะสีสันต่างกัน ชนิดที่พบบ่อยในประเทศไทยนั้น ส่วนท้องมีสีส้ม ชาวบ้านชอบเรียกแมลงชนิดนี้ว่าด้วงปีกสั้น ด้วงก้นกระดก หรือ ด้วงก้นงอนตามลักษณะของท้องที่งอขึ้นๆลงๆ แมลงชนิดนี้มีสารพิษชื่อสารเพเดอริน (Paederin) เมื่อถูกผิวหนังจะทำให้เป็นผื่นคันหรือแผลพุพอง ผิวหนังไหม้แดง ปวดแสบปวดร้อน มีไข้ และถ้าถูกพิษบริเวณดวงตาอาจทำให้ตาบอดได้ มีแหล่งเพาะพันธุ์อยู่ตามบริเวณพื้นดินชื้น เช่นตามกองมูลสัตว์ พื้นดิน ในกองไม้ แต่จะชอบบินเข้ามาเล่นแสงไฟในบ้านเรือนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อประชาชนที่เผลอไปสัมผัสได้