โรคมะเร็ง 2 (ต่อ)





ขบวนการเกิดเซลล์มะเร็งมีอะไรบ้าง


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]



เมื่อเกิดเป็นสารเซลล์มะเร็งขึ้นแล้ว เนื่องจากว่าเซลล์มะเร็งมีความพิการหรือการผิดปกติที่ยีน หรือโครโมโซม ฉะนั้น เซลล์มะเร็งจะแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว และให้เซลล์ลูกที่เป็นเซลล์มะเร็งเสมอ จะไม่แบ่งตัวให้เซลล์ลูกที่เป็นเซลล์ปกติ ลักษณะเช่นนี้เรียกว่า เซลล์มะเร็ง มีคุณสมบัติของการถ่ายทอดทางตรง (breed-trueproperty)
เซลล์มะเร็งมีการเจริญเติบโต โดยมีวงชีพของเซลล์เหมือนเซลล์ปกติ คือ เมื่อเซลล์แบ่งตัวให้เป็นเซลล์ลูก ๒ เซลล์แล้ว บางเซลล์อาจอยู่นอกวงชีพของเซลล์เรียกว่า ระยะจี o(G(,o)) ซึ่งเป็นเซลล์ที่ไม่มีการเจริญเติบโต แต่ไม่ตาย และอาจจะกลับเข้าสู่วงชีพของเซลล์ได้ถ้ามีสิ่งกระตุ้น เซลล์ ส่วนใหญ่จะเข้าสู่ระยะ จี/๑ (G(,1), presynthetic หรือ postmitotic phase) เป็นระยะที่เซลล์เริ่มแสดงลักษณะเฉพาะของมัน และในตอนท้ายๆ ของระยะนี้จะมีการเตรียมการสร้างดีเอ็นเอโดยการสร้างน้ำย่อยต่าง ๆ ถัดไปจะเป็นระยะเอส (S, synthetic phase) คือมีการสร้างดีเอ็นเอ จากนั้นจะเข้าสู่ระยะจี ๒ (G(,2), postsyntheitc หรือ premitotic phase) ซึ่งไม่มีการสร้างดีเอ็นเออีก แต่มีการสร้างโปรตีนเพิ่มเพื่อนำไปสร้างอาร์เอ็นเอ และสุดท้ายเซลล์จะเข้าสู่ระยะเอ็ม (M) คือ ระยะแบ่งตัว (mitotic phase) เซลล์มะเร็งจะสร้างดีเอ็นเอช้ากว่าหรือใกล้เคียงกับเซลล์ปกติแต่เซลล์มะเร็งตายยากกว่า เพราะเซลล์ค้างอยู่ในระยะใดระยะหนึ่งของวงชีพของเซลล์ ส่วนใหญ่ที่พบคือ ในระยะจี๑ และ จีo การที่เซลล์มะเร็งตายน้อยกว่าเซลล์เกิดใหม่ และการที่เซลล์มะเร็งมักจะมีอัตราการแบ่งตัวเร็วกว่าเซลล์ปกติ จึงเป็นผลทำให้เซลล์มะเร็งรวมกันโตเป็นก้อน
การศึกษาอัตราการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งโดยเฉพาะชนิดเป็นก้อน อาจทำง่าย ๆ โดยการวัดระยะเวลาที่เซลล์มะเร็งแบ่งตัวจนปริมาตรของก้อนมะเร็งเพิ่มขึ้นเป็น ๒ เท่า
สำหรับมะเร็งส่วนมากที่เกิดในคนจะโตขึ้นเป็น ๒ เท่า โดยเฉลี่ยประมาณ ๑-๕ เดือน แต่เซลล์มะเร็งที่ได้เพาะเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการจะมีระยะเวลานี้ประมาณ ๑-๒ วัน เท่านั้น เนื่องจากการเพาะเลี้ยงซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง ทำให้เกิดเซลล์ที่มีอัตราการแบ่งตัวเร็วขึ้น ความแตกต่างในการเจริญเติบโตของแต่ละเซลล์ของแต่ละก้อนมะเร็งในผู้ป่วยรายเดียวกัน หรือต่างคนกัน หรือแม้แต่ในก้อนมะเร็งก้อนเดียวกันยังมีการเจริญเติบโตเร็วช้าต่างกัน มีมะเร็งบางชนิดในคนที่ก้อนโตช้ามากทั้ง ๆ ที่เซลล์มีอัตราการแบ่งตัวเร็ว ทั้งนี้เนื่องจากปัจจัยหลายอย่าง เช่น เซลล์กลับไปอยู่นอกวงชีพ ทำให้ไม่มีการแบ่งตัว หรือมีการหลุดลอกออกไป หรือมีการตายของเซลล์ เช่น แก่ตาย ถูกเบียดตาย ขาดอาหารหรือขาดออกซิเจน หรือถูกทำลายโดยระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายโดยเม็ดขาวบางชนิด (T-lymphocytes)
ก้อนมะเร็งแต่ละก้อนจะมีหลอดเลือดมาเลี้ยงโดยเฉพาะ จึงมีผู้เชื่อกันว่า การโตของก้อนมะเร็งจะถูกควบคุมโดยสารชนิดหนึ่งที่เรียกว่า สารที่กระตุ้นการเจริญของเซลล์บุผนังด้านในของหลอดเลือดฝอย (tumourangiogenesis factor-TAF) การมีหลอดเลือดฝอยใหม่ ๆ เกิดได้เร็ว ก็จะทำให้ก้อนมะเร็งโตเร็วขึ้นด้วย
ก้อนมะเร็งอาจจะแบ่งได้เป็น ๓ ส่วน คือ
ก. ส่วนเจริญ เป็นส่วนรอบนอกของก้อนเซลล์ได้รับอาหารและออกซิเจนจากหลอดเลือดอย่างสมบูรณ์แบ่งตัวได้เร็ว
ข. ส่วนไม่เจริญอยู่ลึกถัดเข้ามา เป็นเซลล์ที่ยังมีชีวิตแต่ไม่แบ่งตัวส่วนใหญ่จะอยู่ในระยะจี ๑
ค. ส่วนแกนหรือส่วนตาย อยู่ตรงกลางของก้อนมะเร็ง ประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว อยู่ตรงกลางของก้อนมะเร็ง ประกอบด้วยเซลล์ที่ตายแล้ว เพราะขาดออกซิเจน หรือถูกเบียดตาย แต่เซลล์ชั้นนอก ๆ ของส่วนนี้อาจจะไม่ตายแต่ไม่แบ่งตัว และส่วนใหญ่อยู่ในระยะจีo เพราะเซลล์สามารถได้กำลังงานจากการสลายตัวของไกลโคเจนในเซลล์เมื่อยู่ในภาวะที่ขาดออกซิเจนเหมือนกับบัคเตรีบางชนิด
เนื่องจากออกซิเจนจากหลอดเลือดฝอยจะมีการซึมซาบได้ในระยะจำกัด และถ้าเซลล์อยู่ห่างจากหลอดเลือดฝอยเกินกว่าระยะทาง ๑๕๐ ไมโครมิเตอร์ จะถือว่าเซลล์นั้นอยู่ในภาวะขาดออกซิเจน ฉะนั้น เมื่อก้อนมะเร็งมีขนาดโตขึ้น ส่วนแกนหรือส่วนตายจะมีขนาดโตขึ้นด้วย ในขณะที่ส่วนเจริญและส่วนไม่เจริญมักจะมีขนาดค่อนข้างคงที่







อาการของโรคมะเร็งมีอะไรบ้าง




[ ขยายดูภาพใหญ่ ]



ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งของอวัยวะใดก็ตาม อาการและอาการแสดงจะประกอบด้วย ๔ กลุ่มใหญ่ คือ
๑. อาการเฉพาะที่
อาการจะเกิดในบริเวณอวัยวะ หรือตำแหน่งที่เป็นมะเร็งก้อน ซึ่งในระยะที่เพิ่มเริ่มเป็นจริง ๆ อาจจะไม่มีอาการอะไรเลย โดยเฉพาะถ้าเป็นกับอวัยวะภายในทำให้วินิจฉัยโรคในระยะนี้ได้ยาก เมื่อโรคเป็นมากขึ้นจนเป็นก้อนมะเร็งจะมีการเบียดและทำลายเนื้อเยื่อของอวัยวะต้นกำเนิด ทำให้อวัยวะนั้น ๆ เสียหน้าที่ไป ต่อมาก็จะมีการลุกลาม แทรกซึมไปทำลายอวัยวะใกล้เคียงอีกด้วย โดยที่ไม่มีอะไรไปขวางกั้นมันได้แม้แต่กระดูกมันจะทำให้กระดูกผุกร่อนหรือหักไปเลย เมื่อลามไปถึงหลอดเลือดก็จะมีการทำลายของผนังหลอดเลือด ทำให้มีเลือดออก เมื่อลุกลามไปที่ท่อทางเดินต่าง ๆ ของร่างกาย ก็จะทำให้เกิดการอุดตันของท่อทางเดินต่าง ๆ หรือไม่ก็ทะลุไปเลย เช่น กลืนอาหารไม่ลง หายใจไม่ออก ลำไส้ทะลุ ฯลฯ เป็นต้น
ในระยะที่เริ่มเป็น จะไม่มีอาการเจ็บปวดแต่อย่างใด แต่เมื่อมีการลุกลามไปถึง หรือมีการทำลายกระดูกเส้นประสาทแล้ว จะทำให้ปวดมาก แม้แต่จะรับประทานยาแก้ปวดก็ไม่หาย นับว่าเป็นความทุกข์ทรมานเป็นอย่างยิ่ง ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะมาพบแพทย์เพื่อขอรับการรักษาก็ต่อเมื่อเกิดอาการปวดแล้ว ซึ่งก็สายเกินไปที่จะรักษาให้หายขาดได้เสียแล้ว
เพื่อความเข้าใจง่ายขอกล่าวอาการคร่าว ๆ ของมะเร็งที่เป็นกับระบบอวัยวะที่สำคัญ ดังนี้คือ
ก. มะเร็งของระบบผิวหนัง ส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีการเปลี่ยนแปลงของไฝ ปาน หรือจุดตกกระในคนแก่ โดยจะมีอาการคันแตกเป็นแผลแล้วไม่ยอมหายขอบแผลอาจมีสีดำ ในระยะหลังจะโตเร็วและมีเลือดออก
ข. มะเร็งของระบบทางเดินอาหาร ในช่องปากจะมีแผลโดยเริ่มจากฝ้าขาว ๆ (leulkoplakia) ก่อนบริเวณหลอดอาหารจะเริ่มจากการเจ็บเวลากลืนอาหารและกลืนลำบากหรือกลืนไม่ลง บริเวณกระเพาะอาหารอาจจะเริ่มจากแผลในกระเพาะอาหาร มีอาการปวดท้อง ท้องอืด แน่นท้อง อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ คลำได้ก้อนที่บริเวณยอดอก บริเวณลำไส้ ส่วนปลาย มักจะเริ่มจากมีอาการท้องผูกสลับกับท้องเดินอุจจาระเป็นมูกเลือด เป็นต้น
ค. มะเร็งของระบบทางเดินหายใจ มีอากรเสียงแหบ ไอ เสมหะปนเลือด เจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย หน้าและคอบวม เป็นต้น
ง. มะเร็งของระบบน้ำเหลือง จะมีก้อนจากการโตสของต่อมน้ำเหลือง โดยเฉพาะบริเวณคอ รักแร้ ขาหนีบ และในช่องท้อง
จ. มะเร็งของระบบเลือด จะมีอาการอ่อนเพลีย ซีดจากโลหิตจางเลือดออกง่ายโดยเฉพาะใต้ผิวหนัง อาจพบจ้ำเลือด
ฉ. มะเร็งของระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ในเพศหญิง บริเวณเต้านมจะเริ่มมีก้อน มีเลือด หรือน้ำเหลืองออกจากหัวนมในระยะแรก ๆ มีแผลหรือคันบริเวณอวัยวะเพศ มีตกขาว หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด มีการผิดปกติของประจำเดือน ในเพศชายจะมีแผลที่อวัยวะเพศคล้ายแผลจากกามโรค มีปัสสาวะขัดมีก้อนที่อัณฑะ เป็นต้น
๒. อาการแสดงของการโตของต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียงเมื่อโรคเป็นมากขึ้น ต่อมน้ำเหลืองใกล้เคียงจะโตเป็นก้อน มักจะแข็งระยะแรกจะเคลื่อนไหวได้เวลาจับ และต่อมาจะยึดแน่น เห็นได้ชัดเจนในมะเร็งบริเวณศีรษะ และลำคอ
๓. อาการทั่ว ๆ ไป ของมะเร็ง
มะเร็งจะมีผลทำให้สรีรวิทยาและเมตาโบลิซึมของร่างกายผิดไปจากปกติเกือบทุกระบบ โดยที่เซลล์มะเร็งจะปล่อยพิษให้ซึมซาบไปทั่วร่างกาย ทำให้มีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร ซูบซีด และในระยะสุดท้ายจะผอมแห้ง มะเร็งบางชนิดสามารถหลั่งฮอร์โมนได้ จึงทำให้ร่างกายมีการผิดปกติตามแต่ชนิดของฮอร์โมน เช่น มะเร็งของรังไข่ที่หลั่งฮอร์โมนเพศชายจะทำให้ผู้ป่วยหญิงมีลักษณะคล้ายผู้ชาย เช่น มีหนวด เสียวห้าว เป็นต้น
๔. อาการที่เกิดจากการแพร่กระจายของมะเร็ง
อาการชนิดนี้ ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งทุติยภูมิจะไปเกิดที่อวัยวะใด ก็จะปรากฏอาการของการผิดปกติของอวัยวะนั้น ๆ เพิ่มขึ้นมาด้วย เช่น ถ้าแพร่กระจายไปที่ปอดก็ทำให้เกิดอาการไอ หอบ หรือมีน้ำท่วมปอดถ้าแพร่กระจายไปที่สมอง จะทำให้ปวดศีรษะอย่างมากจนถึงหมดสติไม่รู้สึกตัว เป็นต้น
สัญญาณอันตราย ๗ ประการ
เนื่องจากว่าในการรักษาโรคมะเร็ง จะได้ผลดีก็ต่อเมื่ออยู่ในระยะที่เพิ่มเริ่มเป็นเท่านั้น ฉะนั้นการที่จะรู้ว่าเป็นโรคมะเร็งแล้วได้โดยเร็วที่สุด ย่อมจะเป็นผลดีอย่างยิ่ง สัญญาณอันตราย ๗ ประการที่ควรจำ ที่เตือนว่าจะเป็นมะเร็ง คือ
๑. การเป็นแผลที่ไม่รู้จักหาย แผลโดยทั่ว ๆ ไปควรจะหายภายในเวลาไม่เกิน ๒ สัปดาห์ ถ้านานเกินระยะเวลานี้น่าจะสงสัยว่าเป็นแผลมะเร็งได้
๒. การมีตุ่ม ไต ก้อนแข็งใต้ผิวหนัง โดยเฉพาะบริเวณเต้านม ช่องท้อง หรือมีต่อมน้ำเหลืองที่โตผิดปกติ โดยเฉพาะบริเวณคอ รักแร้ หรือขาหนีบ
๓. อาการไอเรื้อรัง หรือมีเสียงแหบแห้งอยู่นาน
๔. อาการผิดปกติเรื้อรัง เกี่ยวกับกระเพาะอาหาร ลำไส้ การกลืนหรือการถ่ายอุจจาระ
๕. การเปลี่ยนแปลงทุกชนิดที่ปรากฏที่หูด ไฝ ปาน ที่มีมาก่อน
๖. การมีเลือด น้ำเหลือง หนอง ที่ผิดปกติออกมาจากทวารต่าง ๆ ของร่างกาย
๗. การผิดปกติของประจำเดือนในหญิง
สัญญาณอันตรายทั้ง ๗ ประการนี้ เป็นเครื่องเตือนให้ทราบว่าอาจจะเป็นมะเร็งได้ หรืออาจจะไม่ใช่ก็ได้ แต่ผู้ที่จะบอกได้แน่นอนว่าเป็นมะเร็งหรือไม่นั้นได้แก่ แพทย์ ฉะนั้นถ้าปรากฏอาการดังกล่าวอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังที่กล่าวข้างบนนี้ ขอให้รีบไปปรึกษาแพทย์ทันทีอย่ารีรอ ถ้าเป็นมะเร็งก็จะอยู่ในระยะที่เพิ่งเริ่มเป็น และมีโอกาสจะรักษาให้หายขาดได้มาก







ชนิดของมะเร็งแบ่งได้กี่ชนิด


[ ขยายดูภาพใหญ่ ]



มะเร็งสามารถเกิดได้ในทุกอวัยวะของร่างกาย (ยกเว้น ผม ขน ฟัน และเล็บ ที่งอกออกมาแล้วเท่านั้นที่ไม่เป็นมะเร็ง) ในทางพยาธิวิทยา มะเร็งมีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามชนิดของเซลล์ หรือเนื้อเยื่อต้นกำเนิด เพื่อความเข้าใจง่ายจึงแบ่งมะเร็งหรือเนื้องอกชนิดร้ายออกเป็น ๒ พวกใหญ่ ๆ คือ
๑. มะเร็งของเยื่อบุ (คาร์ซิโนมา) ทั้งเยื่อบุภายนอกและภายใน เช่น มะเร็งของเยื่อบุช่องปาก เยื่อบุทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ เยื่อบุมดลูก รวมทั้งผิวหนังด้วย มะเร็งพวกนี้พบได้บ่อย และมีลักษณะเฉพาะตัว คือ มักจะมีการแพร่กระจายไปทางกระแสน้ำเหลืองก่อนทางกระแสเลือด ฉะนั้น จึงมีโอกาสรักษาให้หายได้ง่าย ทั้งโดยวิธีผ่าตัดหรือรังสีรักษา
๒. มะเร็งของเนื้อเยื่อ (ซาร์โคมา) เช่น มะเร็งของกล้ามเนื้อ ไขมัน ระบบประสาท กระดูก ฯลฯ มะเร็งพวกนี้มักจะมีการแพร่กระจายไปทางกระแสเลือดได้เร็ว และโดยเฉลี่ยแล้วจะพบในคนอายุน้อยกว่าคนที่เป็นมะเร็งเยื่อบุ
มะเร็งทั้ง ๒ พวกนี้มีความรุนแรงของโรคแตกต่างกันออกไป บางชนิดไม่รุนแรงมาก ค่อยเป็นค่อยไป และผู้ป่วยสามารถมีชีวิตอยู่ได้หลายปีแม้จะไม่ได้รับการรักษาแต่อย่างใด บางชนิดรุนแรงมาก แม้เพิ่งจะเริ่มเป็นก็สามารถแพร่กระจายไปได้รวดเร็ว จนในบางครั้งตรวจพบมะเร็งทุติยภูมิที่เกิดจากการแพร่กระจาย ก่อนที่จะตรวจพบมะเร็งปฐมภูมิด้วยซ้ำก็มี

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์