เมื่อต่อมน้ำลายกลายเป็นมะเร็ง

รู้ทันมะเร็ง : เมื่อต่อมน้ำลายกลายเป็นมะเร็ง : โดย...นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ

                    
ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่เผ็ดร้อนทั้งนอกสภาและในสภา รุนแรงถึงขั้นลงไม้ลงมือยื้อแย่งเก้าอี้ประธานรัฐสภาลงท้ายด้วยการขว้างปาเอกสารให้ปลิวว่อนไปหมด วิวัฒนาการจากเดิมที่ใช้เพียงวิวาทะโต้ตอบกันไปมา จากสงครามน้ำลายกลายมาเป็นเริ่มใช้กำลังกันมากขึ้น ทำให้อดที่จะกล่าวถึง "มะเร็งต่อมน้ำลาย" ไม่ได้

ใครไม่รู้จักต่อมน้ำลายว่าอยู่ตรงไหน ก็ขอให้คิดถึงเด็กเป็นโรคคางทูมที่สมัยก่อนพ่อแม่ต้องพาไปให้หมอจีนเขียนคำว่าเสือตรงแก้มที่บวมแถวๆ หน้าหู ซึ่งเป็นตำแหน่งของต่อมน้ำลายที่มีขนาดใหญ่ที่สุด จริงๆ แล้วต่อมน้ำลายมีอยู่หลายที่ โดยทั่วไปเขาแบ่งต่อมน้ำลายเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือต่อมน้ำลายหลักและต่อมเล็กต่อมน้อยที่กระจายอยู่ในช่องปาก ต่อมน้ำลายหลักมีอยู่ 3 คู่ 3 ตำแหน่งคือต่อมน้ำลายหน้าหู ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกร และสุดท้ายต่อมน้ำลายใต้ลิ้น

ต่อมน้ำลายนอกจากมีหน้าที่ผลิตน้ำลาย ซึ่งย่อยอาหารพวกแป้งและน้ำตาลเป็นหลักแล้ว ในน้ำลายยังมีสารภูมิคุ้มกันหรือแอนติบอดี้ที่ช่วยต่อสู้กับเชื้อโรคภายนอกที่ผ่านเข้ามาในช่องปากและลำคออีกด้วย


เมื่อต่อมน้ำลายกลายเป็นมะเร็ง

อาการยอดฮิตของผู้ป่วยมะเร็งต่อมน้ำลายส่วนใหญ่ที่ทำให้ต้องมาพบแพทย์คือมีก้อนผิดปกติบริเวณต่อมน้ำลายซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีอาการเจ็บบริเวณก้อน
 
ไม่ว่าจะคลำได้เองโดยบังเอิญหรือมีคนทักหรือจากการตรวจร่างกายประจำปี โดยต่อมน้ำลายที่มีขนาดเล็กจะมีโอกาสเป็นมะเร็งได้มากกว่าต่อมน้ำลายที่มีขนาดใหญ่ กล่าวคือ ต่อมน้ำลายหน้าหูซึ่งเป็นต่อมน้ำลายที่ใหญ่ที่สุด มีโอกาสเป็นมะเร็ง 25% ต่อมน้ำลายใต้ขากรรไกรมีโอกาสเป็นมะเร็ง 50%และต่อมน้ำลายใต้ลิ้นมีโอกาสเป็นมะเร็งมากที่สุดคือประมาณ 75% เพราะฉะนั้น ควรหมั่นสังเกตและคลำบริเวณหน้าหู บริเวณใต้ขากรรไกรทั้ง 2 ข้างและบริเวณใต้ลิ้นด้วยตัวเองอย่างสม่ำเสมอเพราะตำแหน่งของต่อมน้ำลายไม่ได้อยู่ลึกลับซับซ้อนอะไร หากเจอก้อนผิดปกติก็อย่าพึ่งวิตกกังวลเกินเหตุเพราะก้อนเนื้องอกของต่อมน้ำลายส่วนใหญ่เกินกว่าครึ่งเป็นเนื้องอกชนิดธรรมดาที่ไม่ใช่มะเร็ง อาการผิดปกติอื่นๆ ได้แก่ มีปัญหาเรื่องการกลืนหรือการอ้าปาก มีอาการชาหรือเจ็บปวดบริเวณใบหน้า กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง แต่ทั้งหมดพบได้น้อยกว่าเรื่องก้อน

                    
การรักษาหลักของโรคมะเร็งต่อมน้ำลายหนีไม่พ้นการผ่าตัด
 
ซึ่งเป็นทั้งการวินิจฉัยโรคและการรักษาไปพร้อมกัน คือทำผ่าตัดเอาต่อมน้ำลายส่วนที่มีก้อนเนื้องอกออก แต่อาจจะมีการตัดต่อมน้ำลายส่วนที่เหลือออกหรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคอออกทั้งหมดร่วมด้วยหรือไม่นั้น ขึ้นกับชนิดของเซลล์มะเร็งเป็นหลัก บางรายอาจต้องให้การฉายรังสีหรือให้ยาเคมีบำบัดก็ว่ากันเป็นรายๆ ไป
 
ก่อนจากอยากฝากถึงใครหรือกลุ่มใดก็ตามที่มีความขัดแย้งกัน ขอให้ใจเย็นๆ ค่อยๆ พูดค่อยๆ จากันดีกว่า แย่งกันพูดนอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้ว ยังทำให้เสียงแหบเสียงแห้ง เปลืองน้ำลายเปล่าๆ นะครับ...ขอบอก

------------------------------

(รู้ทันมะเร็ง : เมื่อต่อมน้ำลายกลายเป็นมะเร็ง : โดย...นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ)


เครดิต :
ขอขอบคุณเนื้อหาข่าว คุณภาพดี โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึก

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์