
เมื่อพูดถึงโรคไวรัสตับอักเสบ หลายคนมักจะนึกถึงชนิดเอ ซึ่งติดต่อจากการรับประทานอาหารร่วมกับผู้ป่วยเป็นหลัก และอีกชนิดคือไวรัสตับอักเสบบี ที่ติดต่อได้หลายวิธีทั้งจากมารดาสู่ทารกขณะคลอด เพศสัมพันธ์ การใช้ของมีคมร่วมกันแล้วเกิดบาดแผล แต่ไวรัสทั้งสองชนิดนี้มีวัคซีนป้องกัน ส่งผลให้อุบัติการณ์ของโรคลดลงต่อเนื่อง
ทว่าที่น่าห่วงนั้น รองศาสตราจารย์นายแพทย์ธีระ พิรัชวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรคตับแห่งประเทศไทย และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคตับ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ชี้ว่าคือ ไวรัสตับอักเสบซี เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนป้องกัน จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี แถมคนทั่วโลกป่วยแบบเรื้อรังหรือหกเดือนไม่หายราว 170 ล้านคน แต่ละปีจึงมีคนทั่วโลกต้องเสียชีวิตเพราะไวรัสตับซีประมาณ 3-3.5 แสนราย
เมื่อยังป้องกันไม่ได้ รศ.นพ.ธีระ จึงให้ความรู้เกี่ยวกับไวรัสตับอักเสบซีว่า แบ่งออกเป็น 6 สายพันธุ์ ในประเทศไทยส่วนใหญ่พบสายพันธุ์ 2 และ 3 ซึ่งรักษาง่ายกว่าสายพันธุ์อื่น โดยติดต่อทางเลือด ไม่ว่าจะเป็นการใช้เข็มหรือของมีคมร่วมกัน เช่น การใช้เข็มฉีดยาของผู้ที่ติดยาเสพติด การใช้เข็มฉีดยาซ้ำของหมอเถื่อน การใช้เข็มสักหรือเจาะผิวหนัง การสักคิ้ว ทำเล็บ จากผู้ประกอบการที่ไม่ใส่ใจเรื่องความสะอาดปลอดภัย นอกจากนี้ยังอาจติดต่อได้จากการมีพฤติกรรมสำส่อนทางเพศ การร่วมเพศทางทวารหนัก ขณะที่การติดเชื้อไวรัสจากการบริจาคเลือดนั้นไม่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากตั้งแต่ปี พ.ศ.2533 เป็นต้นมา มีการคัดกรองเลือดเป็นอย่างดี
ใครก็ตามที่ติดเชื้อไวรัสตับซีเข้าไปแล้ว มักไม่ค่อยรู้ตัว จนกระทั่งตับอักเสบหนัก อาการรุนแรง!? รศ.นพ.ธีระ ระบุว่า ที่เป็นเช่นนั้น เพราะการได้รับเชื้อส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ หรืออาจมีอาการแต่ผู้ป่วยก็จะไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อ เนื่องจากอาการจะมีแค่ไข้ต่ำๆ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน ขณะที่ผู้ติดเชื้อบางรายมีอาการรุนแรงแสดงออกมา เช่น ปวดท้อง ปัสสาวะสีเข้ม ตัวเหลือง ตาเหลือง ปวดตามกล้ามเนื้อและข้อต่อ สมาธิสั้น เกิดความวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้า ส่วนการจะตรวจว่าติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีหรือไม่นั้น เบื้องต้นต้องตรวจเลือด ดังนั้น ผู้ที่ตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดเป็นประจำทุกปี จะช่วยเฝ้าระวังโรคได้ดีวิธีหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องร้ายก็ยังมีสิ่งดีซ่อนอยู่ สำหรับโรคไวรัสตับซีนี้ รศ.นพ.ธีระ บอกว่า แม้ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน แต่ก็เป็นเชื้อไวรัสตัวเดียวที่สามารถรักษาให้หาขาดได้ ด้วยยาฉีดที่ต้องฉีดสัปดาห์ละครั้ง นอกจากนี้ยังต้องใช้ยากินร่วมด้วย ระยะเวลาในการรักษาราว 24-48 สัปดาห์ โดยปริมาณยาที่ใช้จะขึ้นอยู่กับน้ำหนักตัวของผู้ป่วยด้วย ทั้งนี้จุดประสงค์ของการรักษาคือ ลดการอักเสบของตับและให้ตับกลับคืนสู่สภาวะปกติ
ในบ้านเรามีคนดังคนหนึ่ง อย่าง คุณปิยะมาศ โมนยะกุล นักแสดงรุ่นเก๋า ก็เคยผ่านประสบการณ์การรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีและทำให้ผู้คนรู้จักโรคนี้มากขึ้น โดยเจ้าตัวเล่าว่าไม่เคยรู้ตัวว่าเป็นไวรัสตับอักเสบซี จนกระทั่งอาการหนักมาก รู้สึกเพลียและไม่มีแรง ประกอบกับท้องอืด ท้องเฟ้อหนักขึ้นจนต้องไปพบแพทย์ตรวจจึงรู้
ช่วงที่รักษาตัว ชีวิตเปลี่ยนไปมาก เพราะผลข้างเคียงของการใช้ยารักษามีหลายอย่างที่ทำให้รู้สึกท้อแท้ กังวล เช่น จะมีไข้อยู่ที่อุณหภูมิ 38-39 องศาเซลเซียส ปวดเมื่อย เพลีย เบื่ออาหาร ซึมเศร้า หงุดหงิด ผิวหนังแห้ง ผมร่วง แต่เพราะอยากหายจึงต้องอดทน กระทั่งใช้เวลาเป็นปีจึงหาย จึงอยากแนะนำให้ทุกคนเฝ้าระวังโรคนี้ให้ดี เพราะค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และผลข้างเคียงในช่วงที่ใช้ยาในการรักษาค่อนข้างหนักทีเดียว
นอกจากประสบการณ์ที่เคยผ่านความทุกข์ในช่วงการรักษาของคุณปิยะมาศ แล้ว รศ.นพ.ธีระ กล่าวเสริมถึงอาการข้างเคียงจากการใช้ยารักษาว่า อาจทำให้คนไข้บางรายมีอาการไอ ผื่นขึ้นตามตัว และตัวซีดเพราะเม็ดเลือดแดงแตก ยิ่งถ้าผู้ป่วยมีอาการตับแข็งร่วมด้วย อาการข้างเคียงจะยิ่งมากขึ้นอีก แต่อย่างไรก็ตาม แพทย์อาจพิจารณาให้ยากดผลข้างเคียงไว้ได้บ้าง
ถ้าป่วยแล้วรุนแรงถึงเพียงนี้ รู้รักษาตัวรอดจากโรคไวรัสตับอักเสบซีไว้ดีที่สุด.
Love illusion ความรักลวงตา เพลงที่เข้ากับสังคมonline
Love illusion Version 2คนฟังเยอะ จนต้องมี Version2กันทีเดียว
Smiling to your birthday เพลงเพราะๆ ไว้ส่งอวยพรวันเกิด หรือร้องแทน happybirthday