นักวิชาการเผยเด็กไทย 3 ล้านคน หายจากระบบการศึกษา ตั้งวงถกผลักดันโรงเรียน ให้โอกาสเด็กยากจน-เรียนอ่อน-หัวโจกที่ผิดพลาด มีโอกาสเรียนต่อ
ศาสตราจารย์ นพ.ประเวศ วะสี กล่าวระหว่างเป็นประธานการเสวนาวิชาการเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 6 ว่า จากเวทีปฏิรูปการเรียนรู้สู่การศึกษาเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 6 ในประเด็นการจัดการศึกษาเพื่อกลุ่มเด็กเสี่ยงและเด็กด้อยโอกาส ต่อกรณีศึกษาโฮงเฮียนจาวบ้าน (โรงเรียนบ้านแม่จัน) จ.เชียงราย และโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภชบางขุนเทียน กรุงเทพ จะเห็นได้ว่า เด็กที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เด็กด้อยโอกาส เด็กเหล่านี้ไม่ได้เลวร้ายอะไร แต่เขามีปัญหาเพราะสังคม โดยปัจจุบันเด็กที่หลุดออกจากระบบการศึกษามีจำนวนมากถึง 3,000,000 คน ดังนั้น กรณีศึกษาของทั้ง 2 โรงเรียนจึงเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นระบบการบริการและจัดการศึกษาที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ในเชิงนโยบายและยุทธศาสตร์
นายสว่าง มโนใจ ผู้ก่อตั้งโฮงเฮียนจาวบ้าน กล่าวว่า โฮงเฮียนจาวบ้านเป็นโรงเรียนทางเลือกสำหรับเด็กที่ถูกคัดออกกลางคันจากโรงเรียนในระบบ เช่น เด็กติดศูนย์ เด็กหัวโจก เด็กที่มีแนวโน้มที่จะไม่จบชั้นม.3 โดยมองว่า โรงเรียนไม่ควรซ้ำเติมและตอกย้ำความรู้สึกของเด็กที่ผิดพลาดมาแล้ว แต่จะต้องให้เขาสามารถดำเนินชีวิต มีอาชีพของตนเองได้
นางวราภรณ์ หงส์ดิลกกุล ครูโรงเรียนรัตนโกสินทร์สมโภช กล่าวว่า โรงเรียนมีระบบคัดกรองที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญในการบริหารจัดการดูแลนักเรียนกลุ่มเสี่ยง กลุ่มมีปัญหา และกลุ่มนักเรียนเรียนร่วม แต่จากสถิติการจบการศึกษาของนักเรียนระดับชั้น ม.3 มีอัตราลดลงติดต่อกันหลายปี และพบว่าในหนึ่งปีมีเด็กหายจากระบบการศึกษากว่า 200,000 คน โดยเด็ก 2 ใน 3 ถูกออกจากระบบการศึกษา เพราะความยากจน สภาพครอบครัวที่มีปัญหา ดังนั้น นอกจากระบบคัดกรองและการใช้เครือข่ายความช่วยเหลือที่อยู่ในระบบคัดกรอง ซึ่งมีทั้งพ่อ แม่ ตัวนักเรียน เพื่อนนักเรียน ครู และชุมชน ที่เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญที่ทำให้ระบบเข้มแข็งแล้ว สิ่งสำคัญโรงเรียนเข้าใจและเข้าถึงตัวเด็ก โดยการละอคติ มีใจ ให้โอกาสเด็กไม่ว่าเขาจะมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ติดเกมส์ ติดสารเสพติด ฯ เราจะต้องละไว้ แล้วพยายามหาสิ่งที่ดีในตัวเด็กมาพูดคุยกับเด็กทุกวัน เช่น ชมเมื่อมาเรียนตรงเวลา แต่งตัวเรียบร้อย ส่งงานครู เป็นต้น
ด้านนางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า การทำงานของสำนักฯ มองเด็กตั้งแต่ในท้องแม่ จนเติบโตเพราะเด็กสามารถด้อยโอกาสได้ตั้งแต่อยู่ในท้องแม่ ดังนั้น ในฐานะองค์กรที่ให้การสนับสนุนเราจึงเป็นผู้เติมเต็ม เชื่อมโยงในจุดที่ขาด กระตุ้นให้เกิดนวัตกรรม เกิดการพัฒนาและนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะเรื่องของเด็กด้อยโอกาส มีหลายองค์กรที่จะเข้ามาให้การช่วยเหลือสนับสนุน โรงเรียนเป็นส่วนหนึ่งที่มีระบบการดูแลเด็กอยู่แล้ว ซึ่งทุกคนควรรู้สึกและเข้าใจ เราไม่อยากให้มองว่าเด็กไม่ดี เพราะความไม่ดีที่เกิดขึ้นกับเด็กมาจากหลายพื้นฐานที่เป็นองค์ประกอบจากภายในและภายนอก ทุกคนคนต้องช่วยเหลือให้เขาเข้ามาอยู่ในสังคมให้ได้ อย่าผลักเขาออกไป