รู้จักกับการจำกัดความเร็วในการใช้งาน 3G (Fair Usage Policy) มีไว้เพื่ออะไร และผู้ใช้ได้อะไร

รู้จักกับการจำกัดความเร็วในการใช้งาน 3G (Fair Usage Policy) มีไว้เพื่ออะไร และผู้ใช้ได้อะไร


เป็นประเด็นที่หลายๆคนพูดถึงกับ Fair Usage Policy (FUP) หรือการจำกัดความเร็วในการใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือในการเชื่อมต่อดาต้าเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต เมื่อครบปริมาณการใช้งานที่กำหนดไว้ เราจะพาคุณไปรู้จักกับการจำกัดปริมาณการใช้งานอย่างเหมาะสม Fair Usage Policy กัน


ทำไมต้องมีการกำหนด Fair Usage Policy

เมื่อก่อนในสมัยที่เรายังใช้ GPRS/EDGE เชื่อมต่อโทรศัพท์มือถือเพื่อใช้งานอินเทอร์เน็ต สมัยนั้นเรายังใช้งานในปริมาณข้อมูลที่น้อย เนื่องจากการใช้งานบนความเร็วที่ไม่มากนัก บรรดาเว็บไซต์ต่างๆ ยังไม่ได้เป็น Social Network แบบทุกวันนี้ ใช้งานแค่เช็คข้อความอีเมล์พร้อมภาพไม่กี่ภาพ หรือดู Wap Site ช่วงนั้นเรายังใช้งานอินเทอร์เน็ตแบบรายคิดเป็นเวลา (รายชั่วโมง) โดยนับเป็นนาที เช่นเดียวกับการคิดค่าบริการอินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็ม 56K แบบหมุนโทรศัพท์ แต่เมื่อมีการให้บริการ 3G แบบทดลองใช้ และแบบหยวนๆใช้ (คือยังไม่ได้มีการประมูลใบอนุญาต โดยค่ายผู้ให้บริการนำคลื่นเดิมมาให้บริการ 3G) ค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือ จึงได้กำหนด Fair Usage Policy เพื่อกำหนดเงื่อนไขในการใช้งานดาต้าผ่านเครือข่าย 3G ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และเพื่อการใช้งานอย่างเหมาะสม โดยกำหนดสิทธิ์ในการใช้งานตามปริมาณการรับส่งข้อมูล หากใช้งานครบตามปริมาณการใช้งานที่กำหนดแล้ว ก็ยังสามารถใช้งาน 3G ได้ โดยไม่เสียค่าบริการเพิ่มเติม เพียงแต่ถูกปรับลดความเร็วลง ทำให้เราไม่ได้ใช้ความเร็วสูงสุดตามที่เครือข่ายและตัวเครื่องรองรับ

เหตุผลที่ค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือต้องกำหนดเงื่อนไข Fair Usage Policy ขึ้น เนื่องจากมีลูกค้านำระบบ 3G แบบไม่จำกัด (Unlimited) ไปเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต โดยนำไปใช้งานที่ไม่เหมาะสมและผิดวัตถุประสงค์ เช่นการดาวน์โหลด Bittorrent ซึ่งมีการรับส่งข้อมูลในปริมาณมาก (เหมาะกับการใช้งานบนบรอดแบนด์หรือ ADSL มากกว่า) เมื่อมีการนำไปใช้งานในลักษณะนี้ ซึ่งกระทบต่อการใช้งานโดยรวม ส่งผลให้ผู้ใช้งานคนอื่นๆ ใช้งานได้ช้าเพราะถูกแย่งแบนด์วิธ จึงจำเป็นต้องมีการกำหนดเงื่อนไขข้อจำกัดเพื่อให้เครือข่ายโดยรวม สามารถให้บริการลูกค้าทุกคนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

ใครบ้างที่ต้องเผชิญกับการถูกจำกัดการใช้งานตามเงื่อนไข Fair Usage Policy

ไม่ใช่ว่าผู้ใช้บริการทุกคนจะถูกจำกัดสิทธิ์ในการใช้งานจากผู้ให้บริการด้วยเงื่อนไข Fair Usage Policy อย่างไม่มีทางเลือก เพราะการจำหน่ายแพ็คเกจ 3G ในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ซึ่งถือว่า ผู้ใช้ยอมรับการสมัครใช้งานแพ็คเกจ โดยมีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบคอบแล้ว


รู้จักกับการจำกัดความเร็วในการใช้งาน 3G (Fair Usage Policy) มีไว้เพื่ออะไร และผู้ใช้ได้อะไร


แบบแรกคือ แพ็คเกจที่ให้บริการโดยนำเสนอปริมาณการใช้งานเบื้องต้น ยกตัวอย่างแพ็คเกจของ 12Call แบบเติมเงิน สามารถใช้งาน 3G ได้ 200MB ต่อเดือน หากใช้งานครบ 200MB ส่วนที่ใช้เกินจะไม่ถูกจำกัดความเร็ว (ไม่ถูกจำกัด Fair Usage Policy) แต่จะต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติมในอัตราที่กำหนด แบบนี้ผู้ใช้จะต้องศึกษาและเข้าใจการบริหารการใช้ 3G อย่างรอบคอบ และรู้วิธีปิด 3G ป้องกันเน็ตรั่ว เพื่อไม่ให้มีค่าใช้จ่ายบานปลาย เรามักจะเห็นในแพ็คเกจแบบเติมเงินมากกว่าแบบรายเดือน

รู้จักกับการจำกัดความเร็วในการใช้งาน 3G (Fair Usage Policy) มีไว้เพื่ออะไร และผู้ใช้ได้อะไร


แบบที่ 2 ตัวอย่างแพ็คเกจ TruemoveH แบบรายเดือน หากเป็นแพ็คเกจต่ำๆ อย่าง Net 150, 350, 650 จะใช้งานได้ตามปริมาณการใช้งานที่กำหนด เมื่อใช้งานครบตามปริมาณการใช้งานที่กำหนดแล้ว จะต้องเสียค่าบริการเพิ่มเติมในส่วนที่เกินเม็กกะไบต์ละ 2 บาท โดยไม่ถูกจำกัด Fair Usage Policy แต่หากเป็นแพ็คเกจสูงๆ อย่าง Net 799, Net 899, Net 1699 หากใช้ครบตามปริมาณการใช้งานที่กำหนดก็สามารถใช้งานต่อไปได้โดยไม่เสียค่าบริการเพิ่มเติม แต่จะถูกปรับลดความเร็วในการใช้งานลงเหลือ 128Kbps แบบนี้เรียกว่า ถูกจำกัดความเร็วในการใช้งานตามเงื่อนไข Fair Usage Policy

รู้จักกับการจำกัดความเร็วในการใช้งาน 3G (Fair Usage Policy) มีไว้เพื่ออะไร และผู้ใช้ได้อะไร


แบบที่ 3 ก็คือ การจำหน่ายแพ็คเกจเป็นเม็กกะไบต์ ตามปริมาณการใช้งาน อย่างเช่น i-mobile 3GX แบบรายเดือน ที่คิดค่าบริการเป็นเม็กกะไบต์ ใช้งานเท่าไหรก็เหมาจ่ายเท่านั้น ไม่มีการกำหนด Fair Usage Policy ใช้ครบตามปริมาณที่กำหนดก็ซื้อเพิ่ม แบบนี้ก็แฟร์ดีไม่ถูกจำกัดลดความเร็วลง

พฤติกรรมผู้ใช้เปลี่ยนไป การกำหนด Fair Usage Policy ก็ต้องเป็นธรรม

เนื่องด้วยพฤติกรรมการใช้งานโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์พกพา (แท็ปเล็ต) และอุปกรณ์เชื่อมต่อ 3G อย่างแอร์การ์ด และ Mi-Fi (Personal Mobile HotSpot) ทำให้แต่ละผู้ให้บริการต้องกำหนด Fair Usage Policy ไว้ เพื่อป้องกันการนำไปใช้ผิดประเภท โดยแบ่งเป็น
สมาร์ทโฟน (iPhone, BlackBerry, Android) / แท็ปเล็ต (iPad, Android Tablet) และ USB AirCard (รวมไปถึง Mi-Fi) โดยการพิจารณาแพ็คเกจเพื่อใช้ในการใช้งาน 3G นั้น ควรจะเลือกให้เหมาะสมกับอุปกรณ์และพฤติกรรมในการใช้งานของเรา เช่น สมาร์ทโฟน สามารถเลือกใช้แพ็คเกจเพื่อใช้งานในปริมาณการรับส่งข้อมูล 1 – 2 GB ต่อเดือน (ถ้าไม่นำไปเชื่อมต่อเป็น Personal HotSpot ปล่อยสัญญาณให้กับคอมพิวเตอร์หรือแท็ปเล็ต) แต่หากต้องการใช้สมาร์ทโฟนแชร์สัญญาณ Wi-Fi หรือใช้แอร์การ์ด, Mi-Fi เพื่อเชื่อมต่อกับคอมพิวเตอร์ หรือแท็ปเล็ต ควรจะเลือกโปรโมชั่นที่ใช้งานได้ปริมาณ 3 – 5GB ต่อเดือน เพราะใช้เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเพื่อรับส่งข้อมูลในปริมาณที่มาก และในบางแพ็คเกจที่แถมพ่วงการใช้งาน Wi-Fi ฟรีเข้าไปด้วย ก็ลองสลับมาใช้ Wi-Fi แทน รับรองว่า ไม่เกินกำหนดตามเงื่อนไข Fair Usage Policy แน่นอน (ถ้าเลือกแพ็คเกจให้เหมาะสม) ลองดูตารางจาก i-mobile 3GX


รู้จักกับการจำกัดความเร็วในการใช้งาน 3G (Fair Usage Policy) มีไว้เพื่ออะไร และผู้ใช้ได้อะไร


จากตารางข้างต้น พอจะทราบได้คร่าวๆจากพฤติกรรมการใช้งานของเรา บางคนชอบฟังเพลง บางคนชอบดู Youtube บางคนชอบอ่านข้อความ บางคนติด Social Network เราก็เลือกแพ็คเกจให้เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งานของเรา หากเลือกอย่างเหมาะสมกับการใช้งานจริงๆ รับรองไม่ติด Fair Usage Policy ให้ช้าไม่ทันใจแน่ เพราะเราเลือกบริหารการใช้งาน 3G อย่างคุ้มค่า ใครชอบ Youtube ชอบดาวน์โหลด ก็ใช้ Wi-Fi บ้าน ออฟฟิศ ช่วยประหยัด 3G ได้มาก

เลือกแพ็คเกจไหนดี Data Calculator ช่วยได้


รู้จักกับการจำกัดความเร็วในการใช้งาน 3G (Fair Usage Policy) มีไว้เพื่ออะไร และผู้ใช้ได้อะไร


เราจะรู้ได้อย่างไรว่า พฤติกรรมการใช้งานของเรา ควรจะเลือกแพ็คเกจไหนถึงจะเหมาะสม และไม่ใช้เกินปริมาณการใช้งานจนถูกจำกัด Fair Usage Policy ผู้ให้บริการแต่ละค่ายนำเสนอเครื่องมือตรวจสอบคือ Data Calculator จาก AIS dtac TruemoveH ซึ่งทุกค่ายจะแบ่งการใช้งานตามอุปกรณ์ออกเป็น SmartPhone อย่าง iPhone, BlackBerry, Android, WindowsPhone / iPad, Tablet / Laptop ใช้กับแอร์การ์ด หรือ Mi-Fi ถ้าดูจากภาพประกอบด้านบน คงจะเห็นได้ชัดว่า โน้ตบุ๊กหรือแล็ปท็อป ใช้ปริมาณการรับส่งข้อมูลมากที่สุด แต่ไม่ใช่ว่าทุกอุปกรณ์จะใช้ความเร็ว 3G ได้เท่ากัน ขึ้นอยู่กับการรองรับของอุปกรณ์ อย่างเช่น The New iPad รองรับการดาวน์โหลดสูงสุด 42Mbps

สลับใช้ Wi-Fi บ้าง ทางเลือกในการใช้งาน 3G อย่างประหยัด (ปริมาณการใช้งาน)

ตอนนี้ พฤติกรรมในการใช้งานอุปกรณ์พกพา สมาร์ทโฟน แท็ปเล็ต แอร์การ์ด ของคนไทยเปลี่ยนไป หากอยู่บ้าน หรือออฟฟิศ ก็ใช้ Wi-Fi เชื่อมต่อคอมพิวเตอร์ แท็ปเล็ต สมาร์ทโฟน หากออกมานอกสถานที่ก็ใช้ 3G หรือเดินเข้าห้างก็มีบริการ Wi-Fi ให้ใช้ หรือมีบริการ Wi-Fi ฟรีทั่วกรุง ดังนั้น ผู้ใช้สามารถบริหารการใช้งาน 3G ไม่ให้เกินลิมิตจากปริมาณการใช้งานที่กำหนดไว้ได้ หรือหากใช้งานเกินปริมาณที่กำหนดไว้ ก็พยายามปรับไปใช้ Wi-Fi แทน ก็จะไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่จะต้องรู้วิธีปิด 3G เพื่อป้องกันเน็ตรั่วด้วย เพราะส่วนใหญ่ที่เกินกำหนด Fair Usage Policy คือนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ เช่น ให้แพ็คเกจต่ำสุด แต่นำไปกระจายสัญญาณ Wi-Fi HotSpot ให้คอมพิวเตอร์และแท็ปเล็ต เป็นต้น

ความเป็นธรรมของการกำหนดเงื่อนไขจำกัดปริมาณการใช้งาน Fair Usage Policy

ผู้ใช้หลายคนออกมาร้องเรียนว่า ผู้ให้บริการไม่เป็นธรรมในการจำกัดสิทธิ์ในการใช้งานโดยอ้างเงื่อนไข Fair Usage Policy ส่วนฝั่งผู้ให้บริการก็มีข้อกำหนดเพื่อไม่ให้เครือข่ายโดยรวมถูกดึงแบนด์วิธจากการนำไปใช้งานที่ไม่เหมาะสม ทางผู้ใช้ก็ออกมาแสดงความเห็นว่า การกำหนดเงื่อนไขของ Fair Usage Policy ในบางแพ็คเกจ กดความเร็วต่ำจนเกินไป บางแพ็คเก็จลดความเร็วลงเหลือ 64Kbps ซึ่งความเร็ว EDGE ยังเร็วกว่า หรือบางแพ็คเกจลดความเร็วเหลือ 128Kbps ก็ยังพอรับไหว บางแพ็คเก็จก็ลดเหลือ 256Kbps แต่ก็ยังถือว่าช้าเกินไปอยู่ดี แต่สำหรับผู้ใช้บางรายที่สมัครแพ็คเกจแท็ปเล็ต มักจะถูกจำกัดความเร็วเหลือ 384Kbps ซึ่งเป็นความเร็วในระดับ 3G ที่พอจะยอมรับได้ ถามว่าความเหมาะสมอยู่ที่ตรงไหน เพราะผู้ใช้ก็มองว่า ผู้ให้บริการเอาเปรียบโดยเหมือนบังคับให้ใช้แพ็คเกจสูงกลายๆ ต้องจ่ายเดือนละเกือบพันเพื่อให้สามารถใช้งานได้ปริมาณมากๆ หลังจากนั้นถูกลดความเร็วลง ถามว่า จะบริหารอย่างไรให้ไม่เกินจากปริมาณการใช้งานที่กำหนด อาจต้องสลับไปใช้ Wi-Fi บ้าง หรือขณะดู Youtube หรือดาวน์โหลดไฟล์ก็ใช้ Wi-Fi แทนก็เป็นทางเลือกที่ช่วยได้

ถ้าไม่อยากถูกจำกัดด้วย Fair Usage Policy ล่ะ?

ค่ายผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ๆ AIS, Dtac, TruemoveH นั้นนำเสนอทั้ังแพ็คเกจที่ไม่ถูกจำกัดความเร็วในการใช้งาน หากใช้งานเกินจากที่กำหนดก็มีค่าบริการเพิ่มเติม กับแพ็คเกจ Unlimited ที่ใช้งานได้ไม่จำกัด แต่หากใช้ครบตามปริมาณที่กำหนดก็ปรับลดความเร็วลง โดยไม่มีค่าบริการเพิ่มเติม และทางเลือกสำหรับแพ็คเกจของ MVNO จาก TOT อย่าง i-mobile 3GX, iFox ซึ่งจำหน่ายแพ็คเกจเป็นเม็กกะไบต์ (1024 MegaBye = 1GigayByte) โดยไม่มีการจำกัดปริมาณการใช้งาน Fair Usage Policy แต่จะขายเป็นเม็กกะไบต์ เช่น เหมาจ่าย 399 บาท ใช้งานได้ 2500MB หรือประมาณ 2.5GB หากใช้ครบก็ตัดการเชื่อมต่อ จ่ายเงินซื้อเม็กใหม่ ถ้าเป็นแบบนี้เราจะต้องหมั่นตรวจสอบปริมาณการใช้บริการเป็นประจำ

สรุป

การจำกัด Fair Usage Policy นั้น เป็นข้อจำกัดที่เป็นเงื่อนไขของผู้ให้บริการแต่ละรายที่กำหนดการใช้งานตามความเหมาะสม เพื่อการใช้งานโดยรวม แต่ผู้ใช้เองก็ควรจะเลือกแพ็คเกจให้เหมาะสมและนำอุปกรณ์มาใช้งาน 3G ให้เหมาะสมกับแพ็คเกจด้วยเช่นกัน เพราะผู้ให้บริการมีการนำเสนอแพ็คเกจที่หลากหลาย และไม่ได้เป็นการบังคับโดยไม่มีทางเลือก เพราะผู้ใช้บริการยินดีที่จะสมัครแพ็คเกจที่ตนพอใจได้ตามความต้องการ และยอมรับถึงข้อกำหนดและเงื่อนไขในการใช้งานแต่ละแพ็คเกจแล้ว แต่อย่างไรก็ตาม ความเห็นจากผู้ใช้ก็อยากจะให้มีการกำหนดเงื่อนไข Fair Usage Policy เป็นรายวัน แต่อย่าลืมว่า ในขณะนี้ 3G ที่เราใช้ ยังเป็น 3G ที่ผู้ให้บริการนำคลื่นความถี่เดิมมาให้บริการ คงต้องรอดูกันว่า การกำหนดเงื่อนไขในการจำหน่ายแพ็คเกจหลังการประมูลคลื่นความถี่ 2100MHz จะเป็นอย่างไร


ข้อมูล Fair Usage Policy จาก AIS dtac Truemove


รู้จักกับการจำกัดความเร็วในการใช้งาน 3G (Fair Usage Policy) มีไว้เพื่ออะไร และผู้ใช้ได้อะไร


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์