
นอนกรน !!! ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงถึงตายได้

อาการนอนกรน (snoring) และภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (obstructive sleep apnea : OSA) เป็นปัญหาและโรคของการนอนหลับที่พบบ่อย ในคนอายุ 30-35 ปี พบว่าประมาณร้อยละ 20 ของเพศชาย และร้อยละ 5 ของเพศหญิง จะมีอาการนอนกรน และเมื่ออายุมากขึ้น อุบัติการของอาการนอนกรนจะเพิ่มขึ้นตามอายุ ส่วนภาวะหยุดหายใจขณะหลับพบได้ประมาณร้อยละ 4 ในเพศชายและร้อยละ 2 ในเพศหญิง อาการนอนกรนเป็นอาการที่บ่งบอกถึงการอุดกั้นในทางเดินหายใจส่วนบน ซึ่งมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้เป็นภาวะที่มีการอุดกั้นในทางเดินหายใจมากจนกระทั่งทำให้เกิดการหยุดหายใจเป็นช่วงๆขณะนอนหลับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มีผลกระทบที่สำคัญต่อสุขภาพ คือเมื่อเกิดการหยุดหายใจขณะหลับ จะทำให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่สนิท มีการสะดุ้งตื่นเป็นช่วงๆ ส่งผลให้นอนหลับได้ไม่เต็มที่ ดังนั้นผู้ป่วยที่มีภาวะนี้จะมีแนวโน้มที่จะทำงานได้ไม่เต็มที่นัก เนื่องจากมีอาการง่วงมากผิดปกติในเวลากลางวัน (excessive daytime sleepiness) และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุในท้องถนน และในโรงงานอุตสาหกรรมได้ง่ายเมื่อเทียบกับคนปกติ เนื่องจากการหลับในขณะขับขี่รถ และขณะทำงานกับเครื่องจักรกล นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีอัตราเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคอื่นๆหลายโรค ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง, กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันจากการขาดเลือด, ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ,โรคของหลอดเลือดในสมอง ตลอดจนการมีสมรรถภาพทางเพศที่เสื่อมลง ผู้ป่วยที่มีอาการนอนกรนอย่างเดียวโดยไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยนั้น (primary snoring) ถึงแม้ไม่มีผลกระทบมากนักต่อสุขภาพของตนเอง แต่จะมีผลกระทบต่อสังคมและคุณภาพชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะกับคู่นอน, บุคคลอื่นๆ ในครอบครัว, เพื่อนบ้าน, หรือเพื่อนร่วมงาน เช่น ทำให้ผู้อื่นนอนหลับยาก หรืออาจมากจนกระทั่งมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลดังกล่าวได้ เช่น อาจทำให้เกิดการหย่าร้างของคู่สามีภรรยา ดังนั้นผู้ที่มีอาการนอนกรนและ/หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับจำเป็นที่ต้องให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องเหมาะสม
สาเหตุของอาการนอนกรน
นอกจากเกิดจากการผ่อนคลายของกล้ามเนื้อดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ยังพบว่าเกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจส่วนบนจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ต่อมทอนซิล และต่อมอดีนอยด์ (adenoid) ที่โต ซึ่งเป็นสาเหตุของอาการนอนกรนที่สำคัญในเด็ก ผู้ป่วยที่อ้วนมากอาจมีเนื้อเยื่อผนังคอที่หนาทำให้ทางเดินหายใจแคบลง ในผู้ป่วยที่มีเนื้องอก หรือซีสต์ (cyst) ของอวัยวะใดอวัยวะหนึ่งในระบบทางเดินหายใจส่วนบนก็ก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้เช่นกัน การที่มีโพรงจมูกอุดตัน ซึ่งมีสาเหตุจากหลายกรณี เช่นอาการคัดจมูกจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้, ความผิดปกติของผนังกั้นช่องจมูก, เนื้องอกในจมูกและโพรงอากาศข้างจมูก, ริดสีดวงจมูก, ไซนัสอักเสบ เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกรนได้เช่นกัน ดังนั้นอาการนอนกรนจึงไม่ใช่เรื่องปกติ ในทางตรงกันข้ามเป็นตัวบ่งบอกว่ามีการอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจส่วนบน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร
ภาวะหยุดหายใจขณะหลับเริ่มจากการตีบแคบของทางเดินหายใจส่วนบน ทำให้ต้องหายใจเข้ามากขึ้นเพื่อเอาชนะทางเดินหายใจที่ตีบแคบ ความดันที่เป็นลบเพิ่มมากขึ้นระหว่างการหายใจเข้าจะทำให้ช่องคอตีบแคบลงกว่าเดิม ทำให้มีการขาดจังหวะในการหายใจได้บ่อยครั้งและแต่ละครั้งนานกว่าคนปกติ ถ้ามีการหยุดหายใจหลายครั้งในขณะนอนหลับจะส่งผลให้ระดับความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดลดน้อยลง ซึ่งสมองก็จะได้รับออกซิเจนน้อยลงไปด้วย เมื่อสมองขาดออกซิเจนก็จะต้องคอยปลุกให้ผู้ป่วยตื่นเพื่อเริ่มหายใจใหม่ และเมื่อสมองได้รับออกซิเจนเพียงพอแล้ว ผู้ป่วยก็จะสามารถหลับลึกได้อีกครั้ง แต่ต่อมาการหายใจก็จะเริ่มขัดขึ้นอีก สมองก็ต้องปลุกตัวเองให้ตื่นขึ้นใหม่ วนเวียนเช่นนี้ตลอดคืน เป็นผลให้ผู้ป่วยนอนหลับได้ไม่เต็มที่
credit by คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
>>>> การนอนกรนไม่ใช่เรื่อง เล็ก ๆ ทางทีดีควรปรึกษาแพทย์เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณค่ะ <<<<<
Love Attack เทศกาลความรักแบบนี้ บอกอ้อมๆให้เขารู้กัน
Chocolate Dreams สาวชั่งฝันและช็อคโกแลต กับหนุ่มหล่อ ไม่แน่คุณอาจจะได้เจอแบบนี้ก็ได้
Love You Like Crazy เพลงเพราะๆ ที่ถ้าส่งให้คนที่เรารัก โลกนี้ก็สีชมพูกันทีเดียว