ดอกเข้าพรรษา ดอกไม้สำคัญในวันเข้าพรรษา


ดอกเข้าพรรษา
ดอกไม้สำคัญใน
วันเข้าพรรษา

ดอกเข้าพรรษามีความสำคัญอย่างไรต่อวันเข้าพรรษา ?


วันเข้าพรรษามีความเป็นมาโดยย่ออย่างไร ?

ดอกเข้าพรรษาเกี่ยวข้องได้อย่างไร?

เมื่อเข้าสู่ฤดูฝน ก็เป็นนิมิตหมายว่ากำลังเข้าสู่เทศกาลเข้าพรรษา ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้พระภิกษุสงฆ์จำพรรษาในช่วงหน้าฝนเป็นเวลา 3 เดือน คือ ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนกระทั่งขึ้น 15ค่ำเดือน 11 ช่วง 3 เดือนนี้ พระภิกษุสงฆ์จะอยู่อาวาสเดียวตลอด 3 เดือน ไม่จาริกไปในที่ต่างๆ

เทศกาลมหากุศลนี้พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้ทำทาน รักษาศีล ปฏิบัติธรรมได้ไปวัด ตักบาตร ถวายภัตตาหารและไทยธรรมต่างๆ บ้างก็ได้ตั้งใจ ตั้งความปรารถนาที่จะทำความดีสักอย่างให้สำเร็จยิ่งยวด เช่น โครงการงดเหล้าเข้าพรรษา โครงการรักธรรมะกับองค์พระภายใน ชมรมหยุดใจ เป็นต้น เป็นการเพิ่มบุญเติมบารมีให้กับตนเองและหมู่คณะ และมีประเพณีโบราณอีกอันหนึ่ง ซึ่งได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยก็ได้ใช้เป็นโอกาสในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแนว สร้างบุญกุศล ประเพณีนั้นก็คือ การตักบาตรดอกไม้

ดอกเข้าพรรษา ดอกไม้สำคัญในวันเข้าพรรษา


ดอกเข้าพรรษา
ประเพณีการตักบาตรดอกไม้ด้วยดอกเข้าพรรษาของชาวสระบุรี

ที่มาของการตักบาตรดอกไม้ด้วยดอกเข้าพรรษา

การตักบาตรดอกไม้เดิมทีเดียวได้มีเรื่องราวในสมัยพุทธกาลของนายสุมนมาลาการที่ได้ถวายดอกมะลิ แด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เรื่องราวมีอยู่ว่า

* ใน กรุงราชคฤห์ มีช่างจัดดอกไม้คนหนึ่ง ชื่อ "สุมนะ" ทุกๆ เช้า เขาจะนำดอกมะลิ 8 ทะนาน ไปถวายพระเจ้าพิมพิสาร และจะได้ทรัพย์มาเป็นค่าดอกไม้วันละ 8 กหาปณะเป็นประจำ วันหนึ่ง ขณะที่เขาถือดอกไม้จะนำไปถวายพระราชา พระบรมศาสดาเสด็จมาบิณฑบาตพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์จำนวนมาก พระพุทธองค์ทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีออกจากพระวรกาย นายสุมนะเห็นแล้วเกิดความเลื่อมใสศรัทธามาก อยากจะถวายดอกมะลิทั้ง 8 ทะนาน ที่ถืออยู่ในมือ เพื่อเป็นพุทธบูชา

เขาคิดว่า "ถ้าหากพระราชาไม่ได้รับดอกไม้เหล่านี้ในวันนี้ เราอาจจะถูกประหาร หรือถูกเนรเทศออกจากแว่นแคว้นก็ได้ แต่ก็ช่างเถอะ เพราะถึงพระราชาจะทรงอนุเคราะห์เรา ด้วยการพระราชทานทรัพย์เป็นค่าดอกไม้ ก็คงพอเลี้ยงชีวิตได้แค่ในภพชาตินี้เท่านั้น แต่การบูชาพระบรมศาสดาด้วยดอกไม้เหล่านี้ จะทำให้เราได้รับความสุขทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"

ดอกเข้าพรรษา ดอกไม้สำคัญในวันเข้าพรรษา


ดอกเข้าพรรษาสีชมพู

เขาคิดอย่างนี้แล้วก็ตัดสินใจสละชีวิต โปรยดอกไม้ทั้ง 8 ทะนาน บูชาพระบรมศาสดาทันที ทันใดนั้น สิ่งอัศจรรย์ก็บังเกิดขึ้น คือ ดอกมะลิทั้ง 8 ทะนาน ไม่ได้ตกถึงพื้นดินเลย ดอกมะลิ 2 ทะนาน ได้กลายเป็นเพดานดอกไม้ แผ่อยู่เหนือพระเศียรของพระบรมศาสดา อีก 2 ทะนาน แผ่เป็นกำแพงดอกไม้ลอยอยู่ข้างขวา และ 2 ทะนานอยู่ข้างซ้าย

ส่วนอีก 2 ทะนาน อยู่ข้างหลัง กำแพงดอกไม้ทั้งหมดนี้ ลอยไปพร้อมกับพระบรมศาสดา เมื่อพระพุทธองค์ทรงพระดำเนิน กำแพงดอกมะลิทั้งหมดก็ลอยตามไป เมื่อประทับยืน กำแพงดอกมะลิก็หยุดอยู่กับที่เหมือนกัน

นายสุมนะเห็นดังนั้น เกิดความปีติปราโมทย์เป็นอย่างยิ่ง แต่เมื่อพระเจ้าพิมพิสารทรงทราบเรื่อง แทนที่จะลงโทษกลับชื่นชมและปูนบำเหน็บรางวัลทำให้นายมาลาการมีชีวิตที่สุขสบายขึ้น เพราะเหตุนี้ ได้มีประเพณีตักบาตรเข้าพรรษาของไทยที่ได้สืบทอดมานาน และเป็นเอกลักษณ์อย่างยิ่งที่อำเภอพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี โดยมีการใช้ดอกไม้ชนิดหนึ่งในการใส่บาตรเรียกว่า ”ดอกเข้าพรรษา” ชื่อเรียกเช่นนี้เรียกกันติดปากของคนในแถบ จ.สระบุรี จนบางท่านไม่รู้ว่าดอกไม้นี้มีชื่อเรียกทั่วไปว่าอะไร

ต้นเข้าพรรษาที่ออกดอกเข้าพรรษ ในท้องถิ่นอื่น ๆ จะนิยมเรียกไม้ชนิดนี้ว่า “หงส์เหิน” ตามลักษณะของรูปร่างของดอก เพราะดอกและเกสรจะมีลักษณะเหมือนตัวหงส์ กำลังจะบิน มีลีลาสง่างาม มีกลีบประดับเรียงตามช่อดอก นอกจากนี้ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น กล้วยจ๊ะก่า (ตาก) กล้วยจ๊ะก่าหลวง (ลำพูน) กล้วยเครือคำ (เชียงใหม่) ก้ามปู (พิษณุโลก) ขมิ้นผี หรือกระทือลิง (ภาคกลาง) ว่านดอกเหลือง (เลย) และดอกเข้าพรรษา (สระบุรี)


ดอกเข้าพรรษา ดอกไม้สำคัญในวันเข้าพรรษา


ดอกเข้าพรรษาสีเหลือง


ดอกเข้าพรรษา มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่าอะไร ?

ดอกเข้าพรรษา เป็นพืชที่อยู่ในวงศ์ขิง อยู่ในสกุล Globba sp. พืชในสกุลนี้แต่ละชนิดจะมีกลีบประดับขนาดใหญ่สีสันสวยงามมีตั้งแต่ขาว ชมพู ม่วง เหลือง ดอกจะบานในช่วงพฤษภาคมจนถึงกรกฎาคม ในประเทศไทยมีรายงานว่าพบพืชในสกุลนี้จำนวน 40 ชนิด แต่ชนิดที่นิยมนำมาใช้ในการตักบาตรเข้าพรรษาคือ ชนิดที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Globba winitii C.H.Wright. ปริศนาอีกประการหนึ่งของดอกเข้าพรรษา คือ ชื่อวิทยาศาสตร์ของพืชชนิดนี้ ตั้งเป็นเกียรติแก่พระยาวินิจวนันดร ซึ่งเป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าพืชชนิดนี้มีถิ่นกำเนิดในประเทศไทย

ดอกเข้าพรรษาเป็นพืชที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในป่าเขตร้อน เป็นไม้พื้นล่างที่พบตามป่าโปร่งทั่วไป พืชชนิดนี้มีลำต้นเป็นหัวอยู่ใต้ดินมีรากสะสมอาหารลักษณะอวบน้ำ คล้ายกระชายเรียงอยู่รอบหัว ส่วนของลำต้นที่อยู่เหนือดินคือส่วนของกาบใบที่อัดกันแน่นทำหน้าที่เป็นต้นเทียมเหนือดิน ใบเป็นใบเดี่ยวลักษณะเรียวยาว รูปใบหอกคล้ายใบกระชาย แต่มีขนาดเล็กกว่าออกเรียงสลับซ้ายขวาเป็นสองแถวในระนาบเดียวกัน ดอกออกเป็นช่อซึ่งแทงออกมาจากยอดของลำต้นเทียม ช่อจะโค้ง และห้อยตัวลงอย่างอ่อนช้อยสวยงาม มีก้านดอกย่อยเรียงอยู่โดยรอบ ประกอบด้วยดอกจริง 1-3 ดอกมีสีเหลืองสดใส แต่จะมีกลีบประดับ (bract)ที่แตกต่างกันหลายรูปทรง และหลายสี


ดอกเข้าพรรษา ดอกไม้สำคัญในวันเข้าพรรษา


ดอกเข้าพรรษาสีขาว


ดอกเข้าพรรษาชนิด Globba winitii C.H.Wright. จะมีกลีบประดับขนาดใหญ่เรียงตัวกันอย่างเป็นระเบียบสวยงามตามช่อ โดยรอบจากโคนถึงปลาย

ดอกเข้าพรรษามีกี่สี ?

สีของกลีบประดับที่พบมีหลายสี ได้แก่ สีขาว สีม่วง สีเขียว และสีแดง มีก้านดอกย่อยยาวชูดอกออกมาเห็นชัดเจน

รูปดอกเข้าพรรษามีลักษณะอย่างไร ?


ดอกจริงมีสีเหลือง ลักษณะคล้ายรูปตัวหงส์ยืนกำลังจะเหินบิน มีลีลาสง่างามทำให้ช่อดอกมีสีสันสวยงามมากขึ้น ช่อดอกยาวประมาณ 10 - 20 ซม.

ดอกเข้าพรรษา ดอกไม้สำคัญในวันเข้าพรรษา


การกระจายพันธุ์ของดอกเข้าพรรษา


ลักษณะที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของพืชชนิดนี้คือมีการกระจายพันธุ์ตามธรรมชาติโดยสัตว์ตัวเล็กๆ คือ มด เมล็ดของพืชชนิดนี้มีเมือกที่มีลิปิด (ไขมันชนิดหนึ่ง) แป้งและโปรตีนสูงเกาะติดอยู่เรียกว่า “อีไลโอโซม” (elaiosome) ซึ่งเป็นสารดึงดูดให้มดมาขนไปเก็บไว้ในรัง จากการศึกษาพบว่ามีมดไม่น้อยกว่า 21 ชนิดที่ชอบขนเมล็ดของพืขในกลุ่มดอกเข้าพรรษาไปเก็บไว้ในรัง แต่ยังไม่มีการศึกษาใดที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์นี้ ในการการศึกษายังพบว่า มดสามารถขนเมล็ดของพืชในกลุ่มเข้าพรรษาไปได้ไกลกว่า 8 เมตร จากต้นแม่

การใช้ประโยชน์ของดอกเข้าพรรษาเกี่ยวกับทางยาค่อนข้างน้อย อาจพบได้บ้างคือ นิยมนำมาใช้เป็นส่วนผสมของยาสระผม สบู่ที่ใช้ในการรักษาอาการคันตามผิวหนังและทำให้หน้าขาว แต่ถ้าถือโอกาสเทศกาลบุญ คือ การชำระล้างจิตใจที่ขุ่นข้องหมองมัวเต็มไปด้วยกิเลส ก็สามารถที่จะนำดอกเข้าพรรษามาตักบาตรดอกไม้ ยังจิตใจให้งดงาม สดชื่น ผ่องใส เรามาช่วยกันขยายใจและขยายพันธุ์ดอกเข้าพรรษาให้แผ่ขยายไปทั่วโลกได้ งานตักบาตรดอกไม้ของปีนี้จัดขึ้นใน วันพุธที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2555 เวลา 06.00 - 8.00 น. ณ บริเวณถนนสายคู่ หน้าพระมณฑปฯ วัดพระพุทธบาท สระบุรี

*มก. เล่ม 41 หน้า 104

ขอบคุณข้อมูลจาก  www.dmc.tv

เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์