เงาสะท้อนภัยกระต่าย พิษเชื้อร้าย! ใหม่หรือเก่าก็ต้องกลัว

เงาสะท้อนภัยกระต่าย พิษเชื้อร้าย! ใหม่หรือเก่าก็ต้องกลัว

"ไม่ได้มีเฉพาะสุนัขและแมวเท่านั้น สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทุกชนิดก็สามารถพบเชื้อได้เช่นกัน" นี่เป็นส่วนหนึ่งจากการระบุของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กับกรณี 'เชื้อพิษสุนัขบ้า" กรณีที่มีข่าว 'กระต่ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้ากัดคน!" โดยที่กรณีนี้มีการกลัวกันว่าเชื้อพิษสุนัขบ้าในกระต่ายอาจจะเป็น "เชื้อใหม่กลายพันธุ์?" ที่รุนแรงกว่าเชื้อโดยทั่วไป

แต่ไม่ว่าจะเป็นเชื้อใหม่หรือเชื้อเก่ามันก็ร้าย "และกรณีนี้ก็ถือว่าเป็นอีก'เงาสะท้อนที่น่าคิด"

ทั้งนี้ ว่ากันถึง 'เชื้อร้าย-เชื้อโรค" ที่ติดต่อได้ในภาพรวม ทั้งที่แพร่ระบาดสู่คนได้จากสัตว์และพาหะอื่น ๆ กับการเป็น 'เชื้อเก่าเชื้อใหม่" ก็มีคำเกี่ยวโยงกับเรื่องนี้อยู่คือ 'โรคติดเชื้ออุบัติซ้ำ-โรคติดเชื้ออุบัติใหม่" ซึ่งวงการแพทย์ทั่วโลก-ผู้คนทั่วโลก ต่างก็กลัว "เชื้อใหม่-อุบัติใหม่" กันมาก อย่างกรณีที่กลัวกันว่าเชื้อพิษสุนัขบ้าในกระต่ายจะเป็นเชื้อใหม่กลายพันธุ์ที่รุนแรงกว่าเชื้อพิษสุนัขบ้าเดิม ๆ นี่ก็ยืนยันถึงประเด็นนี้ได้อย่างดี

หากจะโฟกัสกันที่ "เชื้ออุบัติใหม่-โรคอุบัติใหม่" ตามที่ทางองค์การอนามัยโลกได้เคยนิยามไว้ ก็จะหมายถึง โรคติดต่อ-โรคติดเชื้อชนิดใหม่ ๆ ที่มีรายงานผู้ป่วยเพิ่มขึ้นในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา รวมถึงโรคที่เกิดขึ้นใหม่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง หรือโรคที่เพิ่งจะแพร่ระบาดเข้าไปสู่อีกพื้นที่หนึ่ง และยังรวมถึงโรคติดเชื้อที่เคยควบคุมได้แล้วด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ภายหลังเกิดการ "ดื้อยา" ซึ่งโดยสรุปก็มีจัดกลุ่มโรคติดต่ออุบัติใหม่ไว้ 5 กลุ่มคือ

1.โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อใหม่ เช่น ซาร์ส ไข้หวัดนก ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไข้สมองอักเสบนิปาห์ไวรัส
2. โรคติดต่อที่พบในพื้นที่ใหม่ โรคที่ไปจากประเทศหนึ่งสู่อีกประเทศหนึ่ง หรือข้ามทวีป เช่น โรคเวสต์ไนล์ไวรัส
3. โรคติดต่ออุบัติซ้ำ โรคที่เคยระบาดในอดีตและสงบไปนานแล้ว แต่กลับมาระบาดอีก เช่น ไข้ชิคุนกุนยา
4. โรคที่เชื้อดื้อยา เช่น วัณโรคดื้อยา 5. โรคจากอาวุธชีวภาพ การใช้เชื้อโรคเป็นอาวุธ เช่น แอนแทรกซ์ ไข้ทรพิษ

ประเทศไทยก็สุ่มเสี่ยงเกี่ยวกับเชื้อโรคอุบัติใหม่ สุ่มเสี่ยงโดยครอบคลุม 3 ปัจจัยที่ไม่อาจละเลย

แนวโน้มโรคอุบัติใหม่ในไทย มี 3 กลุ่มใหญ่ๆ คือ 1. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่พบในประเทศ อาทิ ไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ไข้หวัดนก ลีเจียนเนลโลซิส มือ-เท้า-ปาก 2. โรคติดต่ออุบัติใหม่ที่อาจแพร่มาจากต่างประเทศ เช่น ไข้สมองอักเสบนิปาห์ ไข้สมองอักเสบเวสต์ไนล์ สมองฝ่อแบบใหม่ที่เกิดจากโรคสมองฝ่อในวัวหรือโรควัวบ้า ไข้เลือดออกอีโบลา ไข้เลือดออกมาร์บวร์ก ฝีดาษลิง แอนแทรกซ์ไข้ทรพิษ กาฬโรค 3. โรคติดต่ออุบัติซ้ำที่พบในประเทศ เช่น กาฬหลังแอ่นจากเชื้อสายพันธุ์ใหม่ ที่อาจจะเข้ามากับแรงงานต่างด้าว ตาแดงจากเชื้อไวรัส

เชื้ออุบัติใหม่-โรคอุบัติใหม่ ส่วนใหญ่จะมีธรรมชาติที่ซับซ้อน "ยากต่อการจัดการ" หากขาดระบบและขาดเครื่องมือในการป้องกันควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ จะ "ก่อเกิดความสูญเสียรุนแรง"ต่อชีวิตและสุขภาพประชาชน จะสร้างภาระมากมาย สร้างผลกระทบที่รุนแรงต่อสังคม และเศรษฐกิจ อย่างมหาศาล

เพื่อป้องกันความสูญเสียรุนแรงที่อาจจะเกิดขึ้น ก็ต้องมีความพร้อมใน 6 มาตรการคือ 1. การพัฒนาเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคติดต่ออุบัติใหม่-อุบัติซ้ำ 2. การจัดทำมาตรฐานแนวทางป้องกันและควบคุม 3. การสนับสนุนการวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยีการควบคุมป้องกัน 4. การพัฒนาศักยภาพบุคลากรสาธารณสุข 5. การสนับสนุนเสริมสร้างความเข้มแข็งของทีมเฝ้าระวังสอบสวนและควบคุมโรคเคลื่อนที่เร็วทุกระดับทั่วประเทศ และ 6. การถ่ายทอดความรู้และข้อมูลข่าวสารโรคติดต่ออุบัติใหม่อุบัติซ้ำ

มาตรการป้องกันนี้ก็มีส่วนที่มุ่งเน้นที่ประชาชน

ประชาชนเป็นได้ทั้งต้นเหตุ-เหยื่อ-กลไกป้องกัน

ทั้งนี้ การเกิดเชื้อโรคใหม่ โรคติดต่อจากสัตว์ที่ไม่เคยพบมาก่อน มีสาเหตุจากหลายปัจจัย ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อโรคเอง, การใช้ยาไม่ถูกต้องจนเกิดการดื้อยา, การเปลี่ยนแปลงด้านประชากรและพฤติกรรมมนุษย์, การพัฒนาอุตสาหกรรม, การเปลี่ยนแปลงทางนิเวศวิทยาของสัตว์นำโรคและสิ่งแวดล้อม

ธรรมชาติของโรคติดต่ออุบัติใหม่คือ มักไม่สามารถคาดการณ์ขนาดปัญหาและช่วงเวลาเกิดโรคได้ ซึ่งส่งผลเสียต่อการเตรียมความพร้อมและประสิทธิภาพในการรับมือ นี่คือประเด็นสำคัญที่น่ากลัว!! อย่างไรก็ตาม ก็มิได้หมายความว่าต้องกลัวเฉพาะเชื้อโรคชนิดใหม่ เชื้อใหม่กลายพันธุ์ โรคอุบัติใหม่ กับ เชื้อเดิมๆ โรคเก่าๆ ก็จำเป็นต้องกลัว! ซึ่งในที่นี้ก็ รวมถึงกรณี'พิษสุนัขบ้า"ที่ก็'รุนแรงถึงตายได้" ไม่ว่าจะโดยพาหะที่เป็นสุนัข แมว สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดใดๆ รวมถึงโดยพาหะที่เป็น'กระต่าย"ที่น่ารัก!

กระต่ายติดเชื้อพิษสุนัขบ้านี่คืออีกเงาสะท้อน สะท้อนเตือนคนไทยว่าจะต้องระวังเชื้อร้าย จะเชื้อใหม่-เชื้อเก่า-พาหะอะไรก็ต้องกลัว!


ขอบคุณ thaihealth.or.th


เครดิต :
 

ข่าวดารา ข่าวในกระแส บน Facebook อัพเดตไว เร็วทันใจ คลิกที่นี่!!
กระทู้เด็ดน่าแชร์