ด้านความเป็นมาและลักษณะสำคัญของแมวไทย 4 ชนิดที่ยังหลงเหลืออยู่ เจ้าของศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ เปิดเผยว่า
แมวไทยทั้ง 4 ชนิดจะมีลักษณะและจุดเด่นที่แตกต่างกัน แมววิเชียรมาศ ตามหลักฐานในสมุดข่อยโบราณของไทย ระบุว่าเป็นแมวที่คนไทยเลี้ยงไว้ในพระราชสำนัก เพราะเชื่อว่าเป็นแมวนำโชคลาภ ชาวบ้านธรรมดาไม่มีโอกาสได้เลี้ยง แมววิเชียรมาศ มีลักษณะเด่น คือ มีตาสีฟ้าสดใส เหมือนตาฝรั่ง ส่วนสีขนลำตัวนั้นเป็นสีครีม และมีแต้มสีเข้ม ที่เรียกว่า แต้มสีครั่ง ได้แก่ ที่บริเวณหน้า หูทั้งสองข้าง ขาทั้งสี่ข้าง หาง และที่อวัยวะเพศ รวม9ตำแหน่ง
สำหรับ แมวสีสวาด หรือแมวโคราช สมัยโบราณเรียกว่า แมวมาเลศ แต่ที่เรียกว่าแมวโคราช เพราะเรียกตามถิ่นกำเนิด คือค้นพบที่ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา มีความเชื่อว่าเป็นแมวแห่งโชคลาภ เพราะมีสีขนคล้ายสีเมฆ ตามีสีเหลืองอมเขียวประดุจข้าวกล้า ดังนั้นจึงถูกใช้ในพิธีแห่นางแมวขอฝนในสมัยโบราณ แมวโกนจา หรือแมวดำปลอด มีสีขนดำทั้งตัวไม่มีขนสีอื่นแซม ตาสีเหลืองดอกบวบแรกแย้ม ลักษณะการเดินทอดเท้าคล้ายสิงโต สมัยก่อนมีความเชื่อว่าถ้าเลี้ยงแมวโกนจาไว้เจ้าของจะมีสมบัติมากมาย
แมวศุภลักษณ์ หรือแมวทองแดง มีขนสีน้ำตาลเข้มเหมือนสีทองแดงทั้งตัว ตามีสีเหลืองเป็นประกาย นับเป็นแมวพันธุ์ไทยแท้ที่เหลือจำนวนน้อยมากในปัจจุบัน แต่มีแมวลักษณะคล้ายกันอยู่ในประเทศพม่า น่าจะเป็นแมวศุภลักษณ์ของไทยหลงเข้าไปในประเทศพม่าครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ 2 โดย ดร.โจเซฟ ซีทอมสัน ขาวอเมริกัน ได้นำลูกแมวจากประเทศพม่าไปพัฒนาสายพันธุ์ และจดทะเบียนที่ประเทศอังกฤษในชื่อ แมวพม่า ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับแมวศุภลักษณ์ของไทย
คนรักแมวและอยากเห็นแมวไทยแท้อย่างใกล้ชิด พร้อมได้ความรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์แมวไทย เดินทางไปได้ที่ ศูนย์การเรียนรู้ในชุมชน แมวไทยโบราณ ตั้งอยู่ที่ ม.7 ต.แควอ้อม อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม เปิดให้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่เวลา 8.00 – 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมโทร 0 3473 3284 , 0 3470 2068 , 08 4003 4194