การเตรียมตัวเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ระบบขนส่งก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเพื่อรองรับการแข่งขันทางการค้า โดยเฉพาะระบบรางที่มีต้นทุนในการขนส่งต่ำที่สุด
เหนือสุดของมาเลเซีย ที่เชื่อมต่อกับชายแดนไทย คือด่านปาดังเบซาร์ รัฐเปอร์ริส ที่นี่กำลังมีการวางโครงข่ายรถไฟทางคู่สายเมืองอิโปห์-ปาดังเบซาห์ ระยะทาง 329 กิโลเมตร ความสำคัญของทางรถไฟสายนี้ คือการเชื่อมต่อสู่เมืองท่าเรือน้ำลึกที่รัฐปีนัง ช่วยให้การขนส่งสินค้าทางเรือสะดวกขึ้น แม้แต่ไทยเองก็สามารถขนส่งสินค้าจากปาดังเบซาร์สู่ท่าเรือปีนังในระยะทาง 158 กิโลเมตร ได้เร็วขึ้นเช่นกัน
ซึ่งที่เมืองอิโปห์แห่งนี้ ยังมีสถาปัตยกรรมที่งดงามของสถานีรถไฟ จนได้รับสมญาว่า ทัชมาฮาลแห่งอิโปห์ อีกแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของเมือง ขณะที่ภายในมีความทันสมัย และยังเป็นจุดเชื่อมต่อเข้าสู่เมืองหลวงที่กรุงกัวลาลัมเปอร์ด้วยรถไฟทางคู่ ETS ซึ่งเป็นระบบไฟฟ้าระหว่างเมือง ที่พึ่งเปิดให้บริการเมื่อปี 2553 วิ่งได้เร็วถึง 140 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในระยะทาง 300 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทาง 2 ชั่วโมงครึ่ง โดยระบบรถไฟรางคู่ของมาเลเซีย จะก่อสร้างแล้วเสร็จทั่วทั้งประเทศ ในอีก 2 ปีข้างหน้าระยะทางรวม 1,500 กิโลเมตร
ขณะที่ไทยก็มีโครงการรถไฟทางคู่ ที่สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงคมนาคมที่กำลังเร่งพัฒนา โดยเริ่มที่สายใต้ ตั้งแต่ประจวบถึงชุมพร ระยะทาง 167 กิโลเมตรเป็นเส้นทางแรก ด้วยงบประมาณกว่า 10,300 ล้านบาท
ซึ่งจะแล้วเสร็จในปี 2558 และก่อสร้างรถไฟทางคู่อีก 3 ช่วง คือ หัวหิน-ประจวบ ,สุราษฎร์-ปาดังเบซาร์ และหาดใหญ่-สุไหงโกลก เพื่อเชื่อมต่อกับรถไฟทางคู่ของมาเลเซีย ช่วยให้ระบบขนส่งระหว่างประเทศมีขีดความสามารถเพิ่มมากขึ้น และยังหมายถึงการพัฒนาเศรษฐกิจสู่ประชาคมอาเซียนด้วย
รถไฟทางคู่ไทย-มาเลเซีย
เครดิต :
ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!