ฮัลโลวีน ก็แจมด้วย! เชื่อสารพัดผี แชมป์โลกยกให้ ไทย
“ฮัลโลวีน” ...เป็นอีกหนึ่งวัน หนึ่งเทศกาล
หนึ่งความเชื่อของต่างประเทศ ที่คนไทยเราก็นำมาร่วมแจมกับเขาด้วยอย่างไม่ขัดไม่เขิน ด้านหนึ่งก็อาจเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่ก็มีความเชื่อเรื่อง “ผี” มานับแต่อดีตกาลต่อเนื่องจนปัจจุบัน ซึ่งกับวันฮัลโลวีนนั้นคนไทยทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่ก็เน้นที่ความรื่นเริงสนุกสนานเป็นหลัก จึงไม่แปลกที่ช่วงนี้เครื่องแต่งกายสไตล์ผี ๆ จะขายดี และสถานบันเทิงราตรีที่มีการจัดกิจกรรมฮัลโลวีนก็คึกคัก
คนไทยจำนวนไม่น้อยร่วมแจมวันฮัลโลวีนทั้งที่ไม่รู้ที่มา ?!?
ตามประวัติวัน “ฮัลโลวีน (Halloween)” ซึ่งตรงกับวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปีนั้น เป็นวันที่ชาวเคลต์ (Celt) ชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์ ถือเป็นวันสิ้นสุดฤดูร้อน และวันถัดไปคือวันที่ 1 พ.ย. เป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งในวันที่ 31 ต.ค. ชาวเคลต์เชื่อว่า “เป็นวันที่มิติของคนตายและคนเป็นจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน” โดยวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมาจะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อสิงสู่ เพื่อที่จะได้มีชีวิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง
จากความเชื่อดังกล่าวนี้
จึงเกิดการคิดหาวิธีที่จะไม่ให้วิญญาณคนตายมาสิงสู่ร่างคนเป็น โดยชาวเคลต์จะปิดไฟทุกดวงในบ้าน ให้อากาศหนาวเย็น และไม่เป็นที่พึงปรารถนาของบรรดาผี รวมถึงพยายาม “แต่งกายให้แปลกประหลาด ปลอมตัวเป็นผี และส่งเสียงดังอึกทึก เพื่อให้ผีจริงตกใจและหนีไป”
ความเชื่อเรื่องผี-เรื่องวันฮัลโลวีนที่มี “โคมไฟฟักทอง”
(ในอดีตใช้หัวผักกาด) หรือ “แจ๊ก-โอ'-แลนเทิร์น (jack-o'-lantern)” เป็นสัญลักษณ์คุ้นตา มีการสืบทอดต่อ ๆ กันมายาวนาน โดยเฉพาะในประเทศแถบซีกโลกตะวันตก ในไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา อังกฤษ รวมถึงในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และอีกหลายประเทศในทวีปยุโรป ซึ่งจากความสะพรึงกลัว ภายหลังวันฮัลโลวีนก็กลับกลายเป็นวันแห่งการฉลอง
ฮัลโลวีนในยุคหลัง ๆ กลายเป็นวันรื่นเริงสนุกสนาน
คืนวันที่ 31 ต.ค. ของทุกปี ในประเทศทางตะวันตกจะมีการประดับประดาไฟ ผู้คนจะมีการแต่งแฟนซีเป็นผีต่าง ๆ ออกจากบ้านไปงานฉลอง สำหรับเด็ก ๆ ก็จะมีประเพณี “ทริก ออร์ ทรีต (Trick or Treat)” ที่แปลว่า “หลอกหรือเลี้ยง” ให้ได้สนุกสนาน โดยตามบ้านเรือนจะตกแต่งด้วยโคมไฟฟักทองและเตรียมขนมหวานไว้คอยเด็ก ๆ ในละแวกบ้านที่แต่งตัวแฟนซีเป็นภูตผีมาเคาะประตูบ้านพร้อมกับถามว่า “ทริก ออร์ ทรีต ?” ซึ่งถ้าเจ้าของบ้านตอบว่าทรีตคือยอมแพ้ ต้องมอบขนมหวานให้เด็ก หรืออาจจะตอบว่าทริกก่อนเพื่อให้เด็ก ๆ ทำเป็นภูตผีอาละวาด แลบลิ้นปลิ้นตาหลอก และค่อยจบที่ทรีต ยอมให้ขนมเด็ก ๆ ไป
นี่ว่ากันคร่าว ๆ เกี่ยวกับวัน “ฮัลโลวีน” ของต่างประเทศ
ที่แพร่มาถึงไทย...แม้ว่าไทยจะมี “สารพัดผี” อยู่แล้ว !?!
ทั้งนี้ ว่ากันถึงเทศกาล-ประเพณีที่เกี่ยวกับความเชื่อเรื่อง “ผี” ไทยเองก็มีอยู่ไม่น้อย ในหลายพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นงานบุญ และบางงานก็รวมงานรื่นเริงเข้าไปด้วย เช่น... งานบุญเดือนสิบ-งานบุญสารทเดือนสิบ หรือ “ชิงเปรต” ที่นครศรีธรรมราช ซึ่งสืบเนื่องจากความเชื่อที่ว่าในปลายเดือนสิบของทุกปี พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ญาติพี่น้องซึ่งล่วงลับไปแล้ว ผู้ที่มีบาปต้องกลายเป็นเปรต จะได้รับการปล่อยตัวจากนรกภูมิให้มาหาลูกหลานญาติมิตรในเมืองมนุษย์ จึงมีการจัดงานทำบุญเป็นการต้อนรับ กับเลี้ยงส่ง และอุทิศบุญกุศลให้
งาน “ผีตาโขน” ราวเดือน มิ.ย. ของทุกปี
ที่เป็นส่วนหนึ่งของงานบุญหลวงหรือบุญผะเหวด จัดเป็นงานใหญ่ประจำปีของ อ.ด่านซ้าย จ.เลย นี่ก็เป็นความเชื่อที่เกี่ยวกับการบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ และบางที่มาก็ว่าเกิดขึ้นเมื่อพระเวสสันดรและพระนางมัทรีเดินทางออกจากป่ากลับเมือง บรรดาผีป่าที่อาลัยได้พากันแฝงตัวกับชาวบ้านเพื่อทำการส่งเสด็จ จึงมีคำเรียกว่า “ผีตามคน” และเพี้ยนกลายมาเป็นผีตาโขน
และหากจะว่ากันถึงชนิดของผี ไทยเราก็มีเพียบ เช่น... ผีกระสือ, ผีกระหัง, ผีกองกอย, ผีโขมด, ผีนางตะเคียน, ผีนางตานี, ผีปอบ, ผีเปรต, ผีกะ, ผีตาโบ๋, ผีตายทั้งกลม, ผีตายห่า, ผีตายโหง, ผีถ้วยแก้ว, ผีทะเล, ผีป่า, ผีเป้า, ผีพราย, ผีไพร, ผีโพง, ผีฟ้า, ผีบ้านผีเรือน ฯลฯ
กล่าวได้ว่าคนไทยเราเชื่อเรื่องผีเยอะแยะสารพัด
และด้วยอิทธิพลของสื่อไร้พรมแดน อิทธิพลของหนัง นอกจากผีไทยเองแล้ว ยุคหลัง ๆ ก็ยังมีทั้ง ผีฝรั่ง, ผีจีน, ผีญี่ปุ่น, ผีเกาหลี เข้ามาฝังอยู่ในความเชื่อของคนไทยด้วย และก็ใช่เพียงคนรุ่นเก่าเท่านั้น กับคนไทยรุ่นใหม่วัยโจ๋-วัยเห่อเทคโนโลยีไฮเทค ก็ยังเชื่อ !!
“หากเชื่อมากไป หรือความสมดุลจากความเชื่อมีมากหรือน้อยไป ก็ย่อมจะไม่ส่งผลดีต่อการใช้ชีวิต หรือแบบที่มักจะเรียกกันว่าลุ่มหลงงมงายนั่นเอง” “แต่ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่าถูกหรือไม่ถูก เพราะขนาดผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์ก็ยังมีความเชื่อลักษณะนี้ เด็กและเยาวชนที่มีประสบ การณ์ชีวิตน้อยกว่าก็ย่อมจะทานกระแสไม่ไหว หากแต่อยู่ที่ว่าจะสามารถปรับทิศทางของความเชื่อเหล่านี้ให้มาอยู่ในด้านบวกได้หรือเปล่า ?”
...เหล่านี้เป็นสิ่งที่ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกกรมสุขภาพจิต เคยสะท้อนผ่าน “สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์” ไว้ กับประเด็น “เด็กไทย-วัยรุ่นไทยยุคใหม่ก็เชื่อเรื่องผี” ไม่ต่างจากคนรุ่นเก่า ๆ
“แชมป์โลกเชื่อเรื่องผี” คนไทยเราสามารถจะครองได้สบาย ๆ
แต่เชื่อผีแล้วเชื่อต่อเนื่องเรื่อง “บาป-บุญ” มาก ๆ ด้วยก็คงดี
“ผีร้ายในคราบคน” จะได้ไม่เกลื่อนเมืองเช่นทุกวันนี้ !?!?!.