คอลัมน์ เมืองไทย25น. ทวี มีเงิน ข่าวสด 11 ส.ค. 2555
ขอนำเรื่อง"คนธรรมดาที่ไม่ธรรมดา" จากเด็กบ้านนอก จนมาเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ร้านบะหมี่ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ผมกำลังพูดถึง"พันธุ์รบ กำลา"เด็กบ้านนอกจากร้อยเอ็ดฐานะยากจนจบป.4 อายุ 12 ขวบต้องหอบกระเป๋าเข้ากรุงเทพฯทำงานโรงกลึง เป็นเด็กทำงานบ้าน กระทั่งไปเกณฑ์ทหารไม่น่าเชื่อว่าชีวิตทหารเกณฑ์ได้"จุดประกายความคิด ธุรกิจ" ให้เขา จากเงินเดือน 300 บาท เบี้ยเลี้ยงวันละ 8 บาท รวมทั้งเดือน 580 บาท เขาปล่อยกู้ให้เพื่อนยืม 80 บาทแต่ต้องคืน 100 บาททุก 10 วันต้องคืนให้ครบ ใน 1 เดือนเงินหมุน 3 รอบช่วงนั้นจึงมีเงินเก็บ 4-5 หมื่นบาท
ชีวิตเปลี่ยนตอนที่น้องชายมีอาชีพขับรถส่งลูกชิ้นโกฮับชวน ขายก๋วยเตี๋ยวรายได้ 7 พันบาทต่อคืน ตกเดือนละ 2 แสนกว่าบาท เขาบอกว่าเคล็ดลับอยู่ที่"ทำเล" แต่ที่สำคัญต้องสะอาด รู้จักการเทกแคร์ การพูดจา และรสชาติ ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ
แต่รายได้ ขนาดนี้ก็ยังสู้น้องชายอีกคนที่ขายบะหมี่เกี๊ยวไม่ได้ จึงอยากมาขายเมื่อติดต่อเถ้าแก่กลับโดนปฏิเสธอ้างว่าไม่มีรถไปส่งบะหมี่ให้ เขาจึงใช้น้องชายเป็นทางผ่านรับบะหมี่ หลังจากนั้นเขาขับรถจากปทุมฯมารับบะหมี่จากน้องชายที่รังสิตอีกต่อหนึ่ง ทำให้ฝังใจว่าถ้าเขาทำเอง"เขาจะส่งบะหมี่ไปทั่วเมืองไทย"
เขาคิดว่า สักวันต้องเป็นเถ้าแก่ ที่สำคัญบะหมี่ที่เขาทำจะต้องดีที่สุด จึงมุมานะศึกษาหาความรู้ เก็บข้อมูลการทำบะหมี่แล้วให้ลูกค้าทดลองกิน คอยถามลูกค้าตลอดว่าเป็นอย่างไรแล้วมาปรับปรุงจนถูกใจ
1 ปีแรกเขารวบรวมเงินได้ 2 แสนบาทตัดสินใจซื้อรถขับกลับบ้านเกิดคนในหมู่บ้านฮือฮากันใหญ่ ถามไปทำอะไรมาถึงรวย เขาบอกว่า"ขายบะหมี่" ทำให้บอกต่อๆ กันและรับบะหมี่จากพันธุ์รบไปขาย เขาไม่ใช่แค่ผลิตและขายแล้วจบ แต่เขายังเซอร์วิสด้วยการหาทำเล หาบ้านเช่าให้ สอนอบหมูแดง ลวกบะหมี่ จ่ายตลาด ครบวงจรลูกค้าบอกต่อกันเรื่อยๆ นี่คือ กลยุทธ์การตลาดที่ฮาร์วาร์ดไม่ได้สอน
เมื่อทุกอย่างลงตัวเขาคิดว่า ต้องมี"แบรนด์" ของตัวเองในที่สุดมาลงตัวที่"ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว" โดยไม่ตั้งใจสื่อความหมายอะไรแต่มีหลักว่า"คนเห็นต้องสะดุดตา จำชื่อได้" คำนวณจากรถเข็นแล้วไม่ควรเกิน 4 พยางค์ สุดท้ายมาจบที่"ชายสี่" เพราะสอดคล้องกับคำว่า"บะหมี่เกี๊ยว" ไม่เจตนาให้พ้องกับพี่น้องผู้ชาย 4 คนแม้แต่น้อย
นี่แหละตัวตนและ "ปริศนา"ชายสี่บะหมี่เกี๊ยว