เมื่อ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมามีคุณแม่โทรศัพท์มาถามถึงพฤติกรรมลูกที่ดื้อ ซน และอยู่ไม่นิ่งว่าจะเข้าข่ายสมาธิสั้นหรือไม่ และก็เป็นโอกาสอันดีเพราะที่คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีของเรามีสถานีโทรทัศน์สุขภาพดีตลอด 24 ชั่วโมงหรือที่เรียกว่า Rama Channel ซึ่งให้ข้อมูลและสาระความรู้ด้านสุขภาพ เหมือนมีคุณหมอไปเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้ฟังถึงบ้านทีเดียว และเมื่อรายการ Rama Kid D ติดต่อให้ไปสัมภาษณ์สด จึงขอเจาะจงว่าอยากแบ่งปันเรื่อง “โรคสมาธิสั้น” นั่นเองค่ะ
จะว่าไปแล้ว “โรคสมาธิสั้น” หรือ “ไฮเปอร์” ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เรามักจะได้ยินการเอาไปใช้แบบผิด ๆ เช่น เวลาที่คน ๆ หนึ่งทำอะไรหลายอย่างในเวลาเดียวกันหรือว่ายุ่งมาก ๆ ก็มักจะบอกว่าตัวเองเป็นคนไฮเปอร์ หรือเรามักได้ยินนักแสดงที่ต้องวิ่งรอกหลาย ๆ งานว่า ทำตัวไฮเปอร์บ้าง มัลติทาร์กบ้าง คำถามเลยเกิดขึ้นว่า แล้วสมาธิสั้นนี้ตกลงแล้วเป็นอย่างไร แล้วดีหรือไม่ดีกันแน่
โรคสมาธิสั้น ถือเป็นความผิดปกติทางพฤติกรรมชนิดหนึ่งซึ่งมักเกิดขึ้นในเด็ก ส่วนในผู้ใหญ่ก็สามารถเกิดขึ้นได้ แต่มักจะเกิดขึ้นเมื่อบุคคลนั้นเคยมีความผิดปกติเมื่อสมัยเด็กมาก่อน และความผิดปกติที่เกิดขึ้นนี้จะต้องเกิดก่อนอายุ 7 ขวบ และมีการแสดงอาการอย่างต่อเนื่องคืออย่างน้อยต้องเป็นติดต่อกัน 6 เดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน สังคม และการเรียน อีกทั้งมีผลต่อการปรับตัวและไม่เหมาะกับพัฒนาการตามวัย
คุณพ่อคุณแม่ส่วนใหญ่กังวลและไม่เข้าใจคำถามที่มักพบมากคือ ถ้าลูกโวยวายและซุกซนถือว่าเข้าข่ายหรือไม่ สำหรับการที่จะบ่งบอกว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่นั้น จะต้องแสดงอย่างน้อย 2 ใน 3 อาการดังนี้
1. สมาธิสั้น เช่น ไม่ฟังเมื่อมีคนพูดด้วย ทำตามคำสั่งไม่เสร็จ หรือทำหลายอย่างแต่ไม่เสร็จเลยสักอย่าง ทำของหายบ่อย ๆ ไม่ชอบทำกิจกรรมที่ต้องใช้ความอดทนเช่น ไม่ชอบทำการบ้าน เป็นต้น
2. ไม่อยู่นิ่ง เช่น ไม่สามารถอยู่นิ่งได้ กระวนกระวาย กระสับกระส่าย มักไม่ชอบเล่นเงียบ ๆ เคลื่อนไหวตลอดเวลา พูดมาก
3. หุนหันพลันแล่น เช่น ชอบพูดแทรก ไม่ฟังให้จบก่อน ไม่ชอบรอคอย
ส่วนคำถามที่ว่า สาเหตุของโรคสมาธิสั้นนั้นเกิดขึ้นเพราะอะไรกันแน่นั้น อาจกล่าวได้ว่า 30% ของโรคนี้เกิดจากพันธุกรรมหรือการส่งต่อจากพ่อแม่สู่ลูก แต่ที่เหลืออีก 70% นั้นเกิดขึ้นจากสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นสิ่งที่เรารับประทานเข้าไป สิ่งที่เราสัมผัส สิ่งที่เรารับรู้แลรับชม
จากงานวิจัยของจิตแพทย์ด้านประสาทชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอัลเบอร์ต้าและกุมารแพทย์ด้านพัฒนาการจากโรงพยาบาลเด็กในเมืองซีแอตเติลได้มีการเชื่อมโยงระหว่าง การดูโทรทัศน์ในเด็กกับความบกพร่องด้านพฤติกรรมแล้วพบว่า เด็กที่เล็กมาก ๆ (อายุ 1-3 ขวบ) ที่ดูโทรทัศน์มากกว่า 1 ชั่วโมงต่อวัน มีโอกาสที่จะเป็นโรคสมาธิสั้นเมื่ออายุ 7 ขวบ มากขึ้นถึง 10% อีกทั้งสามารถที่จะเป็นออทิสซึมจากสาเหตุเดียวกันนี้ได้ด้วย
ส่วนอีกหลายสาเหตุที่เกิดจากสิ่งแวดล้อม เช่น การสัมผัสสารเคมี ทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งแพทย์จากโรงพยาบาลเมาท์ ไซไนน์ ในนิวยอร์กได้ทำการวิจัยถึงสารเคมี 10 ประเภทที่เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดกระบวนการผิดปกติของสารเคมีในสมองทำให้เด็กเกิดความบกพร่องด้านพฤติกรรมได้ ซึ่งสารเคมีดังกล่าวประกอบด้วย ตะกั่ว ปรอท ยาฆ่าแมลง สารจากท่อไอเสีย สารประกอบไฮโดรคาร์บอน สารที่ทำให้เกิดประกายไฟ เป็นต้น และเมื่อการสัมผัสสารเหล่านี้เป็นสิ่งที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นสิ่งสำคัญที่คุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์และลูกน้อยที่อายุน้อยควรจะหลีกเลี่ยงค่ะ
นอกจากนี้ ข้อคำถามที่ถามว่า ถ้าลูกน้อยถูกวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคสมาธิสั้น ควรจะทำอย่างไรดี จริง ๆ ตอบได้ไม่ยากเลย เพราะประการแรกคือโรคสมาธิสั้นก็เหมือนกับโรคทางพฤติกรรมอื่น ๆ คือแบ่งเป็นขั้น ตั้งแต่ขั้นเป็นน้อย ขั้นปานกลาง และขั้นรุนแรง
ขั้นเป็นน้อย และขั้นปานกลางนั้น คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยได้โดยเริ่มตั้งแต่ที่บ้าน โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจว่าโรคนี้ไม่ได้รุนแรงหรือส่งผลกระทบร้ายแรงแต่อย่างใด วิธีที่ดีที่สุดคือการที่คุณพ่อคุณแม่จะต้องมีวิธีการพูดและเสริมแรงพฤติกรรมที่ดีให้แก่เด็ก ในส่วนของขั้นรุนแรงนั้น แพทย์อาจสั่งยาที่ช่วยในการควบคุมพฤติกรรมต่าง ๆ ช่วยให้เด็กมีความนิ่งมากขึ้น ตั้งใจเรียน ตั้งใจทำงาน และสามารถควบคุมตัวเองได้ดีขึ้น
คุณพ่อคุณแม่บางท่านตัดสินใจพาลูกน้อยมาที่โรงพยาบาลเพื่อได้รับการบำบัดผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย 1. การฝึกทักษะทางสังคมโดยการให้ฝึกเป็น
กลุ่ม 2. การสอนเสริมทักษะซึ่งจะเน้นเรื่องการทำตามคำสั่ง การจัดระบบต่าง ๆ 3. จิตบำบัดรายบุคคล ซึ่งเน้นเรื่องการปรับตัวและความสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น ซึ่งบางโรงพยาบาลจะมีครบทั้ง 3 กิจกรรม แต่จะมีวิธีการที่แตกต่างและวิธีเรียกแตกต่างกันไป
ส่วนเด็กสมาธิสั้นที่มีปัญหาเมื่อไปโรงเรียน แพทย์จะแนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ลองจัดตารางเวลา รวมถึงให้เด็กลองเขียนกฎ หรือกำหนดกฎขึ้นมาด้วยตัวเอง เช่น ถ้าทำการบ้านเสร็จหรือทำกิจกรรมหนึ่งใดเสร็จแล้วอยากจะได้อะไร เพื่อที่จะฝึกสมาธิให้ดีขึ้น อีกทั้งคุณพ่อคุณแม่ควรให้ขอบเขตและข้อจำกัดว่าสิ่งใดทำได้และสิ่งใดไม่ควรทำ ไม่ใช่จะลงโทษเพียงอย่างเดียว เพราะเด็กเหล่านี้ไม่ได้มีความผิดปกติด้านสติปัญญาแต่อย่างใด เพียงแต่มีพฤติกรรมที่ไม่นิ่งเหมือนเด็กปกติ หรือมีช่วงเวลาของความสนใจน้อยกว่าเด็กปกติเท่านั้น ดังนั้น ถ้าสามารถแบ่งกิจกรรมใหญ่เป็นกิจกรรมย่อย รวมทั้งให้รางวัล (จะเป็นคำชมหรือการให้คะแนนสะสม) ก็สามารถช่วยสร้างกำลังใจและความเชื่อมั่นในตัวเด็กขึ้นมาได้ค่ะ
ส่วนคำถามสุดท้ายคือ ถ้าลูกเป็นแล้วมีโอกาสที่จะหายหรือไม่ ต้องขอตอบว่า โรคนี้ไม่มีโอกาสหายขาด แต่สามารถดีเป็นปกติได้ถ้าได้รับความรักและความเข้าใจ รวมถึงมีวิธีการที่ส่งเสริมและเสริมแรงในแง่บวกอยู่เสมอ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกเป็นโรคสมาธิสั้นแล้ว ขออย่าได้กังวลมากจนเกินไป เพราะถ้ารู้แต่เนิ่น ๆ แล้วสามารถแก้ไขจนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติแน่นอนค่ะ.